ประเทศไทยเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งแล้ว และพวกเราจะต้องออกไปใช้สิทธิใช้เสียงกันอย่างพร้อมเพรียงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่ก่อนจะเดินทางไปถึงคูหา แน่นอนว่าเราเองย่อมได้รับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องนโยบายของพรรคต่างๆ ประเด็นเรื่องการยุบพรรค หรือประเด็นร้อนฉ่ามากมายที่เกิดขึ้น สิ่งที่พบเห็นคือเราต่างมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันไปเสียหมดทุกคนหรอก ซึ่งเจ้าสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิดเห็น’ นี่แหละ ที่สร้างความร้าวฉาน บาดหมาง และก่อให้เกิดเรื่องดราม่านับไม่ถ้วน
เราอยากให้คุณได้ลองสำรวจความสัมพันธ์ของคุณและคนรอบข้างในกรณีเรื่องการบ้านการเมืองว่าร้อนระอุมากขนาดไหน และเราสามารถโต้เถียงเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไรเพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่รอบตัวนั้นร้าวฉาน
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องในอุดมคติมากเกินไป แต่ถ้าคุณสามารถสร้างการโต้เถียงเรื่องการเมืองอย่างมีคุณภาพได้จริง ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่หรือ? ก่อนอื่นเราต้องยินยอมสิทธิพื้นฐานง่ายๆ ของมนุษย์ก่อนว่า เราต่างมีชุดความคิดและความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราควรเคารพในความคิดของทุกฝ่าย ไม่ว่าคุณจะมองว่ามันเป็นเรื่องถูกหรือเรื่องผิด จงเก็บไว้เป็นการตัดสินใจของคุณเอง และหลีกเลี่ยงการตัดสินคู่สนทนาว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นเป็นเรื่องผิด อย่าเพิ่งตั้งธงอคติไว้ล่วงหน้า
สิ่งที่คุณควรทำที่สุดในการพูดคุยเรื่องการเมืองคือ การรับฟัง ต่างคนควรต่างทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนใกล้ตัว คุณควรปล่อยให้เขาได้พูดสิ่งที่เขาคิดออกมาทั้งหมดก่อน รวมไปถึงถามเขาถึงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยไม่มีการตีตราหรือชี้นำ เช่น เพื่อนของคุณกำลังบอกว่าเขาชื่นชอบนโยบายของพรรค A มากแค่ไหน คุณเพียงปล่อยให้เขาพูดไป และพยายามถามหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงชื่นชอบนโยบายของพรรค A ก่อนที่คุณจะค่อยๆ เริ่มต้นเป็นผู้พูดบ้าง และผลัดกันพูด ผลัดกันฟัง
ตลอดระยะเวลาการสนทนา คุณควรสำรวจตัวเองอยู่เสมอ ว่าระหว่างโต้เถียงเรื่องการเมืองอยู่นั้น อารมณ์ในใจของคุณ น้ำเสียง และท่าทางการแสดงออกเป็นอย่างไร คุณควรเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังที่ดีเสมอ ฟังให้เยอะ และจงอย่าคิดหาคำตอบเพื่อโต้เถียงอีกฝ่ายทันที เพราะนั่นอาจไม่ใช่การโต้เถียงที่มีคุณภาพ หากคุณคิดแต่จะโต้แย้งความผิดพลาดของอีกฝ่ายอย่างไร ซึ่งก็พูดกันตามตรงว่า การเมืองไทยนั้นค่อนข้างรุนแรงและมีการแบ่งขั้วความคิดอย่างชัดเจน ฉะนั้นจงระมัดระวังการพูดคุยให้ดี รวมไปถึงท่าทางการแสดงออกและน้ำเสียงก็เป็นส่วนสำคัญ คุณอาจลองใช้น้ำเสียงเรียบๆ น่าฟัง ไร้อารมณ์รุนแรง เพื่อการสนทนาที่ลื่นไหล หรือทางดีที่สุด คุณอาจคุยเรื่องการเมืองให้กลายเป็นเรื่องสนุกก็ได้ ใส่อารมณ์ขันเข้าไปเพื่อไม่ให้ซีเรียสจนเกินไป ก็นับว่าเป็นลู่ทางที่น่าสนใจ
ช่วงวัยก็เป็นเรื่องสำคัญในการพูดคุยเรื่องการเมือง โดยเฉพาะหากเป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่มักมีปัญหา ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ หรือ Generation Gap ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของคนรุ่นปู่ย่า พ่อแม่ หรือลูกๆ หากครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง นั่นนับเป็นเรื่องดี แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนในครอบครัว ย่อมมีพื้นที่สำหรับอำนาจทางโครงสร้างเสมอ กล่าวคือ ไม่ว่าอย่างไรพ่อแม่ของเราก็มักยึดถือความคิดเห็นของตัวเองเป็นหลักเสมอ และคิดว่านั่นเป็นสิ่งถูกต้องที่สุดสำหรับทุกคนในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอยู่ในสถานะลูก คุณก็ต้องยินยอมรับอำนาจนั้นไปโดยปริยาย แต่ก็ไม่ใช่กับทุกครอบครัวหรอก ทางที่ดีที่สุดคือ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะไหนในครอบครัว เราควรแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา และยอมรับความแตกต่างทางความคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
แต่ถ้าคุณรู้สึกอึดอัดมากหรือกระอักกระอ่วนใจในการรับฟังการสนทนาที่รุนแรง เต็มไปด้วยอคติ หรือการสาดโคลน ไม่ว่าจะมาจากคนในครอบครัว คู่รัก หรือเพื่อน ลองคิดเสียว่าคุณกำลังพูดคุยอยู่กับ ‘คนแปลกหน้า’ ซึ่งการที่คุณคิดว่าคู่สนทนาของคุณเป็นคนแปลกหน้าที่คุณไม่รู้จัก คุณจะเกิดห้วงเวลาสักนิดที่จะคิดได้ว่า คุณควรโต้ตอบหรือมีปฏิกิริยากลับไปอย่างไรหากเขาไม่ใช่คนที่คุณรู้จัก เพราะถ้าหากการสนทนาเรื่องการเมืองของคุณเกิดกับคนสนิท คุณมักรู้จักนิสัยของเขาดีอยู่แล้วว่าพูดอะไรได้ หรือไม่ได้บ้าง และบางทีคุณก็อาจมีปฏิกิริยาโต้ตอบแบบอัตโนมัติทันทีด้วยความเคยชิน เช่น ‘ทำไมเธอคิดอย่างนั้นล่ะ’ ‘มึงคิดอย่างนั้นมันไม่ถูก’ ‘แกก็รู้ว่าพรรคนั้นมันแย่’ ซึ่งนั่นเป็นบ่อเกิดของอารมณ์รุนแรงในการสนทนาโดยไม่รู้ตัว
ท้ายที่สุดไม่ว่าคุณจะรักจะชอบพรรคไหน คุณสามารถเลือกสนับสนุนได้ตามแต่ปัจเจกชนจะเลือก เพราะสิทธิเหล่านั้นเป็นของคุณแต่เพียงผู้เดียว แต่นอกเหนือจากการใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ต้องอย่าลืมว่าทุกความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์ เพราะเชื่อเถอะว่าคุณคงไม่อยากให้เกิดความร้าวฉานกับคนรอบตัว เพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: