×

ตัน มอง ‘กัญชง’ คือโอกาสทองครั้งใหม่ของอิชิตัน มั่นใจเป็นรายแรกๆ ที่ส่งสินค้าลงสู่สังเวียนแน่นอน

17.03.2021
  • LOADING...
ตัน มอง ‘กัญชง’ คือโอกาสทองครั้งใหม่ของอิชิตัน มั่นใจเป็นรายแรกๆ ที่ส่งสินค้าลงสู่สังเวียนแน่นอน

ช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทได้ให้ความสนใจกับข่าวที่มีการ ‘ปลดล็อกกัญชง’ ซึ่งผู้ที่ได้อานิสงส์จากข่าวนี้มีทั้งผู้ที่อยู่ต้นน้ำคือการปลูก กลางน้ำเป็นการสกัดและการกลั่น สุดท้ายปลายน้ำเป็นการนำมาพัฒนาเป็นสินค้า โดยหนึ่งในบริษัทที่น่าจับตามองคือ ‘อิชิตัน’ ที่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะลุยตลาดนี้อย่างจริงจัง

 

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการบริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI กล่าวในการให้สัมภาษณ์รายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ทุกวงการสนใจที่จะนำกัญชงไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ยา แม้กระทั่งร้านอาหาร แต่ในส่วนของเครื่องดื่มนั้นอาจได้เปรียบอยู่บ้างเนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด 

 

“ทุกบริษัทที่มีความพร้อม มาแน่ๆ เพราะมีกระแสความต้องการอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคเชื่อว่ากัญชงหรือกัญชามีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือสามารถรักษาโรคได้”

 

แม่ทัพอิชิตันเชื่อว่าสินค้าจากกัญชงจะเป็นสินค้าที่ทำตลาดได้ไม่ยากมาก ถ้าเป็นสินค้าชนิดอื่นจะใช้เวลาทำตลาดนาน แต่สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ผู้บริโภครู้จักกันอยู่แล้ว จึงตื่นตัวและอยากมีส่วนร่วมในการทดลองสินค้า

 

สำหรับอิชิตันนั้นได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ตันระบุว่า อิชิตันมีความโชคดีตรงที่โรงงานผลิตชาเขียว มีวิธีการผลิตเดียวกัน สินค้ากลุ่มกัญชงหรือสินค้าอื่นๆ จึงผลิตได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันโรงงานของอิชิตันได้กำลังการผลิตที่ 55% ส่วนที่เหลืออยู่นั้นเป็นส่วนที่จ่ายค่าเสื่อมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีความพร้อมจะผลิตสินค้าเกี่ยวกับกัญชง ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือรับจ้างผลิต ซึ่งตอนนี้ได้มีบริษัทอื่นๆ ได้ติดต่อเข้ามาเช่นกัน ซึ่งอิชิตันไม่ได้มีความเสี่ยงและต้องลงทุนเพิ่มเติมอยู่แล้ว

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อิชิตันระบุว่า จะมีการเปิดตัวเครื่องดื่มชนิดใหม่ภายใต้แบรนด์ ‘อิชิตัน กรีน แลป’ เครื่องดื่มเทอร์พีนที่มีลักษณะเด่นพิเศษช่วยในเรื่องการผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด โดยจะวางจำหน่ายในเดือนเมษายนนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ลูกค้าคุ้นเคยกับแบรนด์

 

“กรีน แลป จะมีกลิ่น รสชาติ และคุณสมบัติคล้ายๆ กับกัญชง ที่จะออกมาในอนาคต หลังจากที่สาธารณสุขประกาศให้ผลิตได้แล้ว ฉะนั้นตอนนี้เราพร้อมทุกทาง ทุกด้าน ซึ่งนี่อาจจะเป็นโอกาสทองอีกครั้งหนึ่งของเรา”

 

ตันมองว่าใครเข้าได้เร็วจะได้เปรียบมากกว่า ในแง่ของหลังบ้านของอิชิตันนั้นครบหมดแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของ R&D ที่ได้เตรียมรสชาติไว้หมดแล้ว สำหรับสินค้าที่มาจากกัญชงจริงๆ อิชิตันก็เชื่อว่าจะสามารถออกสินค้าเป็นกลุ่มแรกๆ ได้ เนื่องจากเป็นพันธมิตรกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกและสกัดได้

 

อย่างไรก็ตาม ตันย้ำว่าอิชิตันจะทำเฉพาะปลายน้ำในการนำสารสกัดมาผลิตสินค้า โดยจะไม่ลงทุนทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะว่าไม่ถนัด อีกอย่างอิชิตันมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ลงทุนทำครบวงจร ด้วยทุกอย่างมีทั้งกำไรและความเสี่ยง ดังนั้นธุรกิจของอิชิตันจะไม่ทำต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น จะไม่ทำธุรกิจพลาสติก เป่าขวด กระดาษ ขนส่ง อิชิตันใช้ Outsource หมด เพราะต้องการตัวเบา เนื่องจากตอนนี้ธุรกิจมีความเสี่ยงมาก และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลงทุนหลาอย่างเกินไปมีความเสี่ยง จึงเฉพาะในสิ่งที่ถนัด 

 

ในแง่ของการแข่งขันนั้น ตันมองว่าช่วงแรกจะเป็นโอกาสทองสำหรับทุกคน ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานสกัด หรือโรงงานผลิต เนื่องจากช่วงแรกกำลังผลิตจะไม่ได้เยอะมาก จึงเป็นช่วงเวลาทองที่มีอำนาจในการตั้งราคาของทุกคนเลย ดังนั้นจึงจะได้กำไรอย่างเต็มที่ แต่นับไป 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า รายอื่นๆ ที่พร้อมจะปลูก สกัด หรือเครื่องจักรมาแล้ว ราคาก็จะลดลง อันนี้เป็นปกติของการแข่งขัน

 

“สำหรับกัญงหรือกัญชา แม้จะดูเหมือเสรี แต่จริงๆ ไม่ได้เสรี เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของสาธารณสุข ไม่ใช่ใครก็ปลูกได้ ใครก็สกัดใครก็ผลิตได้ หากยังไม่มีเครื่องมือที่พร้อมก็ยังไม่สามารถทำได้ จึงเชื่อว่าตลาดจะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีกระบวนการที่ถูกควบคุมอยู่”

 

สำหรับผลประกอบการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อิชิตันก็เป็นรายหนึ่งที่ได้กระทบเช่นเดียวกัน แต่ตันระบุว่าอิชิตันโชคดีอยู่นิดหนึ่ง เพราะยอดขายนั้นกระทบในกลุ่มโมเดิร์นเทรด แต่ไปขายดีที่โชห่วย ยอดของอิติชันช่วงที่มีโควิด-19 ยอดตกก็จริง (ปี 2563 อิชิตันระบุว่ามีรายได้จากการขาย 5,099.3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งทำได้ 5,334.2 ล้านบาท) แต่กำไรกลับกันเพิ่มขึ้นเพราะยอดขายที่ดีขึ้นในโชห่วย ซึ่งทำกำไรได้ดีกว่ามากจากขนาด 10 บาทที่วางขายอยู่

 

ดังนั้นปีที่ผ่านมาอิชิตันจึงมีกำไร 515.5 ล้านบาท เติบโต 26.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 407.5 ล้านบาท สำหรับในปี 2563 ก็น่าจะมีกำไรที่เพิ่มขึ้น จากทั้งน้ำวิตามินซี นอกจากนี้ยังได้ OEM ซึ่งเป็นตัวที่ทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง โดยอิชิตันเพิ่งได้รับ OEM มาจาก ‘อาซาฮี’ สำหรับส่งสินค้าไปขายที่ฟิลิปปินส์ ส่วนในเมืองไทยได้บริษัทยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งบริษัท มาจ้างผลิตน้ำวิตามินซี และกัญชงในอนาคตด้วย

 

“OEM เป็นสิ่งที่ในสมัยก่อนอิชิตันไม่ได้ ถามว่าออกมาแข่งกับอิชิตันไหม แน่นอนก็ต้องแข่ง แต่ไม่มีปัญหา เพราะว่าเราขายเองก็ได้กำไร เขาขายเราก็ได้กำไร เพราะกำลังการผลิตเราเหลือๆ โดยไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องจักร จึงไม่มีความเสี่ยง กลับกัน OEM ได้กำไรสุทธิแน่นอน ไม่เหมือนสินค้าของตัวเองที่ได้น้อยลงเพราะมีค่าการตลาดและโฆษณา ทั้งนี้ความเสี่ยงของ OEM มีแค่ผู้ว่าจ้างหากขายดีมากๆ อาจตัดสินใจไปลงทุนทำเองหรือว่าไปจ้างคนอื่นทำในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงของ OEM ทุกรายอยู่แล้ว” ตัน กล่าว

 

ก่อนหน้านี้อิชิตันได้เปิดเผยว่า ในปี 2564 ได้วางเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 6,200 ล้านบาท หรือโต 22% ซึ่งมาจากทั้งเทรนด์การเติบโตของตลาดเครื่องดื่มวิตามินและแผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าเดิม รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกัญชงด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising