×

I AM YOU (ฉันคือเธอ) นิทรรศการที่หวังว่าจะไม่โดนสั่งปิดไปเสียก่อนของศิลปินนักเคลื่อนไหว วสันต์ สิทธิเขตต์

20.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • I AM YOU (ฉันคือเธอ) เป็นนิทรรศการที่เคยจัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2536 เมื่อนำกลับมาจัดแสดงอีกครั้งจึงเป็นเหมือนการทบทวนความคิดในแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านมาของ วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินนักเคลื่อนไหว
  • นิทรรศการครั้งนี้เป็นการผสมผสานระหว่างภาพวาด บทกวี แสงสี และงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานมาตลอด 40 ปี

ผมเป็นผู้หญิงโสเภณีที่ถูกฆ่าตายบนโรงพัก

ผมเป็นเด็กคนใช้ที่ถูกทำร้ายโดยนายจ้าง

ผมเป็นทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและร่างรัฐธรรมนูญไดโนเสาร์

ผมเป็นนักการเมืองที่ขี้รดหัวประชาชน และกินโยนีประชาชนเป็นอาหารมื้อเช้า

ไม่แปลกที่คนส่วนหนึ่งจะมองว่าเซ็กซ์ เสียดสี หยาบ และต่อต้านรัฐบาล คือจุดยืนของศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง วสันต์ สิทธิเขตต์ ทว่าในมุมมองของวสันต์เองนั้น ศิลปะ บทกวี หรือแม้แต่งานเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดได้บอกถึงความตรงไปตรงมา การหลีกหนีจากสังคมที่เต็มไปด้วยความอ้อมค้อม หน้าไหว้หลังหลอก เพื่อที่จะบอกเล่าปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านการเห็นและตีความของศิลปินวัย 60 ผู้ซึ่งใช้ศิลปะในการทำงานขับเคลื่อนสังคมและต่อสู้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ความทุกข์’ โดยมีเวทีชุมนุมและม็อบต่างๆ เป็นดังแกลเลอรีจัดแสดงผลงาน

 

ผลงานของวสันต์จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีชื่อดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Museum of Modern Art นิวยอร์ก, Queensland Art Gallery ออสเตรเลีย รวมทั้ง Singapore Art Museum สิงคโปร์ สำหรับในเมืองไทยนั้น นิทรรศการ I AM YOU (ฉันคือเธอ) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม ถึง 27 พฤษภาคม 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือนิทรรศการครั้งใหญ่ที่รวบรวมเอาผลงานร่วม 40 ปีของวสันต์ รูป ย่ากับตะกร้าเชี่ยนหมาก ที่เขาวาดตอนอายุ 18 ปี สะท้อนถึงเงาความคิดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ ที่นำศิลปะมารับใช้ประชาชน ส่วนภาพ ฉากประชุมรัฐสภา ที่เต็มไปด้วยสัตว์เลื้อยคลานได้ย้ำอุดมการณ์ของเขาที่ว่า ‘ทุกรัฐบาลที่จัญไรย่อมเป็นศัตรูกับประชาชน’

 

นอกจากภาพวาดแล้ว นิทรรศการชุด I AM YOU (ฉันคือเธอ) ในครั้งนี้ยังมีงานกวีนิพนธ์ งานเพอร์ฟอแมนซ์ กราฟฟิตี้ และสื่อผสม แน่นอนว่าทั้งหมดล้วนมีเนื้อหาความหยาบที่เข้มข้นเช่นเดียวกับบทสนทนาที่จะพาไปรู้จักตัวตนและการบ่มเพาะความคิดก่อนที่จะมาเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวที่ชื่อ วสันต์ สิทธิเขตต์

 

 

ทำไมจึงตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า I AM YOU

ในปี 2534 ผมจัดแสดงงานชื่อ ‘นิรยกถา’ คอนเซปต์คือนรกปัจจุบัน เป็นงานวิจารณ์กลุ่มอาชีพต่างๆ ทหาร ตำรวจ ศิลปิน หมอ ครู พระ กรรมกร ใครมีอาชีพอะไรก็ตาม แต่ถ้าคุณละเลยหน้าที่ที่จะมาดูและรักษาโลกนี้ก็เท่ากับว่าคุณตกนรก ตอนนั้นคนก็มองว่าผมก็ได้แต่วิจารณ์สังคม วิจารณ์คนอื่น ผมก็เลยมาทำงานชุด I AM YOU ในปี 2536 เพื่อที่จะบอกว่าจริงๆ ผมก็คือคุณ ผมเป็นผู้ถูกกระทำ ผมเป็นผู้หญิงโสเภณีที่ถูกฆ่าตายบนโรงพัก ผมเป็นเด็กคนใช้ที่ถูกทำร้ายโดยนายจ้าง ผมเป็นทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและร่างรัฐธรรมนูญไดโนเสาร์ขึ้นมา ผมเป็นนักการเมืองที่ขี้รดหัวประชาชน และกินโยนีประชาชนเป็นอาหารมื้อเช้า คราวนี้พอกลับมาคิดว่าจะรวมงานของตัวเองอีกครั้งในรอบ 40  ปี ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วตัวผมคืออะไร ตัวผมคือการมีชีวิตร่วมกับคนอื่น งานศิลปะของผมก็คือการบันทึกชีวิต ความคิด ทัศนคติ และสติปัญญาที่มองชีวิต สังคม และโลกใบนี้ ดังนั้นผมจึงไม่ใช่ใครอื่น เพราะผมคือคุณ

 

ผ่านไป 26 ปี I AM YOU มีพัฒนาการอย่างไร

ผมไม่มีพัฒนาการ แต่คนดูจะได้เห็นความหลากหลายมากกว่า ตลอดการทำงานศิลปะ ผมคิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้สังคมนี้มันดีขึ้นด้วยวิถีที่มี ทั้งวิดีโอ บทกวี หนังตะลุง ภาพวาด บทเพลง ทุกอย่างมีเป้าหมายเดียวคือให้คนตื่นขึ้นมาแล้วเลือกที่จะเป็นตัวเอง ผมเป็นศิลปิน ไม่ใช่ศาสดาหรือผู้นำที่จะไปชี้ใคร ผมเป็นศิลปินที่ทำหน้าที่บันทึกว่า… นี่ไงโลก นี่ไงสังคม นี่ไงชีวิต คุณจะทนกับมันหรือคุณจะลุกขึ้นมาเปลี่ยน มันก็เรื่องของคุณ ยิ่งในยุคใหม่ ทุกคนตัวใครตัวมันอยู่แล้ว ผมก็ทำได้แค่นี้

 

 

งานศิลปะชิ้นไหนที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน แต่จะมาแสดงในครั้งนี้

ความจริงมีหลายชิ้นที่อยู่กับแกลเลอรี มิวเซียม นักสะสมต่างประเทศ สำหรับงานแสดงครั้งนี้ก็ยืมนักสะสมในเมืองไทยกลับมาแสดงอยู่บ้าง แล้วก็มีงานสมัยเด็กตอนอายุประมาณ 18 ปี เป็นภาพสีน้ำรูปย่าของผมเอง ตอนนั้นเราประทับใจกับวิถีของแวน โก๊ะ ที่ได้ลงไปคลุกคลีกับชาวนา ย่าเราก็เป็นชาวนาด้วย ก็เลยวาดย่ากับตะกร้าเชี่ยนหมาก ส่วนพวกงานสมัยอนุบาล 200-300 ชิ้น แม่ขายให้แป๊ะขายขวดไปแล้ว

 

