×

คิดงานไม่ออก ทำงานไฟลนก้นตลอด จะทำอย่างไรดีครับ?

07.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read

 

  • เราต้องแบ่งปัญหาเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง เรื่องการบริหารจัดการเวลา สอง เรื่องการมีความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดีย สองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่นะครับ ถ้าเราบริหารจัดการเวลาได้ดี เราจะมีเวลาให้ความคิดสร้างสรรค์ตกผลึก ขณะเดียวกัน ถ้าเราอยู่ในสภาพที่ความคิดสร้างสรรค์พร้อมจะเบ่งบานได้ เราก็จะไม่เสียเวลามาก เราจะบริหารจัดการเวลาได้ดี 
  • ที่สำคัญต้องกำหนดเวลาหรือมีเดดไลน์ย่อยๆ ในแต่ละกระบวนการตั้งแต่ต้นจนงานเสร็จสิ้น และต้องเคารพในเดดไลน์นั้น ปัญหาที่คนทำงานมักเจอคือการทำงานที่ช้ากันเป็นโดมิโน พอคนหนึ่งเลต ส่วนอื่นๆ ที่ตามมาก็จะเลตตามกันหมด สุดท้ายได้งานที่ไม่ทันกำหนดเวลา ตรงนี้ผมคิดว่าทางทีมต้องคุยกันว่าจะทำงานอย่างไรให้นึกถึงใจกันและกันให้ได้มากที่สุด 
  • ผมแนะนำว่าให้สร้างตารางที่บอกสเตตัสของงานตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกำหนดเดดไลน์แต่ละส่วนไว้ ระบุว่าใครรับผิดชอบ ถ้าช้าตรงไหน ติดขัดตรงไหน ทุกคนจะได้รู้ รู้อย่างเดียวไม่พอ ทุกคนต้องช่วยเหลือกันได้ เพราะการช่วยเหลือคนอื่น สุดท้ายก็คือการช่วยตัวเราให้ได้งานที่ทันและมีคุณภาพไปด้วยในตัว

 

Q: มีปัญหาอยู่บ่อยๆ ว่าคิดงานไม่ออกเสียที เดดไลน์จี้มาแล้ว แต่ก็ไม่มีไอเดีย รู้สึกอายว่าบางทีก็ต้องส่งงานที่ยังไม่ดีที่สุดไปเพื่อให้ทันกำหนด จะทำอย่างไรให้คิดงานออกโดยที่ยังอยู่ในไทม์ไลน์ได้ครับ

A: น่าดีใจอย่างหนึ่งว่าคุณรู้ตัวว่าปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยและอยากจะแก้ไข ที่บอกว่าน่าดีใจเพราะคุณรู้สึกว่าน่าจะทำงานได้ดีกว่านี้ คุณไม่สบายใจที่ตัวเองส่งงานที่ไม่มีคุณภาพออกไปเพียงเพื่อให้ทันเดดไลน์ ซึ่งมันไม่ดีทั้งต่อตัวองค์กรที่ได้รับผลงานที่น่าจะมีคุณภาพดีกว่านี้ และไม่ดีต่อตัวคุณเองด้วยที่ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ แต่ทั้งหมดทั้งมวล เรื่องดีคือคุณรู้ตัวและอยากแก้ไข ไม่ใช่ทุกคนนะครับที่จะรู้สึกละอายที่ตัวเองยังทำงานได้ไม่ดีพอและรู้สึกว่ากำลังเอาเปรียบบริษัทอยู่ ผมจึงคิดว่านี่เป็นก้าวที่ดีมากในการแก้ไขปัญหาตรงที่ตัวคุณเองนี่ล่ะที่อยากลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเอง

ธนา เธียรอัจฉริยะ หัวหน้าของผม ใช้คำว่า “ทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ทำงานเสร็จ” สองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอยู่นะครับ ทำงานเสร็จแปลว่าทันเดดไลน์ หรือได้รับมอบหมายอะไรมาก็ทำงานนั้นให้เสร็จ แต่ทำงานให้สำเร็จนั้นครอบคลุมไปถึงคุณภาพของงานนั้นด้วย ไม่ใช่แค่ว่าทำเสร็จอย่างเดียว แต่ผลงานก็ออกมาดีตรงตามวัตถุประสงค์ด้วย ถ้าเป็นกรณีของคุณก็คือไม่ใช่แค่คิดงานออกให้ทันเวลา แต่คิดงานที่มีคุณภาพออกมาให้ทันเวลา

คนชอบบอกว่าเดดไลน์นี่ล่ะทำให้เกิดไอเดีย เพราะเวลาไฟลนก้นแล้วตัวเราจะดึงพลังที่ซ่อนอยู่ออกมา ไอเดียจะกระฉูดขึ้นมาทันที เพราะมีความกดดันเป็นตัวผลักดัน ในเรื่องนี้ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ไม่ทั้งหมด ที่แน่ๆ คือมีเดดไลน์แล้วงานเสร็จแน่ล่ะ เพราะเดดไลน์เป็นจุดตัดว่าต้องส่งงานแล้ว ไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะคิดงานไปเรื่อยเปื่อยไม่มีที่สิ้นสุดเสียที แต่พอมีกรอบด้านเวลาเข้ามาปุ๊บ มันมีจุดตัดว่าต้องพอแค่นี้แล้ว บางคนก็มีธรรมชาติในการทำงานแบบนี้นะครับ คือทุกอย่างมาเรียบร้อยเอาตอนใกล้จะส่ง บางคนทำงานได้ดีเลยล่ะ แม้จะเฉียดเดดไลน์ให้ใจหายใจคว่ำ แต่ผมก็คิดว่าเราหงายการ์ดส่งงานคุณภาพเอาแบบเฉียดฉิวทุกครั้ง ทีมงานรอบข้างตัวเราก็กดดันไปด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเรากดดันคนเดียว และการที่งานมาเสร็จเอานาทีสุดท้ายนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีอะไรต้องแก้ไข ไม่มีอะไรผิดพลาด เมื่อไม่มีเวลาให้เผื่อตรวจทานหรือปรับปรุง งานที่ออกไปก็อาจจะไม่มีคุณภาพอย่างที่เราตั้งเป้าไว้ก็ได้ งานเสร็จแน่ล่ะ แต่สำเร็จไหมต้องลุ้นอีกที

เท่าที่ฟังปัญหา ผมคิดว่าเราต้องแบ่งปัญหาเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง เรื่องการบริหารจัดการเวลา สอง เรื่องการมีความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดีย สองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่นะครับ ถ้าเราบริหารจัดการเวลาได้ดี เราจะมีเวลาให้ความคิดสร้างสรรค์ตกผลึก ขณะเดียวกันถ้าเราอยู่ในสภาพที่ความคิดสร้างสรรค์พร้อมจะเบ่งบานได้ เราก็จะไม่เสียเวลามาก เราจะบริหารจัดการเวลาได้ดี

ถ้ารู้สึกว่าไฟลนก้นทุกครั้งเวลาทำงาน แสดงว่าเราบริหารจัดการเวลาได้ไม่ดีเท่าไร อาจจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ งานไหนต้องใช้เวลามาก งานไหนต้องใช้เวลาน้อย งานไหนมีเวลาทำมาก งานไหนมีเวลาทำน้อย ปัญหาส่วนใหญ่ของการบริหารจัดการเวลาเกิดจากการที่เราให้งานทุกอย่างสำคัญไปหมด ทั้งๆ ที่แต่ละงานไม่ได้สำคัญเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าแต่ละงานต้องทำงานแบบไหน

ที่สำคัญคือต้องกำหนดเวลาหรือมีเดดไลน์ย่อยๆ ในแต่ละกระบวนการตั้งแต่ต้นจนงานเสร็จสิ้น และต้องเคารพในเดดไลน์นั้น ปัญหาที่คนทำงานมักเจอคือการทำงานที่ช้ากันเป็นโดมิโน พอคนหนึ่งเลต ส่วนอื่นๆ ที่ตามมาก็จะเลตตามกันหมด สุดท้ายได้งานที่ไม่ทันกำหนดเวลา ตรงนี้ผมคิดว่าทางทีมต้องคุยกันว่าจะทำงานอย่างไรให้นึกถึงใจกันและกันให้ได้มากที่สุด ไม่มีใครอยากจะทำงานแบบต้องมาตะบี้ตะบันทำในนาทีสุดท้าย ทุกคนอยากทำงานออกมาให้ดี อยากรับผิดชอบงานของตัวเอง เพราะสุดท้ายมันคือผลงานของพวกเราทุกคน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการตกลงกันในทีม ช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้แต่ละส่วนสามารถส่งงานที่มีคุณภาพได้ทันเวลา

ผมแนะนำว่าให้สร้างตารางที่บอกสเตตัสของงานตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกำหนดเดดไลน์แต่ละส่วนไว้ ระบุว่าใครรับผิดชอบ ถ้าช้าตรงไหน ติดขัดตรงไหน ทุกคนจะได้รู้ รู้อย่างเดียวไม่พอ ทุกคนต้องช่วยเหลือกันได้ เพราะการช่วยเหลือคนอื่น สุดท้ายก็คือการช่วยตัวเราให้ได้งานที่ทันและมีคุณภาพไปด้วยในตัว ถ้าทุกคนรู้ว่าสถานการณ์การทำงานตอนนี้เป็นอย่างไร ผมคิดว่าทุกคนน่าจะพอเห็นว่าต้องแก้ไขตรงไหน ต้องช่วยกันอย่างไร เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียวที่ต้องแก้ไข มันต้องแก้ไขทั้งทีม

เมื่อมีเวลาพอ ไฟไม่ลนก้นมาก เราก็จะมีเวลาในการให้สมองตกผลึกความคิดดีๆ เราจะไม่เครียดมาก ที่สำคัญคือมีเวลาในการตบไอเดียให้ดีขึ้น ไม่ใช่คิดอะไรก็เอาแบบนั้นเลย อย่างน้อยเรามีเวลาในการสำรวจว่าไอเดียนั้นดีพอหรือยัง พัฒนาไปทางไหนได้ต่อ หรือมีรูรั่วตรงไหนที่เราต้องอุด ไปจนถึงการเผื่อเวลาให้ลองได้โยนไอเดียนั้นกับคนอื่นหรือได้ไปทดลองเบื้องต้น เอาไอเดียเราไปทดลองสักหน่อยว่ามันเวิร์กจริงไหม ไม่ใช่คิดว่าทุกอย่างมันจะเวิร์กจากสัญชาตญาณหรือการคาดเดาของเราอย่างเดียว ส่วนหนึ่งผมคิดว่าการมีเวลาเผื่อให้ได้ทดลองความคิดสร้างสรรค์ที่เรามีเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะฉะนั้นการบริหารเวลาจึงเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ และส่งให้ทั้งสองอย่างมีประสิทธิภาพเอื้อกันและกัน

สังเกตไหมครับว่าไอเดียดีๆ มักจะมาเมื่อเราไม่ได้ตั้งใจ คือมาเมื่อเรามีความสุข ผ่อนคลาย สบายใจ สมองเราทำงานได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในภาวะผ่อนคลายครับ อาจจะต้องหาให้เจอว่าเวลาแบบไหนที่สมองเราผ่อนคลายจังเลย ตอนนั้นล่ะที่ไอเดียจะมา บางคนคือตอนอาบน้ำ ของผมเป็นตอนออกกำลังกาย บางคนเป็นตอนนอน บางคนเป็นหลังตื่นนอน บางคนเป็นตอนอยู่เงียบๆ บางคนเป็นตอนฟังเพลง บางคนเป็นระหว่างขับรถ สร้างบรรยากาศให้สมองผ่อนคลายที่สุด มันจะทำงานได้ดีที่สุดตอนนั้นครับ

ถ้าสมองเราเครียดหรือเพิ่งผ่านสมรภูมิการใช้งานมาอย่างหนักหน่วง ผมแนะนำว่าต้องพัก หยุดคิดเรื่องงานก่อน วางเรื่องงานไปเลย (แต่ให้รู้ว่าเดี๋ยวต้องกลับมาทำใหม่นะ) นอนพักสักครู่ให้สมองได้พักผ่อนก่อน พอสมองได้พัก เดี๋ยวไอเดียจะมาเอง

ถ้าคิดคนเดียวไม่ออก ผมชอบใช้วิธีการคุยกับคนอื่นหรือ Brainstorm ต้องบอกแบบนี้ว่าบางครั้งการ Brainstorm อาจจะไม่ได้ให้คำตอบสุดท้ายกับเราหรอกนะครับ แต่เราจะเริ่มเห็นเค้าลางไอเดียดีๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ และเช่นเดียวกัน ถ้าในวง Brainstorm คิดกันจนหัวจะระเบิดแล้วก็ยังไม่ได้ไอเดีย ผมแนะนำว่าให้แยกวง หยุดให้สมองพัก แล้วเดี๋ยวกลับมาใหม่ ผมได้พบว่าเราต้องไม่ไปเค้นหรือบีบบังคับให้สมองทำงานมาก แต่หน้าที่ของเราคือสร้างสภาวะให้สมองทำงานได้ดีที่สุด แล้วที่เหลือสมองจะทำงานได้เอง

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้คือเวลาไปเจออะไรดีๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผมจะเก็บไว้ในคลังของตัวเอง อาจจะเป็นการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นอัลบั้มในมือถือ สร้างโฟลเดอร์เก็บเรเฟอเรนซ์ต่างๆ เอาไว้ เชื่อไหมครับว่าพวกนี้สุดท้ายได้ใช้จริงๆ แม้กระทั่งไอเดียที่เคยถูกปัดตกไป ผมก็เก็บไว้ก่อน เพราะไอเดียที่เคยถูกปัดตกไม่ได้แปลว่าเป็นไอเดียที่แย่ มันแค่เป็นไอเดียที่ต้องพัฒนาต่อและใช้ให้ถูกเวลา หลายครั้งเลยนะครับที่ไอเดียดีๆ เกิดจากสิ่งที่เคยถูกปัดตกแล้วนำมาเขย่าใหม่ให้ถูกที่ถูกทาง

เวลาไปเจออะไรดีๆ ให้เก็บใส่สมองไว้ครับ ยิ่งเก็บไว้เยอะยิ่งดี เวลาต้องใช้สมอง เราจะมีคลังข้อมูล คลังเรเฟอเรนซ์มาต่อยอดได้เพียบ บางทีไอเดียดีๆ มันมาจากการเชื่อมโยงสิ่งที่เราเคยเห็น เคยอ่าน เคยดู เคยฟัง เคยสัมผัส แล้วเก็บใส่สมองไว้ คลังยิ่งเยอะ สมองยิ่งมีอะไรมาเชื่อมโยง ไอเดียดีๆ ก็จะเกิด และเชื่อผมเถอะว่ามันได้ใช้แน่ๆ เวลาจวนตัว ผมคนหนึ่งล่ะที่ต้องสะสมคลังข้อมูลไว้ในสมองตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะไม่รู้เลยว่าต้องหยิบมาใช้เมื่อไร แต่รู้แน่ๆ ว่าต้องได้ใช้

ที่สุดแล้วการทำงานที่ได้ทั้งคุณภาพและรักษาเวลาเป็นการให้เกียรติบริษัท ให้เกียรติลูกค้า ให้เกียรติผู้ร่วมงาน และให้เกียรติตัวเราเองครับ เพราะเราได้แสดงความรับผิดชอบอย่างดีที่สุดด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น นี่ล่ะครับมืออาชีพ

เปลี่ยนจากไฟที่ลนก้นให้กลายเป็นไฟในการทำงานให้มีประสิทธิภาพน่าจะดีกว่านะครับ 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)

 

ภาพ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising