รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เผยซาอุฯ พร้อมลงทุนกับไทยในทุกมิติ ผลิตพลังงานไฮโดรเจนระดับ ‘บิ๊กดีล’ ไฟเขียวถ่ายทอดองค์ความรู้ ‘วิทยาลัยพลังงาน’ หนุนการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันของไทย
วันที่ 26 กรกฎาคม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภารกิจภายหลังการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการว่า การเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญอยู่ 2 ส่วน
ส่วนแรกคือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่วนที่สองเป็นการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการทำความตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่ลงนามไปเมื่อปี 2565 หลังหารือกับคณะเจรจาของกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นำโดย เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย และยังมีหน่วยงานชั้นนำของซาอุดีอาระเบียและของโลกเข้าร่วมหารือด้วย เช่น Saudi Aramco บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลก, บริษัท SABIC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลก, บริษัท ACWA Power ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้า และ SEEC หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศ
พีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ในด้านภารกิจกระชับความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบียหลังจากที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันในรอบ 32 ปีนั้น ได้มีการพูดคุยกันในกรอบการค้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเกิดประโยชน์โดยภาพรวมต่อทั้งสองประเทศ ส่วนภารกิจด้านการติดตามความร่วมมือด้านพลังงานตาม MOU เดิมทั้ง 8 ข้อ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีที่จะผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“ข้อตกลงสำคัญๆ ในการหารือ ขณะนี้ทางซาอุดีอาระเบียได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต และกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งรถยนต์ในอนาคต รวมถึงเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย” พีระพันธุ์กล่าว
พีระพันธุ์กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนาไฮโดรเจนจนได้ต้นทุนที่ถูกลง ก็จะสามารถนำพลังงานส่วนนี้มาชดเชยก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า และลดค่าไฟแก่พี่น้องประชาชนได้ ซึ่งทางซาอุก็รับปากที่จะมาลงทุนในไทยในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทยถือเป็นความร่วมมือระดับ ‘บิ๊กดีล’ ระหว่างไทยและซาอุ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศต่างก็มีเป้าหมายจะพัฒนาและลงทุนในด้านนี้
นอกเหนือจากข้อตกลงทั้ง 8 ข้อใน MOU เดิม พีระพันธุ์ยังเสนอให้เพิ่มเติมความร่วมมือในด้านอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งซาอุดีอาระเบียก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับองค์ความรู้และบุคลากรด้านพลังงานที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตต่อไป
การเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย รวมถึงบุคลากรระดับสูงของภาครัฐ และผู้นำของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในซาอุดีอาระเบีย ต่างให้การต้อนรับคณะของกระทรวงพลังงานไทยเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้าน
“การเยือนซาอุในครั้งนี้ เราได้รับการตอบสนองอย่างดีในทุกๆ เรื่อง และเราได้รับการต้อนรับที่ดีจริงๆ เราได้ชมกระบวนการทำงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงของบริษัทด้านพลังงานระดับโลก และซาอุก็ยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับประเทศไทย เหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นความตกลงข้อที่ 9 ที่เราได้มา นอกเหนือจาก MOU ทั้ง 8 ข้อ ซึ่งล่าสุดทั้งสองประเทศก็ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันในทุกๆ ประเด็นความร่วมมือที่มีการพูดคุยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
จีบซาอุลงทุนโรงกลั่น-คลังน้ำมัน
นอกจากนี้ พีระพันธุ์ยังเชิญชวนให้ซาอุพิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ให้กับประเทศไทย และสามารถเป็นจุดกระจายน้ำมันจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ โดยซาอุให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาศึกษารูปแบบการดำเนินระบบ SPR ของไทยทันทีเมื่อไทยมีความพร้อม
ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องของการผลิตพลังงานสะอาด และเน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนพลังงานที่ต้องการผลักดันเพื่อไปสู่เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
สำหรับโอกาสการลงทุนในซาอุดีอาระเบียนั้น พีระพันธุ์ระบุว่า ปัจจุบันซาอุมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงส่งสัญญาณผ่านกระทรวงพลังงานของไทยไปถึงนักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนโรงไฟฟ้าให้ซาอุด้วย
“การไปเยือนและเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญของทั้งสองฝ่าย หลังจากที่ซาอุก็รอไทยมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเกือบ 2 ปีเต็มนั้นยังไม่มีอะไร แต่วันนี้ความคืบหน้าของ ‘ไทย-ซาอุ’ เกิดขึ้นแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมก็จะเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป นี่คือสัญญาณที่ดีมากๆ เพราะทุกการเจรจา ทุกความร่วมมือที่กล่าวถึง ซาอุไม่ได้มาเพียงเพื่อพูดคุยเล่นๆ แต่เขาเอาจริง” พีระพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย