×

รู้จัก โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) พร้อมกับ 6 สัญญาณช่วยเช็กว่าคุณกำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า

18.05.2021
  • LOADING...
Hurry Sickness

HIGHLIGHTS

  • รู้จัก โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับคนยุคปัจจุบันที่ติดโลกโซเชียล ติดอุปกรณ์สื่อสารที่อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างในชีวิตดำเนินไปอย่างรวดเร็วทันใจ ซึ่งส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้าง 

แม้ว่าโรค Hurry Sickness หรือโรคทนรอไม่ได้ เป็นโรคที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน หรือรู้จักอยู่ก่อนแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีโรคนี้อยู่ด้วยหรือ ที่น่าสนใจคือมันเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับคนยุคปัจจุบันที่ติดโลกโซเชียลติดอุปกรณ์สื่อสารที่อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างในชีวิตดำเนินไปอย่างรวดเร็วทันใจ จนกลายเป็นเคยชินกับการทำอะไรเร็วๆ แล้วต้องได้ ต้องเสร็จเดี๋ยวนี้ ซึ่งมันอาจนำไปสู่อาการของโรค ‘ทนรอไม่ได้’ เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ ความกระวนกระวายใจจะมีความรุนแรง และจะหงุดหงิดเมื่อต้องรออะไรนานๆ ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนและเครียดง่าย หากปล่อยไว้นานๆ อาการอาจรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ซึ่งเว็บไซต์ HuffPost ได้เผย 6 สัญญาณเพื่อเช็กว่าเรากำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า เพื่อหาทางปรับพฤติกรรมและควบคุมตัวเองเพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้

 

โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) สามารถเช็กอาการที่เข้าข่ายได้จาก 6 สัญญาณดังนี้ 

 

1. ทำเหมือนกำลังแข่งขันกับทุกสิ่งทุกอย่าง 

ลี แชมเบอร์ส นักจิตวิทยาด้านสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาด้านความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศอังกฤษ อธิบายว่า คนเรามักจะเคยมีช่วงเวลาที่รีบเร่งกว่าปกติเกิดขึ้นได้ เช่น ต้องเร่งทำงานที่ต้องให้เสร็จตามกำหนด หรือต้องเร่งรีบเพื่อไปสนามบินให้ตรงเวลาสำหรับเที่ยวบินที่จองไว้ แต่จะมีคนบางกลุ่มที่เขาจะแยกไม่ออกระหว่างความจำเป็นที่ต้องรีบกับเวลาที่ไม่ต้องเร่งรีบ กลายเป็นว่าพวกเขาทำทุกอย่างเหมือนกำลังอยู่ในสนามแข่งขัน แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าวก็ต้องเร็ว ช้อปปิ้งเร็ว ขับรถเร็ว แม้รถติดไฟแดงเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างความหงุดหงิดได้ ซึ่งอาการนี้เข้าข่ายอาการของ Hurry Sickness

 

2. ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน

ริชาร์ด จอลลี ที่ปรึกษาด้านองค์กร และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Kellogg School of Management ของ Northwestern University บอกว่า อีกหนึ่งสัญญาณที่สังเกตได้คือ การทนไม่ได้ที่จะทำอะไรทีละอย่าง เพราะคนที่มีอาการ Hurry Sickness มักจะรับทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ชอบมีหน้าที่ในหลายบทบาท 

 

3. ขี้หงุดหงิดเมื่อพบกับความล่าช้า

อีกหนึ่งสัญญาณของโรคทนรอไม่ได้ คือ จะรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวขึ้นมาทันทีที่เผชิญหน้ากับความล่าช้า เคยเห็นไหม คนประเภทที่กดปุ่มลิฟต์ซ้ำๆ เพื่อต้องการให้ประตูลิฟต์ปิดเร็วๆ หรือเมื่อเจอสัญญาณไฟแดง หรือเจอคนต่อแถวยาวในธนาคารระหว่างรอทำธุรกรรมทางการเงิน ก็จะรู้สึกเซ็ง หงุดหงิด มีอารมณ์ที่ขุ่นมัวเกิดขึ้นในใจทันที 

 

4. รู้สึกว่าตัวเองล่าช้าตลอดเวลา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือความกังวลและต้องการจะไล่ตามทุกอย่างให้ทันใจตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการทำงาน การเดินทาง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะความรู้สึกที่ต้องการจะทำให้สำเร็จเร็วๆ กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่ออารมณ์ข้างใน ทำให้บางครั้งควบคุมตัวเองไม่ได้ และแน่นอนว่าคนที่อารมณ์เสียบ่อยๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำงาน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 

 

5. ขัดจังหวะคนอื่นบ่อยๆ 

ด้วยนิสัยที่รอไม่ได้ ทำให้อาจมีหลายครั้งที่คุณไปขัดจังหวะเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว บางครั้งคนที่คุยด้วยเขาอาจจะยังพูดไม่จบหรือยังไม่เข้าประเด็นที่คุณต้องอยากฟัง ทำให้เกิดการตัดบทสนทนาและพูดแทรกในเรื่องที่ตัวเองอยากสื่อสารออกไปเร็วๆ แม้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจที่จะหยาบคาย และการตัดคนอื่นออกจากบทสนทนาก็เป็นอีกหนึ่งอาการของคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงานโดยที่คุณไม่รู้ตัว 

 

6. หมกมุ่นกับสิ่งที่ต้องทำอย่างไม่สิ้นสุด

อีกหนึ่งสัญญาณคือ นิสัยจอมหมกมุ่นอยู่กับลิสต์สิ่งที่คุณต้องทำให้เสร็จ คุณจะรู้สึกพึงพอใจเมื่อคุณจัดการสิ่งที่ต้องทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ใจคุณก็จะสงบไม่นาน เพราะต่อจากนั้นคุณจะคิดถึงสิ่งที่ต้องทำลำดับถัดไปอย่างรวดเร็ว อย่าลืมว่าการก้าวไปสู่หน้าที่ใหม่ๆ กับผลงานใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว บางครั้งมันไม่ได้ทำให้คุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มันอาจทำให้คุณเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น ลี แชมเบอร์ส ถึงได้บอกว่า “คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ จึงแสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่าพวกเขามีสิ่งที่ต้องทำมากเกินไป และมันเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ อยู่ตลอดเวลา” 

 

ข้อเสียของโรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) 

การทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะที่ต้องเร่งรีบตลอดเวลา ส่งผลเสียแน่นอนต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้าง คนที่เป็นโรคนี้มักจะสะสมความเครียดเรื้อรังจนสามารถให้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลรบกวนตารางการนอนหลับ และลดระดับพลังงานในร่างกายลง และด้วยอารมณ์ที่ไม่คงที่ มันสามารถนำไปสู่การสูญเสีย เช่น การเลิกรา หรือการทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นได้ในที่สุด   

 

วิธีแก้ไขป้องกัน

 

1. เปลี่ยนความคิดให้ได้ว่าทุกอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มีเรื่องที่รอได้กับเรื่องที่ต้องทำทันที แต่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และทำให้เสร็จทีละอย่าง 

 

2. อนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อน ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ลองนอนหลับนิ่งๆ สบายๆ ในวันหยุด อ่านหนังสือที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้อ่าน หรือออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ออกกำลังกาย และฝึกสมาธิ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย 

 

3. ก่อนนอนพยายามทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสงบ เช่น แช่น้ำอุ่นก่อนนอน จดบันทึก หรือฟังเสียงบรรเลงช่วยกล่อมนอน หากสามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้เราได้รับการฟื้นฟูและสร้างสมดุลทางอารมณ์ให้ดีขึ้น 

 

4. ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง คุณไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับนิสัยทนไม่ได้อยู่คนเดียว ให้คนรัก ให้คนในครอบครัวช่วยคุณได้ ให้พวกเขาเตือนคุณเมื่อคุณกลับไปเป็นนิสัยเดิมๆ เพื่อดึงสติให้คุณปรับพฤติกรรมตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยอมรับว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังรากลึกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อเถอะว่าคนที่รักคุณมีอยู่รอบตัว พวกเขาเต็มใจที่จะอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้คุณได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าเมื่อไรที่รู้สึกว่าพยายามก็แล้ว ครอบครัวช่วยก็แล้ว แต่ยังเปลี่ยนไม่ได้ ก็อย่ากลัวที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกเมื่อเช่นกัน 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X