แวน โก๊ะ มีอิทธิพลกับชีวิตอย่างไรบ้าง

เข้าเรียนปี 1 ที่ช่างศิลป์ได้ 3 เดือนก็ลาออก เพราะคิดว่าโรงเรียนไม่ได้สอนอะไร เอาหุ่นมาตั้ง วาด ส่ง ได้คะแนนกลับมา บวกกับที่บ้าแวน โก๊ะ มาก วิถีแวน โก๊ะ คือรับใช้ประชาชน ศิลปะคือการใช้ชีวิต เขียนชีวิต เขียนความทุกข์ยาก ตอนปี 1 ผมก็เขียนผู้หญิงโสเภณี คนพิการ ขอทานข้างถนน ตอนนั้นคิดว่าจะวาดคนทุกข์ทั้งหลายให้หมดทั้งโลก เพราะคิดว่าทำไมจึงมีเพียงคนที่ใหญ่โตทั้งหลายที่ถูกบันทึก ทำไมขอทานข้างถนนที่มีชีวิตอยู่เหมือนกันกลับไม่ถูกบันทึก แต่ถ้าผมเขียนรูปเขา เขาตายไป เขาเป็นใครไม่รู้ แต่รูปได้บันทึกเขาไว้ เมื่อคิดว่าศิลปะคือการใช้ชีวิตก็เลยลาออกไปวาดรูป อ่านหนังสือเท่านั้นก็พอแล้ว

 

แต่ก็กลับมาเรียนต่อจนจบ

ตอนบอกแม่ว่าจะลาออก แม่ก็บอกว่าถ้าจะทำก็ทำ แต่สุดท้ายแม่ก็ทนไม่ไหว ไล่ออกจากบ้านมาอยู่กับพี่ซึ่งเป็นครู เราก็คิดว่าเงินใช่ไหมคือตัวปัญหาที่ทำให้เราใช้ชีวิตไม่ได้ ก็เลยฝึกอยู่แบบไม่ใช้เงิน เคร่งศาสนามาก ไม่กินเนื้อสัตว์ นั่งสมาธิ ฝึกชีวิต กินหญ้า ฝึกอยู่แบบสัตว์ ทำงานศิลปะ งานไม้ แต่สุดท้ายไม่รอด เพราะระบบย่อยเราไม่รับ แม่ผมไม่ได้ฝึกให้ผมกินหญ้ามาตั้งแต่เด็ก พอใกล้ตายก็เลยกลับไปเรียน

คนเราเกิดมาทุกข์อยู่แล้ว ตื่นเช้าหิวข้าว เข้าส้วมก็คือทุกข์ ไม่มีอะไรกินก็ทุกข์ ไม่มีงานทำก็ทุกข์ มันก็เป็นความทุกข์ที่วนเวียนอยู่ แล้วก็ทุกข์มากขึ้นเพราะเราถูกกระทำโดยอำนาจปกครอง

 

เริ่มสร้างงานศิลปะเพื่อเคลื่อนไหวสังคมตอนไหน

ผมลงไปทำกิจกรรมนักศึกษา อยู่กับม็อบตั้งแต่อายุ 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้มุมมองชีวิตและมุมมองด้านศิลปะเปลี่ยนไป คนเราเกิดมาทุกข์อยู่แล้ว ตื่นเช้าหิวข้าว เข้าส้วมก็คือทุกข์ ไม่มีอะไรกินก็ทุกข์ ไม่มีงานทำก็ทุกข์ มันก็เป็นความทุกข์ที่วนเวียนอยู่ แล้วก็ทุกข์มากขึ้นเพราะเราถูกกระทำโดยอำนาจปกครอง ซึ่งพอเราเห็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้เห็นว่าอำนาจของทหาร ศาล รัฐบาล เขาได้ปกป้องกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ ทุกรัฐบาลที่จัญไรยังไงก็เป็นศัตรูกับประชาชน เป็นเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นมันจึงไม่ใช่แค่หน้าที่ศิลปิน แต่มันคือหน้าที่ของทุกคน

 

งานศิลปะของคุณมักมาพร้อมกับบทกวี

งานศิลปะและบทกวีต่างกันแค่วิธีการนำเสนอ แต่ทั้งสองต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ตั้งแต่เป็นเด็ก ผมวาดรูปเป็นหลายหมื่นรูป วันละ 10-20 รูป ฝึกเขียนบทกวีในตลาด งานแต่ง งานศพ งานวันเกิด ผมรับเขียนหมดแหละ ทั้งสองสิ่งคือตัวกลางในการสื่อสารความคิด ชีวิต ภูมิสติปัญญาให้กับสังคม มนุษย์ทุกคนมีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่เขาไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องอะไร ศิลปินจึงเป็นคนเรียบเรียงสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นผลงานเพื่อให้คนเห็น เข้าใจ ขบคิด เพราะงานศิลปะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์ได้คลายออกไป นอกเหนือจากเซ็กซ์

 

 

งานศิลปะขับเคลื่อนสังคมจำเป็นต้องหยาบไหม

ไม่นะ ทุกคนทำงานการเมืองได้ในสไตล์ของตนเอง ที่ผมทำงานดิบสไตล์แบบนี้ก็เพราะเราเห็นมาตั้งแต่เด็กว่าเราอยู่ในสังคมที่ชอบพูดอ้อมค้อม หน้าไหว้หลังหลอก ผมคิดว่าเราก็ควรจะพูดตรงๆ ถ้อยคำควรใช้ให้น้อย พอมาทำงานศิลปะ บทกวี เลยคิดว่าต้องสั้น กระชับ ตรง ก็เลยเป็นเหตุผลที่งานผมค่อนข้างหยาบ

 

จากปรากฏการณ์กราฟฟิตี้เสือดำ คิดว่าจะเปลี่ยนสังคมได้ไหม

ผมดีใจที่คนทำงานกราฟฟิตี้เลิกเขียนชื่อตัวเอง เลิกสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นตัวการ์ตูน ตัวอักษร นั่นมันแค่เปลือก ถ้าเขาหันมาจับเรื่องราวของสังคมเพื่อสะท้อนออกมาเป็นงานศิลปะที่สวยงาม เป็นอารมณ์ขันบนกำแพง ไม่ว่าเราจะแอบวาดหรือมีคนมาเปิดพื้นที่ให้เรา มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก ลบหนึ่งเกิดอีกแสน เสือดำเป็นการสั่นคลอนอำนาจเลยก็ว่าได้ รวมทั้งสั่นคลอนอำนาจนิยมแบบไทย อำนาจศาล ตำรวจ จนทำให้เกิดมูฟเมนต์ขึ้นมา แต่บ้านเรามันเกิดวูบเดียวหาย เรายังไม่สามารถทำให้คนมาขบคิดปัญหาสังคมจนกลายเป็นปฏิวัติประชาชนได้ แต่ก็ยังดีที่จุดประกายให้คนคิดได้ ปรากฏการณ์เสือดำไม่ได้แค่บนกำแพง แต่บางคนทำเสื้อ สติกเกอร์ ทำเพลง แต่งกวี เสือดำก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนมีอำนาจสะอึกได้นิดหน่อย อาวุธของเราก็คือสีพ่น พู่กัน หนังสือ จริงๆ แล้วศิลปะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้มีผลสะเทือนต่อสังคมได้ แม้ตอนนี้เรายังไม่เห็นผล แม้ทำมาตั้งนานไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่ก็ยังเชื่อว่าสักวันมันจะเปลี่ยน… คุณว่าผมบ้าหรือเปล่าวะ

 

คาดหวังอะไรกับงานแสดงครั้งนี้

คาดหวังว่าจะไม่ถูกปิดไปเสียก่อน

 

 

I AM YOU (ฉันคือเธอ)

จัดขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม ถึง 27 พฤษภาคม 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

Photo: นวลตา วงศ์เจริญ, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising