×

กล้องฮับเบิลพบปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้นในจุดที่นักดาราศาสตร์ไม่คาดคิดเป็นครั้งแรก

09.10.2023
  • LOADING...
ปรากฏการณ์ประหลาด

กล้องฮับเบิลได้ถ่ายภาพการเกิด LFBOT หรือแสงสว่างวาบสีน้ำเงินที่ปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาสั้นๆ โดยนอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ที่นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถระบุที่มาได้อย่างชัดเจนแล้ว ข้อมูลล่าสุดยังพบว่ามันเกิดขึ้นในจุดที่ไม่ควรอยู่ ซึ่งสร้างความฉงนและคำถามมากมายให้กับนักดาราศาสตร์

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกตรวจพบเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2023 มีชื่อว่า AT2023fhn หรือชื่อเล่น ‘ฟินช์’ เป็น LFBOT หรือย่อมาจาก Luminous Fast Blue Optical Transient อันหมายถึงแสงสว่างวาบที่มีความเข้มข้นในแสงสีน้ำเงินมากที่สุด และสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ช่วงรังสีเอ็กซ์ไปจนถึงคลื่นวิทยุจากอุปกรณ์บนโลกของเรา

 

หน่วยงานอวกาศจากทั่วโลกได้เตรียมแผนการศึกษาวัตถุ LFBOT ไว้พร้อมตลอดเวลา เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และช่วงที่แสงสว่างวาบนั้นกินเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ต่างจากการเกิดซูเปอร์โนวาที่แสงสว่างใช้เวลาหลายสัปดาห์ก่อนเลือนลางหายไป จึงต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ทั้งบนอวกาศและภาคพื้นโลกเพื่อร่วมกันศึกษาให้ได้ดีที่สุด

 

เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ Zwicky Transient Facility ได้ตรวจพบ AT2023fhn เป็นที่แรก ก่อนที่กล้องโทรทรรศน์ Gemini South ในชิลี จะตรวจดูสเปกตรัมของแสงสว่างดังกล่าว ร่วมกับข้อมูลจากกล้อง Very Large Array ในคลื่นวิทยุ กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ในช่วงรังสีเอ็กซ์ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่บันทึกภาพตำแหน่งการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้

 

LFBOT ถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในปี 2018 และมีการค้นพบวัตถุประเภทเดียวกันแค่ปีละครั้งเท่านั้น ทำให้นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่ โดยเฉพาะเมื่อ AT2023fhn ถูกตรวจพบอยู่ห่างจากกาแล็กซีขนาดเล็กไป 15,000 ปีแสง และห่างจากกาแล็กซีกังหันอีกแห่ง 50,000 ปีแสง ซึ่งต่างจากการค้นพบก่อนหน้านี้ที่ LFBOT จะปรากฏขึ้นในแขนของดาราจักร

 

ดร.แอชลีย์ คริมส์ หัวหน้าทีมวิจัยจากองค์การอวกาศยุโรป ที่ใช้กล้องฮับเบิลศึกษาปรากฏการณ์นี้ ระบุว่า “ยิ่งเราศึกษา LFBOT มากขึ้นเท่าไร มันยิ่งน่าพิศวงขึ้นเท่านั้น เพราะเราได้เห็นแล้วว่า LFBOT สามารถเกิดขึ้นได้ไกลจากใจกลางกาแล็กซีมากๆ และตำแหน่งของ ‘ฟินช์’ คือจุดที่เราไม่ได้คาดคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งซูเปอร์โนวาก็ตาม”

 

เนื่องจากนักดาราศาสตร์มีข้อมูลอยู่ไม่มาก ทำให้มีการคาดคะเนที่มาของ LFBOT ไว้หลายรูปแบบ อาทิ ซูเปอร์โนวาแบบแกนยุบ ที่เกิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์มวลมหาศาล ซึ่งมีอายุขัยอยู่ไม่มากนัก และมีเวลาไม่เพียงพอสำหรับการพเนจรออกจากแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ในกาแล็กซี ซึ่งการพบวัตถุ AT2023fhn นั้นทำให้แนวคิดดังกล่าวถูกปัดตกไป ด้วยปัจจัยระยะห่างของแสงสว่างดังกล่าวจากกาแล็กซี และมันเกิดขึ้นในจุดที่นักดาราศาสตร์ก็ไม่คาดคิดว่าควรเกิดซูเปอร์โนวาได้

 

นั่นทำให้นักดาราศาสตร์พิจารณาแนวคิดว่า LFBOT อาจเป็นผลลัพธ์ของดาวนิวตรอนสองดวงที่ใช้เวลาเดินทางมาพุ่งชนกันนานกว่าพันล้านปี ไกลจากใจกลางกาแล็กซี เช่นกันกับโอกาสที่ ‘ฟินช์’ จะเป็นผลของดาวฤกษ์ที่ถูกหลุมดำมวลปานกลางกลืนกินเข้าไปอยู่

 

คริมส์อธิบายเพิ่มเติมว่า “การค้นพบในครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามมากกว่าคำตอบที่เราได้มาเสียอีก และเรายังต้องศึกษาเพิ่มอีกมาก เพื่อตามหาคำอธิบายที่เหมาะสมที่สุดของปรากฏการณ์นี้”

 

ภาพ: NASA, ESA, NSF’s NOIRLab, Mark Garlick, Mahdi Zamani

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising