“ปีใหม่เริ่มแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกกับงานเหมือนเดิม?”
นี่เป็นคำพูดที่อาจจะตรงกับความรู้สึกของใครบางคนในช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2025
คำกล่าวข้างต้นเป็นของ Elizabeth Grace Saunders นักเขียนและซีอีโอของ Real Life E บริษัทที่โค้ชชิ่งการบริหารจัดการเวลา ที่กำลังสื่อสารกับกลุ่มพนักงานที่รู้สึกติดกับความรู้สึกเดิม
แม้ว่าคนทำงานกลุ่มนี้จะอยากรู้สึกตื่นเต้นกับปีใหม่ แต่เมื่อมองไปข้างหน้าก็ดูไม่มีอะไรที่จะทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมได้เลย การเลื่อนตำแหน่งก็ยังไม่มีวี่แวว โปรเจกต์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาหา คำถามที่ตามมาคือ ‘แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปลุกไฟให้กับตัวเองในการทำงานปี 2025?’
Elizabeth แชร์ 4 เทคนิคที่ช่วยให้ลูกค้าที่ทำงานด้วยกลับมามีแรงจูงใจในงานได้อีกครั้ง แม้ในช่วงเวลาที่พวกเขาเกือบจะหมดไฟ
1. ขอบคุณสิ่งดีๆ ที่มีอยู่กับตัว
บางครั้งเราอาจหมกมุ่นอยู่กับปัญหาในงานจนลืมจุดดีของมันไป
ลองคิดถึงสิ่งรอบตัวในงานที่ทำให้เรายิ้มได้ เช่น การที่เราสามารถทำงานจากที่บ้านได้สองวันต่อสัปดาห์ หรือเรามีเพื่อนร่วมงานที่ดี หรือแค่กาแฟ-ขนมฟรีในโซนที่พักของออฟฟิศ
ลองพูดหรือเขียนสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณในงานอย่างน้อยสามข้อทุกเช้า
แต่ถ้าหาสิ่งที่ชื่นชมไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยก็ขอบคุณที่เรายังมีแหล่งรายได้ เพราะการไม่มีเงินหรือสวัสดิการใดๆ ก็อาจเป็นตัวสร้างความเครียดที่แย่กว่าได้
2. จัดการตารางเวลาให้ดีขึ้น
บางทีเราก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงขอบเขตงานที่รับผิดชอบได้มากนัก แต่เราสามารถยกระดับการบริหารเวลาของตนเองให้เหมาะสมกับตัวของเราได้
หากเราต้องทำงานนานเกินเวลา เราอาจลองฝึกวางแผนงาน จัดลำดับความสำคัญ และตัดสิ่งรบกวนออกไปหรือให้มีน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถเลิกงานตรงเวลาและไม่ต้องกลับไปทำงานอีกในตอนกลางคืน
หากเราจัดการเวลาได้ดีอยู่แล้ว ลองดูว่าเราแบ่งเวลาเพื่อให้กับสิ่งสำคัญอื่นในชีวิตได้อีกหรือไม่ เช่น การออกกำลังกายตอนพักกลางวัน หรือเลิกงานไปใช้เวลากับลูกมากขึ้น
การมีแรงจูงใจที่มาจากตัวเราเองจะช่วยทำให้งานดูเหมือน ‘เกม’ และช่วยลดความรู้สึกหนักๆ ลงได้
3. สร้างโอกาสการเติบโต
ในเกือบทุกสถานการณ์ เราสามารถสร้างโอกาสการเรียนรู้และเติบโตในแบบของเราได้
ยกตัวอย่างเช่น เราอาจลองหาโอกาสว่ามีโปรเจกต์ที่เราสามารถเข้าไปร่วมช่วยงานเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือไม่ เราอาจขอผ่านเพื่อนร่วมงานในแผนกอื่น
แต่หากการพัฒนาในงานปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือกที่ตอบโจทย์ เราอาจลองมองหาช่องทางอื่น เช่น การเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ หรือสมัครเรียนคอร์สเพื่อเสริมทักษะ หรือแม้กระทั่งสมัครเรียนระดับบัณฑิตศึกษา
เพราะโอกาสในการพัฒนาตัวเองนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
4. กล้าขอในสิ่งที่ต้องการ
บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในงานของเราอาจสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในความรู้สึกและแรงจูงใจการทำงาน
ลองใช้เวลาคิดว่ามีอะไรที่เราต้องการเพิ่มในบทบาทการทำงานในปัจจุบัน จากนั้นลองขอสิ่งที่เราต้องการ
ตัวอย่างเช่น:
- การมีที่ปรึกษา: ขอให้มีการประชุมแบบตัวต่อตัวกับหัวหน้าหรือผู้นำคนอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเน้นพัฒนาวิชาชีพ แทนการมุ่งให้งานเสร็จไปวันๆ
- แผนพัฒนาตัวเอง: ขอคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับแผนพัฒนาตัวเองว่าในอีก 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เราวางเป้าร่วมกันไว้อย่างไร และเราต้องทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้
- ความยืดหยุ่น: บางทีเราอาจต้องการเลิกงานเร็วหนึ่งวันต่อสัปดาห์เพื่อเข้าคลาสเรียนหรือใช้เวลากับลูก เราอาจขอปรับเปลี่ยนตารางเวลาได้ โดยเฉพาะถ้าเรามีแผนสำรองชัดเจนว่าเราจะชดเชยเวลาเหล่านั้นอย่างไร
อย่าปล่อยให้ปีใหม่ผ่านไปโดยที่ยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรใหม่ๆ แค่เรามีทัศนคติที่ถูกต้อง เราก็จะสามารถมีแรงจูงใจในการทำงานเพิ่มขึ้นในปี 2025 ได้
อ้างอิง: