จากรายงานข่าวการลักลอบเก็บสะสม ‘กากแคดเมียม’ และ ‘สังกะสี’ จำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ เริ่มตั้งแต่โรงงานจังหวัดสมุทรสาคร โกดังจังหวัดชลบุรี และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน พบที่บริษัทกลางเมืองย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะกากของเสียอุตสาหกรรมมีความเป็นอันตรายสูง หากจัดเก็บไม่ถูกต้องอาจกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ทั้งระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง
THE STANDARD รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของแคดเมียม ตลอดจนวิธีป้องกันตัวเองเมื่ออยู่ใกล้พื้นที่ที่มีการเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมไว้ ดังนี้
แคดเมียม (Cadmium): แร่โลหะหนัก ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะเพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน เป็นสารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก ในการทำเหมืองสังกะสีจะได้แคดเมียมเป็นผลตามมา
วิธีเก็บรักษา: เก็บในรูปแบบของแข็งในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด
การเข้าสู่ร่างกาย:
- ทางผิวหนัง ผ่านการสัมผัส
- ทางจมูก ด้วยการหายใจ สูดดมฝุ่นละอองที่ปนเปื้อน
- ทางปาก ด้วยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน
เมื่อสัมผัส:
- อาการแบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และคอ
- อาการเรื้อรัง (สัมผัสเป็นเวลานาน) เกิดพังผืดที่ปอด พิษต่อไต โรคกระดูก (โรคอิไต-อิไต) โรคมะเร็ง
เมื่ออยู่บริเวณใกล้เคียง:
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตพื้นที่โรงงาน
- หากสูดดมให้รีบไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์
- หากเข้าตารีบล้างด้วยน้ำสะอาดและพบจักษุแพทย์
- หากเผลอกลืนกินรีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว
- หากมีอาการผิดปกติรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
อ้างอิง:
- กรมควบคุมโรค, กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กทม. ประกาศพื้นที่อันตรายโรงงานลักลอบเก็บ ‘กากแคดเมียม’ ย่านบางซื่อ
- ตำรวจแจงผลการติดตามกากแคดเมียม 15,000 ตัน พร้อมออกหมายเรียกเจ้าของโรงงาน จ.สมุทรสาคร
- เสียงสะท้อนภาคประชาชนต่อการลักลอบขนย้าย กาก ‘แคดเมียม’ บทพิสูจน์การแก้ปัญหาที่ต้องใช้ปัญญา