×

IBM โชว์ผลศึกษาพบ ‘ผู้บริโภค-นักลงทุน-ทาเลนต์’ ให้ความสำคัญกับแบรนด์และองค์กรที่ใส่ใจความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

22.04.2022
  • LOADING...
สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

IBM เปิดเผยผลการศึกษาผู้บริโภคทั่วโลกล่าสุด โดยมากกว่าครึ่ง (51%) ของผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่าวันนี้ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อตนมากขึ้นเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา ดังสะท้อนให้เห็นผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของ การตัดสินใจเลือกของใช้ในบ้าน การลงทุน การเลือกบริษัทที่จะทำงานด้วย หรือแม้แต่การตัดสินใจที่เกี่ยวกับการเดินทาง 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่สำรวจมองว่าตนยังต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เพื่อให้การตัดสินใจของตนเป็นไปอย่างยั่งยืนที่สุด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ส่วนหนึ่งของผลการศึกษาที่น่าสนใจ มีดังนี้

 

ผู้บริโภคช้อปปิ้งอย่างมีจุดมุ่งหมาย

  • โดยเฉลี่ยแล้ว 3 ใน 5 ของผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสินค้าที่พวกเขาซื้อ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หรือความรับผิดชอบต่อสังคม
  • 49% ของผู้บริโภคที่สำรวจยอมจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 59% ให้กับแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมหรือความรับผิดชอบต่อสังคม
  • ไม่ใช่แค่กลุ่มคนมีฐานะเท่านั้นที่เต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อความยั่งยืน 4 ใน 10 ของผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้ที่ต่ำกว่า (ต่ำกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยสองในสาม) ก็ยอมจ่ายเพิ่มขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมหรือความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน

 

การสนับสนุนความยั่งยืนในบ้านอาจไม่ง่ายนัก

  • 77% ของผู้บริโภคที่สำรวจแสดงความต้องการที่จะตัดสินใจเลือกอย่างยั่งยืนมากขึ้นที่บ้าน แต่ในหลายๆ กรณี พวกเขาพบว่าการจะทำได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมองว่าองค์กรธุรกิจจะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ อาทิ
    • การเสนอแรงจูงใจส่วนบุคคลมากขึ้น อย่างการให้เงินคืนหรือส่วนลด (43%)
    • การสร้างสรรค์วิธีการมีส่วนร่วมที่แตกต่างและเข้าถึงได้มากขึ้น (41%)
    • การนำเสนอตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกลง (40%)
    • การสร้างความรับรู้เกี่ยวกับตัวเลือกสินค้าที่มีอยู่มากขึ้น (39%)

 

การลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น

  • เกือบ 2 ใน 3 ของนักลงทุนรายย่อยมองว่าความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและความยั่งยืน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อผลการลงทุนของพอร์ตโฟลิโอของตน
  • 62% ของนักลงทุนรายย่อยกล่าวว่า พวกเขาจัดพอร์ตโฟลิโอการลงทุนโดยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 48% ในปี 2564
  • 23% ของกลุ่มที่สำรวจมีการลงทุนในบริษัทที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนในบ้านในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 26% วางแผนที่จะทำเช่นนั้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า
  • ความกังวลเกี่ยวกับตัวเงิน ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (21%) และต้นทุนเมื่อเวลาผ่านไป (9%) เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ของการลงทุนอย่างยั่งยืน แม้กลุ่มที่สำรวจ 7 ใน 10 รายจะระบุว่าปัจจัยอื่นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมก็ตาม โดยเกือบ 2 ใน 5 ระบุว่าพวกเขาไม่มีเวลาพอที่จะค้นคว้าหาข้อมูล และดำเนินการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น (19%) หรือข้อมูลไม่มีความชัดเจน ไม่มีให้ดู หรือไม่มีข้อมูล (18%)

 

ความยั่งยืนอาจเป็นข้อได้เปรียบในการดึงดูดทาเลนต์

  • 2 ใน 3 ของกลุ่มที่สำรวจเต็มใจมากกว่าที่จะสมัครงาน (67%) และตกลงเข้าทำงาน (68%) กับองค์กรที่พวกเขามองว่ามีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
  • อย่างไรก็ดี มีเพียง 21% ของกลุ่มที่สำรวจที่มองว่าองค์กรนายจ้างปัจจุบันของตนให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งนั่นอาจหมายถึงความเสี่ยงที่พนักงานกลุ่มนี้จะลาออกจากงาน
  • 1 ใน 3 ของผู้ที่เปลี่ยนงานในปีที่แล้วยอมรับว่าได้ตกลงเข้าทำงานกับนายจ้างที่พวกเขามองว่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (35%) โดย 1 ใน 4 (25%) ยอมรับข้อเสนอเข้าทำงานในบทบาทที่พวกเขาสามารถมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยตรง 
  • ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ที่เปลี่ยนงานในปีที่แล้ว ระบุว่าพวกเขายอมทำงานที่ได้เงินเดือนต่ำลง เพื่อแลกกับการได้ทำงานในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนหรือมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาได้รับค่าจ้างลดลง 28%

 

การเพิ่มขึ้นของการเดินทางที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค

  • ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่า วันนี้เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องการเดินทาง พวกเขาให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องความสะดวก ราคา และความสบาย 
  • รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเกือบ 4 ใน 10 ของผู้บริโภคที่สำรวจเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวอย่างน้อยเดือนละครั้งในปีที่แล้ว และมากกว่า 1 ใน 3 (35%) ระบุว่าได้หยุดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันหรือเริ่มใช้น้อยลง เนื่องด้วยความกังวลด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม 
  • ผู้บริโภคจำนวนมากพร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยประมาณ 4 ใน 10 ของกลุ่มที่สำรวจที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ระบุว่าความวิตกกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลให้พวกเขาลดหรือเลิกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และเครื่องบินที่ยังใช้พลังงานแบบเดิมในปีที่ผ่านมา 
  • ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ความต้องการรถยนต์และเครื่องบินที่ใช้พลังงานแบบเดิมลดลง 15% และ 14% ตามลำดับ และในกลุ่มที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการแสดงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 23% ในปีที่ผ่านมา

 

“ผลสำรวจในปีนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคทั่วโลกมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลกมากขึ้น ผู้บริโภคที่สำรวจส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะเสียสละเงินและความสะดวกสบายเพื่อปกป้องโลกของเรา ถือได้ว่าสิ่งที่ผู้บริโภคตั้งใจจะทำกับสิ่งที่ได้ทำจริงขยับมาบรรจบกันมากขึ้น” สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าว “การตัดสินใจของผู้บริโภคสามารถสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากให้กับองค์กร และผู้บริโภคก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า หากเป็นไปได้พวกเขาพร้อมเลือกแนวทางที่ยั่งยืน การปูทางสู่เส้นทางการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบที่ชัดเจนและเข้าถึงได้มากขึ้น จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกของเรา สำหรับผู้บริโภค และสำหรับธุรกิจได้” 

 

การศึกษาในหัวข้อ Balancing sustainability and profitability: How businesses can protect people, planet and the bottom line โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็มหรือ IBV ที่ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากทั่วโลก จากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 16,000 คน ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงความคิดเห็น และมุมมองล่าสุดของผู้บริโภคเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 

 

ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X