×

เข้าใจงบการเงินแบบอ่านง่าย ใช้ได้จริง ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นลงทุน

โดย MAYBANK KIM ENG
16.11.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หนึ่งในเรื่องที่นักลงทุนควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทที่กำลังสนใจคือ การอ่านงบการเงินให้เป็น เพื่อจะได้เห็นผลประกอบการ ทิศทาง และแนวโน้มที่บริษัทเหล่านั้นกำลังจะเดินไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
  • บทความนี้จะชวนคุณมาเจาะงบการเงินแบบเข้าใจง่าย นำไปปรับใช้ได้จริง ก่อนตัดสินใจลงทุน

หนึ่งในเรื่องที่นักลงทุนควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทที่กำลังสนใจคือ การอ่านงบการเงินให้เป็น เพื่อจะได้เห็นผลประกอบการ ทิศทาง และแนวโน้มที่บริษัทเหล่านั้นกำลังจะเดินไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

โดยบทความนี้จะชวนคุณมาเจาะงบการเงิน โดยการวิเคราะห์ทางการเงินมี 2 แนวทาง คือ

 

  1. การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative) คือการวิเคราะห์ที่จะทำให้เราเห็นภาพของธุรกิจหรือบริษัทที่เราสนใจมากขึ้น เช่น ขนาดของธุรกิจ ความหลากหลายของสินค้า วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร กลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของบริษัท ซึ่งจะทำให้คุณได้ความรู้สึกเชิงบวกหรือลบต่อบริษัท 

 

  1. การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative) คือการวิเคราะห์ทางการเงินที่เอาไว้วัดค่าตัวเลขทางการเงิน ทำให้เราเห็นภาพลึกเข้าไปอีกของบริษัทที่เราสนใจที่จะลงทุน เช่น ปีนี้มีรายได้เท่าไร เติบโตจากปีที่แล้วเท่าไร เมื่อเทียบเคียงกับคู่แข่งแล้วบริษัทนั้นดีกว่าหรือแย่กว่ามากน้อยแค่ไหน โดยสะท้อนผ่านตัวเลข ทำให้เราวัดค่าได้ง่าย สะท้อนผ่านงบการเงิน (Financial Statement)

 

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับการเลือกกินอาหารบุฟเฟต์ 2 ร้านที่เสิร์ฟอาหารประเภทเดียวกัน ระยะเวลาการกินเท่ากัน อยู่ในห้างเหมือนกัน ซึ่งคงยากจะตัดสินใจว่าจะเลือกกินร้านไหน แต่ถ้ามีราคามาช่วยตัดสิน ก็คงจะทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้นว่าจะอิ่มอร่อยกับร้านไหนดี

 

นอกจากแนวทางของการวิเคราะห์แล้ว ยังมีเรื่องประเภทของงบการเงินที่นักลงทุนควรรู้อีกด้วย โดยงบการเงินที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

 

  1. งบแสดงฐานะทางการเงิน หรืองบดุล (Balance Sheet) เป็นงบการเงินส่วนที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของบริษัท โดยจะกล่าวถึงสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ เราจะได้เรียนรู้ว่าโครงสร้างทางการเงินของบริษัทนั้นมาจากไหน บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนดีแค่ไหน มีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน

 

  1. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรืองบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นงบการเงินที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทว่ามีรายได้และค่าใช้จ่ายเท่าไร มีกำไรเหลือเท่าไร เป็นงบที่ช่วยชี้วัดว่าบริษัทที่เราสนใจจะได้ไปต่อหรือไม่

 

  1. งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) เป็นงบการเงินที่แสดงถึงการรับมาและจ่ายไปของเงินสด (Cash in Flow และ Cash Out Flow) โดยงบกระแสเงินสด เกิดขึ้นจาก 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมดำเนินงาน (Operating Cashflow) กิจกรรมลงทุน (Investing Cashflow) และกิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Cashflow)

 

แล้วงบการเงินทั้ง 3 ประเภทนี้ เราจะประยุกต์ใช้ได้อย่างไร

 

อย่างแรกที่เราควรรู้คือ ฟังก์ชันของงบการเงินแต่ละประเภท ที่จะทำให้เรารู้ว่าจุดแข็งของบริษัทนั้นๆ คืออะไร ใช้วิเคราะห์ในเรื่องไหนเป็นหลัก และเคล็ดลับการเลือกหุ้นผ่านงบการเงินแต่ละส่วน

