×

เมื่อคนที่รักมาจากไป จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร? วิธีรับมือกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ตามทฤษฎีของคูเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน เรื่อง ‘ปฏิกิริยาความโศกเศร้าอันเกิดจากการสูญเสีย’ พบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักนั้นประกอบด้วย 5 ระยะ ได้แก่ ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ, โกรธและแสดงการต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น, ต่อรอง พยายามหาสิ่งต่างๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้, ซึมเศร้า แสดงออกถึงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น, สงบและยอมรับการสูญเสียได้
  • ผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอาจมีการแสดงออกถึงความโศกเศร้าที่แตกต่างกันทั้งในส่วนของรูปแบบ ระดับความรุนแรง และระยะเวลา การแสดงออกจะเกิดขึ้นโดยไม่เรียงตามลำดับขั้น และอาจจะเกิดกลับไปกลับมา หรือเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลาเดียว
  • คุณอาจจมอยู่กับความรู้สึกผิด โกรธแค้นที่เขาทอดทิ้งคุณไป หรือรู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขา ซึ่งถึงแม้ว่าคุณจะมีความคิดหรือความรู้สึกด้านลบต่อเขา ขอให้คุณอย่าตัดสินว่าตัวเองไม่ดี เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ คุณต้องอนุญาตให้มันเกิดขึ้น และเรียนรู้ที่จะปล่อยมันไป

     การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทุกการสูญเสียจะนำมาซึ่งความโศกเศร้าอาลัยและสร้างผลกระทบต่อระบบความคิด ความรู้สึก และการใช้ชีวิต การเผชิญหน้ารับมือกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเปรียบได้กับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต การผ่านช่วงประสบการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความจำเป็นที่คุณต้องให้ความรัก ความเข้าใจ และการดูแลเยียวยาตัวเองเป็นพิเศษ

     เมื่ออ้างอิงตามแนวทฤษฎีของคูเบลอร์-รอสส์ (Kubler-Ross) จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน เรื่อง ‘ปฏิกิริยาความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสีย’ (Grieving Process) เราจะพบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักนั้นประกอบด้วย 5 ระยะ ได้แก่

  1. ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ
  2. โกรธและแสดงการต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น
  3. ต่อรอง พยายามหาสิ่งต่างๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้
  4. ซึมเศร้า แสดงออกถึงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
  5. สงบและยอมรับการสูญเสียได้

 

     ทั้งนี้แต่ละคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอาจมีการแสดงออกถึงความโศกเศร้าที่แตกต่างกันทั้งในส่วนของรูปแบบ ระดับความรุนแรง และระยะเวลา การแสดงออกจะเกิดขึ้นโดยไม่เรียงตามลำดับขั้น และอาจจะเกิดกลับไปกลับมาหรือเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลาเดียว ฉะนั้นการรับมือกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียจึงไม่มีวิธีการที่ตายตัว หากเราแต่ละคนจำเป็นต้องเผชิญหน้ายอมรับกับสถานการณ์ สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวเรา และดูแลช่วยเหลือตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ดีที่สุด

การจากไปของบุคคลหนึ่งมักก่อให้เกิดความโศกเศร้าและสร้างความเจ็บปวดให้กับบุคคลหลายกลุ่ม นอกเหนือจากการพยายามดูแลเยียวยาจิตใจของตัวเองให้ดีแล้ว การช่วยดูแลและส่งผ่านความเห็นอกเห็นใจให้กันและกันระหว่างคนที่สูญเสียก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำเช่นเดียวกัน

 

9 ข้อแนะนำเพื่อรับมือกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

  1. ตั้งสติและทำใจยอมรับการสูญเสีย แม้ว่าการยอมรับจะเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่หากคุณยังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ความเจ็บปวดนี้ก็จะไม่ได้รับการเยียวยา การยอมรับเหตุการณ์จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอารมณ์โศกเศร้าที่ผิดปกติหรือโรคซึมเศร้าได้ ขอให้คุณตระหนักรู้ไว้ว่าคุณมีความสามารถที่จะจัดการดูแลทุกความเจ็บปวดทางจิตใจที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เพียงแค่เปิดใจยอมรับและสร้างกระบวนการเยียวยาให้ตนเอง
  2. อนุญาตให้ตนเองอยู่กับความอ่อนแอทางอารมณ์ ความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียเป็นสิ่งปกติ คุณต้องอนุญาตให้ตนเองรู้สึกและระบายออกความรู้สึกต่างๆ นั้นอย่างอิสระ ไม่ควรแสร้งหลอกว่าตัวเองเข้มแข็ง หรือกดดันตัวเองว่าควรโศกเศร้าได้แค่ไหนและใช้เวลานานเท่าใด การพูดเล่าความคิดภายในใจและร้องไห้คร่ำครวญตามความต้องการที่แท้จริงเป็นสิ่งที่คุณควรทำ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ความเจ็บปวดของคุณเบาบางลง
  3. ระบายความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคนที่คุณไว้ใจ หลายคนที่อยู่ในระยะซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะแยกตัวและเก็บกดความรู้สึกต่างๆ ไว้กับตัวเอง การได้พูดคุยกับคนที่คุณไว้ใจและพร้อมที่จะเข้าใจจะช่วยให้คุณสามารถปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดนี้ หากคุณพบความยากลำบากในการสื่อสารกับบุคคลรอบข้างและไม่สามารถจัดการความคิดและความรู้สึกที่อ่อนแอสับสนนี้ การปรึกษากับจิตแพทย์ นักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
  4. สร้างแนวความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับการสูญเสีย รูปแบบของความคิดที่เป็นบวกจะช่วยให้เกิดกระบวนการจัดการความคิดและความรู้สึกที่เป็นลบ และสนับสนุนให้คุณสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างมีความสุขมากขึ้น ตัวอย่างความคิดเชิงบวก เช่น
  • การสูญเสียครั้งนี้ทำให้คนที่ฉันรักไม่ต้องอยู่กับความทุกข์ทรมานอีกต่อไปแล้ว
  • แม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว ชีวิตของฉันยังคงต้องดำเนินต่อไป แต่เขาก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ดีในใจของฉัน และของทุกๆ คนที่รู้จักเขา
  • คนที่ฉันรักคงจะมีความสุข ถ้าฉันจะตั้งใจสานต่อความฝันหรือสิ่งดีๆ ที่เขาได้สร้างไว้

ฯลฯ

 

  1. เลือกจัดเก็บภาพและเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับบุคคลอันเป็นที่รักไว้ในความทรงจำ เรื่องราวและประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกันของคุณกับบุคคลที่คุณรักอาจจะมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี คุณควรเลือกที่จะสร้างความทรงจำจากสิ่งที่คุณและเขามีความสุขร่วมกัน การจมอยู่กับความรู้สึกผิด ประสบการณ์ที่เป็นทุกข์ และยึดติดความคิดอยู่กับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ไม่สามารถช่วยให้คุณหลุดพ้นจากความเจ็บปวดนี้ได้
  2. แสดงออกถึงความโศกเศร้าอาลัยอย่างสร้างสรรค์ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เปรียบเสมือนตัวช่วยที่ทำให้คุณสามารถเผชิญหน้าและปลดปล่อยความเจ็บปวดได้ง่ายขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะปรับเปลี่ยนมวลความทุกข์และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นด้วยรูปแบบการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ที่คุณถนัดหรือสนใจ เช่น วาดภาพ แต่งกลอน แต่งเพลง จัดทำสมุดภาพ และเขียนบันทึกความประทับใจที่มีต่อคนที่คุณรัก ฯลฯ
  3. ดูแลสุขภาพร่างกายและพยายามควบคุมการใช้ชีวิตให้เป็นปกติ ปฏิกิริยาความโศกเศร้าไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ แต่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคุณด้วย หลายคนมักเกิดอาการปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนล้า หายใจขัด ความดันผิดปกติ อาหารไม่ย่อย ฯลฯ ฉะนั้นคุณจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ งดเว้นการดื่มสุราและใช้สารเสพติดเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก นอกจากนี้คุณควรพยายามควบคุมกิจวัตรให้เป็นปกติเพื่อช่วยสร้างเป้าหมายของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และช่วยไม่ให้ตัวคุณจมอยู่กับความคิดและความรู้สึกด้านลบมากจนเกินไป
  4. ทำในสิ่งที่คุณรักและมีความสุข เมื่อเกิดการสูญเสีย คุณอาจจะติดอยู่กับความโศกเศร้าทุกข์ใจจนลืมนึกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ ฉะนั้นคุณจึงควรให้พื้นที่และเวลากับตัวเองเพื่อทำสิ่งที่คุณรักและมีความสุข เช่น เล่นกีฬา ทำอาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ ควบคู่ไปกับการจัดการความคิดและความรู้สึกด้านลบ
  5. เข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่ออำลาบุคคลอันเป็นที่รัก พิธีกรรมหลังการสูญเสีย เช่น งานศพ การสวดมนต์ และทำบุญอุทิศส่วนกุศล เปรียบได้กับเครื่องมือสำหรับการเยียวยาจิตใจ การให้ความช่วยเหลือในการจัดเตรียมงานและได้เข้าร่วมพิธีกรรมจะทำให้คุณมีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆ และแสดงออกซึ่งความเคารพรักต่อบุคคลอันเป็นที่รักของคุณอีกครั้ง การที่คุณต้องดูแลจัดการงานต่างๆ และพบปะกับเพื่อนฝูงญาติมิตรจะช่วยสร้างกระบวนการผ่อนคลายความโศกเศร้า นำมาซึ่งกำลังใจ และจะช่วยให้คุณสามารถนำตนเองกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้รวดเร็วขึ้น

 

     การจากไปของบุคคลหนึ่งมักก่อให้เกิดความโศกเศร้าและสร้างความเจ็บปวดให้กับบุคคลหลายกลุ่ม นอกเหนือจากการพยายามดูแลเยียวยาจิตใจของตัวเองให้ดีแล้ว การช่วยดูแลและส่งผ่านความเห็นอกเห็นใจให้กันและกันระหว่างคนที่สูญเสียก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำเช่นเดียวกัน บุคคลอันเป็นที่รักของคุณคงจะมีความสุข หากว่าการจากการไปของเขาจะช่วยสร้างความรักและความปรารถนาดีให้เกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่เขารักซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่

 

Ask The Expert

Q: ครั้งสุดท้ายที่ฉันเห็นเขา เราทะเลาะกัน ในวินาทีที่เขาประสบเหตุเสียชีวิต ฉันยังรู้สึกโกรธเขา จนถึงเดี๋ยวนี้ผลลัพธ์ของสิ่งที่เขาทำก็ยังตามหลอกหลอนฉัน ฉันเสียใจที่เขาจากไป ฉันโกรธในสิ่งที่เขาทำ ที่ผลของมันยังคงค้างคา แต่เหนือสิ่งอื่นใด ฉันโกรธที่เขามาด่วนจากไปแบบนี้ ทำไมเราจึงต้องจากกันแบบนี้ นี่ฉันควรจะรู้สึกอย่างไรดี แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร มันจะมีวันที่ฉันรู้สึกดีขึ้นใช่ไหม?

 

A: ในกรณีที่การจากไปของบุคคลที่คุณรักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่ทันคาดคิด คุณและเขาจากกันด้วยความรู้สึกและเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่ยังค้างคา เช่น ผิดใจกัน แต่ไม่ได้มีโอกาสปรับความเข้าใจ ทะเลาะกันครั้งสุดท้ายที่เจอ มีภาระหรือคำมั่นสัญญาที่ต้องทำร่วมกัน ฯลฯ คุณอาจจมอยู่กับความรู้สึกผิด โกรธแค้นที่เขาทอดทิ้งคุณไป หรือรู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเขา ซึ่งถึงแม้ว่าคุณจะมีความคิดความรู้สึกด้านลบต่อเขา ขอให้คุณอย่าตัดสินตัวเองว่าไม่ดี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งปกติ คุณต้องอนุญาตให้มันเกิดขึ้นและเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยมันออกไปจากตัวคุณด้วยการให้อภัย ไม่เพียงแต่ที่คุณต้องให้อภัยบุคคลที่จากไป คุณต้องให้อภัยตัวเอง มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำหรับการเรียนรู้ และส่งผ่านความรักให้กับตัวคุณเองเพื่อเป็นพลังบวกที่จะช่วยให้คุณดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X