×

หรือการโคลนนิ่งมนุษย์คือก้าวต่อไป? หลังความสำเร็จ​ในการโคลนนิ่งลิง

โดย Mr.Vop
28.01.2024
  • LOADING...
การโคลนนิ่ง

‘เรโทร’ (Retro)​ คือชื่อของลิงวอก (Macaca mulatta) เพศผู้ ซึ่งเป็น​สัตว์ในกลุ่มวานรหรือไพรเมตสายพันธุ์ล่าสุดที่ประสบความสำเร็จ​จากการโคลนนิ่ง โดยเจ้าจ๋อเรโทร​นี้ถือกำเนิดขึ้นในจีนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม​ 2020 จวบจนบัดนี้​ผ่านไป 3 ปีแล้วยังคงมีสุขภาพดี

 

การโคลนนิ่งเจ้าจ๋อเรโทรเดินตามรอยไพรเมตรุ่นพี่ต่างสายพันธุ์​ 2 ตัว นั่นคือ ‘จงจง’ (中中)​ ที่ถือกำเนิด​เ​มื่อวันที่​ 27 พฤศจิกายน 2017 และ ‘หัวหัว’ (华华)​ ที่เกิดในวันที่​ 5 ธันวาคมปีเดียวกัน ทั้งคู่​เป็นโคลนนิ่งของลิงแสม (Macaca fascicularis)​ เพศเมีย ที่ทุกวันนี้ต่างก็มีอายุเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ถือเป็นการโคลนนิ่งสัตว์​ในตระกูล​ไพรเมตสำเร็จ​เป็น​ครั้ง​แรกของโล​ก (ชื่อทั้งคู่แยกมาจากคำว่า ‘จงหัว’ 中华 ที่หมายถึงประชาชาติจีน)

 

ความสำเร็จเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามว่า ใกล้ถึงเวลาของการโคลนนิ่งมนุษย์แล้วใช่หรือไม่

 

คำตอบมีทั้งในแง่ของจริยธรรมและในแง่ของเทคนิคการโคลนนิ่ง

 

แน่นอนว่าการโคลนนิ่งมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมรับได้ในปัจจุบันไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน แต่อย่าลืมว่ายังคงมีความต้องการแฝงเร้นในเรื่องนี้อยู่เสมอ ดังนั้นหากจะว่ากันในแง่ของการพยายามทำอย่างเปิดเผยย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ยกเว้นจะมีบางประเทศที่สามารถจัดการทดลองแบบลับๆ

 

ส่วนในแง่ของเทคนิคก็มีปัญหามากมายไม่แพ้กัน 

 

ทั้งลิงวอกอย่างเรโทรและลิงแสมอย่างจงจงและหัวหัวนั้นต่างก็เป็นลิงโลกเก่าในตระกูลลิงมาคาก (Macaque)​ ที่แม้จะมีหาง แต่ก็แทบไม่ใช้หางในการปีนต้นไม้​แล้ว​ ถึงอย่างนั้นกว่าจะมาถึงมนุษย์​เราก็ยังต้องข้ามเอป (Ape)​ หรือวานรไร้หางอีก 4 สายพันธุ์​ นั่นคือชะนี อุรังอุตัง กอริลลา และชิมแปนซี​ เสียก่อน

 

หลังความสำเร็จของการโคลนนิ่ง ‘แกะดอลลี’ ในปี 1996 เทคนิคการโคลนนิ่งด้วยถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์​ที่ไม่ใช่เซลล์สืบพันธุ์ ​หรือ SCNT ก็ถูกนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมาก วิธีการนี้สามารถอธิบายแบบง่ายๆ คือ ย้ายนิวเคลียสของเซลล์สัตว์ที่เราต้องการโคลนไปใส่ในเซลล์ไข่ใบใหม่ของสัตว์ตัวที่ 2 ที่ไร้นิวเคลียส จากนั้นใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ให้แบ่งตัวจนพัฒนาเป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำไปฝังตัวในมดลูกของสัตว์ตัวที่ 3 เพื่ออุ้มบุญ 

 

วิธีการนี้ได้ผลกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นหนู, ม้า, วัว, อูฐ, พังพอน, กระต่าย, หมู, สุนัข และแมว ฯลฯ แต่แทบใช้ไม่ได้ผลกับสัตว์ในกลุ่มไพรเมต

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงแสมคู่แรกของโลกนั้นพบว่า สำหรับลิงแสม ทีมงานไม่อาจใช้นิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของลิงที่โตเต็มวัยได้ (ในกรณีของแกะดอลลีใช้เซลล์ร่างกายแกะจากบริเวณเต้านม) ทีมงานจำเป็น​ต้องแยกนิวเคลียสของเซลล์ลิงแสมจากร่างกายตัวอ่อนลิงที่ยังอยู่ในรกเท่านั้น และเมื่อนำมาใส่ไว้ในเซลล์ไข่แล้ว 

 

ยังมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ ต้องใช้เทคนิค ‘คริสเปอร์’ (CRISPR-Cas9) ด้วยเอนไซม์อีก 2 ตัว เพื่อลบความจำอิพิเจเนติกส์ในด้านที่เคยเป็นเซลล์ร่างกายของนิวเคลียส จึงสามารถดำเนินรวมนิวเคลียสเข้ากับไข่ได้ และหลังจากนำไข่ 21 ฟองไปฝากอุ้มบุญไว้ในแม่ลิงจำนวน 6 ครรภ์ แม่ลิงก็คลอดลิงแสม 2 ตัวที่รอดชีวิตออกมาเป็นจงจงและหัวหัวได้สำเร็จ

 

และเมื่อมาถึงคราวของลิงวอกอย่างเรโทร ขั้นตอนการโคลน​นิ่งนั้นยากขึ้นไปอีก ทีมงานใช้วิธีการเดิมแบบที่ใช้กับลิงแสมไม่ได้ผล เยื่อหุ้มเซลล์ขั้นนอกที่ปกติจะพัฒนาไปเป็นรกนั้นมีการเติบโตอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ตัวอ่อนตายลงไปเป็นจำนวนมาก ทีมงานจึงเปลี่ยนไปเป็นการปลูกถ่ายมวลเซลล์ชั้นใน (สิ่งที่อยู่ภายในเซลล์) ของเซลล์ที่จะโคลนเข้าไปแทนที่เซลล์ของตัวอ่อนที่หามาใหม่ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มาจากวิธีผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ 

 

ผลคือตัวอ่อนของลิงวอกโคลนนิ่งจะได้ไปเติบโตในรกของลิงวอกอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทาง DNA

 

ทีมงานพบว่าวิธีการนี้ได้ผล ตัวอ่อน 113 ตัว มี 11 ตัวที่มีศักยภาพดีพอที่จะย้ายไปฝังในมดลูกของแม่ลิงอุ้มบุญ แต่สุดท้ายก็มีลิงวอกโคลนนิ่งเพียงตัวเดียวที่คลอดออกมาได้นั่นคือ ‘เรโทร’

 

ตามที่กล่าวมาข้างต้น ความยุ่งยากทางเทคนิคเหล่านี้เกิดกับลิงแสมและลิงวอกซึ่งเป็นลิงในตระกูลมาคาก จนทำให้อัตราความสำเร็จในการโคลนนิ่งมีน้อยมาก และหากข้ามขั้นไปถึงวานรไร้หางอย่างเอป แน่นอนว่าเทคนิคดังกล่าวคงไม่ได้ผล จนทำให้ต้องหาเทคนิคใหม่ในการโคลนนิ่งอีกเป็นเวลายาวนาน และคงนานขึ้นไปอีกกว่าจะพบขั้นตอนที่ถูกต้องที่จะสามารถโคลนนิ่งเอปชั้นสูงสุดอย่างมนุษย์เราขึ้นมาได้ 

 

ดังนั้นต่อคำถามที่ว่า ใกล้ถึงเวลาของการโคลนนิ่งมนุษย์แล้วใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เรายังคงต้องรออีกนานกับการยอมรับของสังคมในแง่จริยธรรม ความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนเทคนิคการทำโคลนนิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป

 

ภาพ: Qiang Sun / Nature Communications / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X