 

  1. งบแสดงฐานะทางการเงิน ช่วยให้เห็นปัจจุบันของบริษัท ความมั่นคง โครงสร้างทางการเงินว่าเงินที่ใช้ดำเนินกิจการมาจากไหน กู้มาเยอะ หรือใช้เงินของบริษัท ถ้าเทียบกับมนุษย์เราก็คือ ฐานะทางบ้านว่ามีทรัพย์สินเท่าไร มีเงินสดเท่าไร มีหนี้สินเยอะไหม ต้องผ่อนอะไรบ้าง

 

เคล็ดลับ: ให้เน้นไปที่การดูโครงสร้างทางการเงินของบริษัทว่ามีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน มั่นคงแค่ไหน อาทิ ค่า D/E Ratio บ่งบอกว่าบริษัทมีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน ยิ่งค่าน้อยแสดงว่าบริษัทมีหนี้สินน้อยและปลอดภัยที่จะลงทุน

 

  1. งบกำไรขาดทุน: ช่วยให้เห็นผลการดำเนินงานของบริษัทว่าปีนี้หรือปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง มีรายได้ และรายจ่ายเยอะแค่ไหน ต้นทุนมากไปไหม อัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับที่ดีไหม สุดท้ายคือได้กำไรสุทธิเท่าไร ถ้าเทียบกับคนทั่วไปก็เหมือนเงินเดือนหรือรายได้ที่เราหาได้ในแต่ละปี หักลบค่าใช้จ่ายทั้งปี เหลือเงินเก็บเท่าไร ทำให้ฐานะที่บ้านดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

เคล็ดลับ: ให้เน้นไปที่การดูรายได้ที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ลดลง และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น (เน้นคำว่า เพิ่มขึ้น) ซึ่งจะสะท้อนออกมาในค่าอัตราส่วนทางการเงินจำพวก Gross Profit Margin (อัตราส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี) และ Net Profit Margin (ถ้าพูดง่ายๆ คืออัตรากำไรที่หักค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบริษัทแล้วเหลือเท่าไร) เพื่อดูถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมว่าเป็นอย่างไร ค่ายิ่งเพิ่มยิ่งดี สะท้อนว่ากำไรดี

 

  1. งบกระแสเงินสด: จะช่วยให้เห็นเฉพาะกระแสเงินสดว่าเงินไหลเข้าไหลออกมากน้อยแค่ไหน เพราะทางการเงินจะมีตัวเลขค่าเสื่อมที่บางครั้งเงินอาจจะไม่เข้าออกจริงๆ เลยต้องมีงบกระแสเงินสดมาช่วยให้เห็น

 

เคล็ดลับ: เน้นไปที่ Operating Cashflow ว่าธุรกิจดำเนินกิจการแล้ว หลังหักค่าใช้จ่ายมีเงินสดเหลือไหม มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางที่ดีควรเป็นบวกหรือเพิ่มมากขึ้น 

 

พูดถึงหลักการในการวิเคราะห์กันบ้างว่าจะเปรียบเทียบงบการเงินหรืออัตราส่วนทางการเงินอย่างไร โดยการเปรียบเทียบมี 2 วิธี ดังนี้

 

  1. เปรียบเทียบกับผลงานในอดีตของกิจการของตัวเองว่ามีผลงานดีขึ้นหรือแย่ลงมากน้อยแค่ไหน ค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

 

  1. เปรียบกับคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน (ย้ำว่าในอุตสาหกรรมเดียวกัน) เช่น ธุรกิจที่เราสนใจอยู่ในกลุ่มค้าปลีก เราก็ต้องเอาค่าอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกเหมือนกัน จะนำไปเทียบกับกลุ่มพลังงานหรือธนาคารไม่ได้เด็ดขาด

 

หวังว่านักลงทุนทุกท่านจะได้ความรู้ในการแกะงบการเงิน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้

 

สำหรับท่านนักลงทุนที่มีความสนใจหรือต้องการคำแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติมจากทีมผู้แนะนำการลงทุนมืออาชีพ สามารถติดต่อมาได้ที่ทีม Investment Management ของ Maybank Kim Eng Thailand โทรศัพท์ 0 2658 5050 หรือ Email: [email protected]

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนเท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising