ส่งท้ายปี 2567 เชื่อว่ามีผู้มีรายได้จำนวนมากที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่งมาเร่งลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีกันช่วงปลายปี และหลายคนก็อาจจะไม่สามารถลงทุนลดหย่อนภาษีได้เต็มสิทธิ์ที่มี เพราะกว่าจะรู้ตัวก็เหลือเวลาไม่กี่วันแล้ว ขณะที่สภาพคล่องสำหรับนำไปลงทุนก็มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นในโอกาสก้าวเข้าสู่ปี 2568 SCB CIO จึงอยากชวนทุกคนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเริ่มต้นกันใหม่ วางแผนลงทุนกันตั้งแต่ต้นปี จะได้ใช้สิทธิ์กันได้เต็มที่
ทั้งนี้ มี 6 ประเด็นสำคัญที่อยากแนะนำกับผู้ที่ต้องการลงทุนลดหย่อนภาษี ดังนี้
- เวลาลงทุนต้องพิจารณาก่อนว่าเรารับความเสี่ยงได้ในระดับใด และผลิตภัณฑ์ลงทุนที่สนใจมีระดับความเสี่ยงสอดคล้องกับความสามารถที่เรายอมรับได้หรือไม่
- สิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี ข้อกำหนด และเงื่อนไขการลงทุนที่ผลิตภัณฑ์การลงทุนแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณารายละเอียดให้ดี
- เวลาที่เราลงทุนควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์การลงทุนเป็นหลัก อาทิ ลงทุนเพื่อเก็บเงินก้อนนี้ไว้ใช้ในวัยเกษียณ อย่ามองเพียงลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ แล้วก็จบไป
- หากอายุยังน้อย เริ่มต้นวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณเร็ว ก็จะมีระยะลงทุนที่นานเพียงพอสำหรับโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพื่อการเกษียณ เนื่องจากคนที่อายุยังน้อยมักจะมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากกว่า ในขณะที่คนที่อายุมาก เหลือเวลาลงทุนน้อยแล้ว ควรจะมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงลดลงมา
- ควรคำนึงถึงสภาพคล่อง และอาจใช้วิธีการทยอยลงทุน หรือ Dollar Cost Averaging (DCA) มาช่วย โดยที่ผ่านมาเรามักจะสนใจการลงทุนลดหย่อนภาษีกันในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น หากต้องการลงทุนให้เต็มสิทธิ อาจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก หากไม่ได้มีการลงทุนลดหย่อนภาษีมาก่อนเลยตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นก็อาจมีปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนให้เต็มสิทธิได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้มีเงินได้เป็นคนทำงานที่ได้รับเงินเดือน หรือพอจะทราบว่าแต่ละปีตนเองมีรายได้ประมาณเท่าไร คาดการณ์โบนัสได้ ก็สามารถนำไปคำนวณล่วงหน้าได้ว่าควรใช้เงินลงทุนเท่าไรสำหรับการลงทุนประเภทต่างๆ เพื่อลดหย่อนภาษี
หากเป็นไปได้แนะนำให้เริ่มต้นลงทุนลดหย่อนภาษีตั้งแต่ต้นปี อาจเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมเลยก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาลืมลงทุน โดยเฉพาะสำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีเงื่อนไขต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี โดยเว้นได้ไม่เกิน 1 ปี รวมทั้งอาจใช้วิธีการทยอยลงทุนเพื่อให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยที่เหมาะสม ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้และหุ้นที่มีความผันผวน โดยการทยอยลงทุนที่ดีควรทำทุกเดือน จะทำให้เราใช้เงินลงทุนที่ไม่มากจนเกินไปและเป็นการสร้างวินัยไปในตัว ขึ้นอยู่กับความสะดวกและกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนรายบุคคล
ทั้งนี้ หากไม่อยากลงทุนทุกเดือนก็สามารถประยุกต์ได้หลายวิธี เช่น กรณีที่มีเงินลงทุนจำนวนมาก อาจลองแบ่งเงินทยอยลงทุนไตรมาสละครั้ง รวมเป็น 4 ครั้งต่อปี หรือกรณีที่มีจำนวนเงินลงทุนไม่มาก อาจแบ่งลงทุน 2 ครั้งหรือทุกครึ่งปีก็ได้
- ลงทุนไปแล้วต้องบริหารจัดการเงินลงทุนระหว่างทางด้วย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แทนที่จะลงทุนแล้วปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ทำอะไร โดยผู้ลงทุนสามารถบริหารจัดการเงินลงทุนลดหย่อนภาษีได้ด้วยเครื่องมือ ‘การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน’ หรือ Switching แทนที่จะต้องขายหน่วยลงทุนออกไปก่อนกำหนด ซึ่งถือเป็นการผิดเงื่อนไขการลงทุนลดหย่อนภาษี แต่การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนต้องทำภายใต้กองทุนลดหย่อนภาษีประเภทเดียวกันเท่านั้น เช่น สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนระหว่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วยกัน หรือระหว่างหน่วยลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ด้วยกัน ไม่สามารถสับเปลี่ยนข้ามประเภทกองทุนได้ เพราะจะถือเป็นการขายออกและผิดเงื่อนไขการลงทุนลดหย่อนภาษี
สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม RMF แนะนำว่าผู้ลงทุนควรลงทุนผ่านกองทุน RMF ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ใด บลจ. หนึ่งไปเลย เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการพิสูจน์ในช่วงที่ขายคืนหน่วยลงทุนว่ามีการซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปีตามเงื่อนไข เนื่องจาก บลจ. ต่างๆ อาจไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ลงทุนร่วมกัน สมมติปีนี้ลงทุน RMF บลจ.เอ จากนั้นอีก 2 ปีถัดไปเปลี่ยนไปลงทุนผ่าน บลจ.บี ก็อาจทำให้ บลจ.เอ ซึ่งไม่มีข้อมูลที่เราไปลงทุนผ่าน บลจ.บี มองว่าการลงทุน RMF ของเราผิดเงื่อนไขได้
นอกจากนี้การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุนประเภทเดียวกันใน บลจ. เดียวกัน ก็จะมีความยุ่งยากน้อยกว่าและมีความล่าช้าในการขายหน่วยลงทุนต้นทาง เพื่อนำเงินเข้าไปลงทุนในกองทุนปลายทางน้อยกว่าการดำเนินการข้าม บลจ.
ในส่วนของมุมมองการลงทุนจาก SCB CIO ที่ผู้ลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการเลือกลงทุนกองทุน RMF ตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้น เรามองว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม 2568 หากไม่มีเหตุไม่คาดคิด ซึ่งจะมีมาตรการทั้งที่ส่งผลบวกและลบต่อการลงทุนออกมา โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม เรามองว่านโยบายกีดกันทางการค้าในสมัยที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง (ทรัมป์ 2.0) อาจไม่ได้รุนแรงเมื่อเทียบกับสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีครั้งก่อน (ทรัมป์ 1.0) เพราะทรัมป์คงต้องพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนี้ทรัมป์อาจนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Go Green) มาปัดฝุ่น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าทรัมป์คงไม่ถึงขั้นยกเลิกกฎหมาย เพียงแต่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลง
และยังมีประเด็นเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอลง โดยในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี SCB EIC เคยคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2568 เติบโต 2.8% มากกว่าปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.7% แต่หลังผลการเลือกตั้งออกมา ในเดือนพฤศจิกายน 2567 SCB EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2568 เติบโตลดลง เหลือ 2.5% รวมทั้งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจประเทศหลักอื่นๆ มีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงประมาณการเท่ากับเดือนกันยายนที่ 1.9% สะท้อนตลาดที่ให้ความสำคัญกับนโยบายกีดกันการค้ามาก
อย่างไรก็ตาม หลังทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเต็มตัววันที่ 20 มกราคม 2568 คงต้องมาติดตามกันอีกครั้งว่าทรัมป์จะออกนโยบายอะไรเซอร์ไพรส์ตลาดหรือไม่
ในด้านเทรนด์ดอกเบี้ยนโยบายโดยรวมจากธนาคารกลางทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาลงอยู่ ยกเว้นญี่ปุ่นที่อยู่ในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพียงแต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะทำได้ช้า เพราะเงินเฟ้ออาจปรับลดลงยาก โดยต้องจับตาการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นหลัก ซึ่งเดิมตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2568 แต่หลังจากการประชุมเดือนธันวาคม 2567 ที่ Fed ออกมาเผยมุมมองล่าสุด ตลาดก็ปรับคาดการณ์ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยแค่เพียง 2 หรือ 3 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า Fed
ด้านความเสี่ยงที่มาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงอยู่ แต่ตลาดคาดการณ์ว่าหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ประเด็นนี้น่าจะเบาบางลงไปบ้าง โดยเฉพาะความขัดแย้งใน 2 พื้นที่ ได้แก่ รัสเซีย-ยูเครน ที่เดิม สมัย โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ มีบทบาทเข้าไปสนับสนุนเงินทุนให้ยูเครนต่อสู้กับรัสเซีย แต่หลังทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอาจยกเลิกการสนับสนุนเงินทุนยูเครน แล้วเน้นให้เกิดการเจรจามากขึ้นก็ได้ ส่วนอีกพื้นที่ก็คือสงครามอิหร่าน-อิสราเอลที่ยืดเยื้อและคุกรุ่นอยู่ หากสหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเจรจาได้ ก็จะเป็นผลดีกับการลงทุน
ทั้งนี้ แม้จะมีความท้าทายซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนกังวล แต่เราแนะนำให้ลงทุนต่อเนื่อง (Stay Invested) โดยในส่วนของ RMF ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว เราแนะนำให้กระจายความเสี่ยงลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ในสัดส่วนที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ เพื่อให้พอร์ตมีเสถียรภาพ
สำหรับการลงทุนตราสารหนี้ ให้เน้นตราสารหนี้ระยะไม่ยาวเพียง 2-4 ปี เพราะตราสารหนี้ระยะยาวอาจได้รับผลกระทบจากประเด็นที่สหรัฐฯ มีหนี้มาก และนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ อาจทำให้ต้องมีการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจทำให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้ระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น
ในส่วนของหุ้น สำหรับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (Develop Market: DM) เรายังคงแนะนำให้โฟกัสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากกระแสการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ยังคงมีต่อเนื่อง และตลาดยังคงมองว่าแม้ราคาหุ้นสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาสูงแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสไปต่อได้ ดังนั้นอาจใช้โอกาสที่ตลาดปรับฐานหรือขายทำกำไรในการเข้าไปทยอยลงทุนสำหรับกองทุน RMF ที่มีระยะเวลาลงทุนยาวได้ ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 พอสมควร แต่ก็ยังมีโอกาสการลงทุนระยะยาวอยู่ในตลาดหุ้นจีน A-Share ตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนบางท่านอาจเคยลงทุนในหุ้นไทยผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เอาไว้ และครบกำหนดสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในปี 2568 แต่ว่ากองทุนที่ลงทุนยังขาดทุนอยู่ จึงไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรกับเงินส่วนนี้ดี แนะนำว่าให้ผู้ลงทุนมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแบบภาพรวมทั้งหมด โดยรวมข้อมูลการลงทุนใน LTF เข้ากับการลงทุนในหุ้นไทยผ่านกองทุนลดหย่อนภาษีทุกประเภท เพื่อพิจารณาต้นทุนเฉลี่ยจากการลงทุนทั้งหมด ซึ่งอาจได้รับผลตอบแทนเป็นบวกหรือไม่ขาดทุนก็เป็นไปได้
โดยกรณีที่ผู้ลงทุนไม่รีบใช้เงินจากการขายคืนหน่วยลงทุนกองทุน LTF ที่ครบกำหนด ก็สามารถถือต่อไปได้ หรือหากมองว่าโอกาสการลงทุนปี 2568 อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจขายคืนแล้วนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แทนได้
โดยรวมแล้วหากเราวางแผนเนิ่นๆ ตั้งแต่ต้นปีสำหรับการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในแต่ละปีภาษี กระจายลงทุนสินทรัพย์หลากหลาย โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากโอกาสที่มองเห็นในช่วงเวลานั้น และบริหารจัดการพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมด้วยเครื่องมือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน เพียงเท่านี้เราก็จะได้ประโยชน์จากการลงทุนแบบคุ้มๆ ทั้งลดหย่อนภาษีและโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี เพื่อวัตถุประสงค์การลงทุนที่เราต้องการครับ
คำเตือน:
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุน กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษีจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
- เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด และแอป SCB EASY หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
ภาพ: Seksan Mongkhonkhamsao / Getty Images