×

นักวิทยาศาสตร์ใกล้เผยชื่อทางการของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

โดย THE STANDARD TEAM
05.02.2020
  • LOADING...

จนถึงตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังระบาดหนักในจีนและหลายประเทศทั่วโลก แต่ใครจะรู้บ้างว่าชื่อเรียกของไวรัสโคโรนาที่กำลังเป็นที่พูดถึง แท้จริงแล้วไม่ใช่ชื่อเรียกที่แท้จริงของเชื้อไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากไวรัสโคโรนานั้นเป็นชื่อของกลุ่มไวรัสที่เป็นตระกูลหลักของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมีที่มาจากรูปร่างของมันที่ดูคล้ายกับ Crown หรือมงกุฎที่เต็มไปด้วยหนามเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์

 

ปัจจุบันไวรัสโคโรนามีชื่อเรียกชั่วคราวที่ตั้งโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า 2019-nCoV ซึ่งรวมเอาปีที่ค้นพบ (2019) และ n ที่ย่อมาจาก new หรือ novel และ CoV คือไวรัสโคโรนา และเพื่อแยกความแตกต่างของไวรัสชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องเรียกมันว่าโนเวล หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

แต่ดูเหมือนชื่อนี้จะยังไม่ใช่ชื่อเรียกที่เหมาะสม โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการระหว่างประเทศด้านอนุกรมวิธานของไวรัส (ICTV) ผู้รับผิดชอบการพิจารณาชื่อที่เหมาะสมสำหรับไวรัส เปิดเผยว่าได้เริ่มต้นหารือและพิจารณาชื่อเรียกอย่างเป็นทางการที่เหมาะสมสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และใช้เวลา 2 วันในการคัดเลือกชื่อที่เหมาะสมเพียงชื่อเดียว ซึ่งตอนนี้ได้ส่งชื่อให้วารสารวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่งแล้ว และคาดว่าจะประกาศได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

สำหรับขั้นตอนพิจารณาชื่อไวรัสที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะประกาศให้ประชาชนได้ทราบนั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ 

 

คริสตัล วัตสัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของศูนย์ความมั่นคงสาธารณสุขจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ ชี้แจงว่าการตั้งชื่อไวรัสมักจะถูกเลื่อนบ่อยครั้ง เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องโฟกัสความสำคัญไปที่การรับมือสถานการณ์แพร่ระบาด

 

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายเหตุผลที่ชี้ว่าการตั้งชื่อไวรัสชนิดใหม่นั้นควรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อน เนื่องจากชื่อเรียกชั่วคราวอย่าง 2019-nCoV นั้นยากแก่การเรียกโดยสื่อและประชาชน

 

“ชื่อของมันในตอนนี้ไม่ง่ายที่จะใช้ สื่อและสาธารณชนกำลังใช้ชื่ออื่นเรียกไวรัสชนิดนี้ อันตรายจากการที่ไม่มีชื่อทางการคือผู้คนเริ่มใช้ชื่อเรียกอื่น เช่น ไวรัสจีน และนั่นอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบกับประชากรบางกลุ่ม และด้วยโซเชียลมีเดีย ชื่อไม่เป็นทางการเหล่านี้จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนยากจะแก้ไข” วัตสันกล่าว

 

การระบาดของไวรัสหลายชนิดที่ผ่านมาในอดีตเป็นบทเรียนให้คณะกรรมการ ICTV ต้องตระหนักถึงสิ่งที่ควรระมัดระวังในการตั้งชื่อไวรัส เช่น การตั้งชื่อไวรัส H1N1 ที่ระบาดหนักในปี 2009 ว่าไข้หวัดหมู (Swine Flu) ซึ่งทำให้ทางการอียิปต์ตัดสินใจสั่งกำจัดหมูทั่วประเทศ ทั้งที่ความจริงแล้วต้นตอการระบาดนั้นมาจากมนุษย์ ไม่ใช่หมู

 

ขณะที่ชื่อไวรัสอย่างเป็นทางการก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น เป็นการยั่วยุหรือสร้างความไม่พอใจแก่ชนพื้นเมืองหรือผู้นับถือศาสนาต่างๆ หรือการนำเอาตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในจุดที่เกิดการระบาดของไวรัสมาตั้งชื่อ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปน, ไวรัสเมอร์ส (MERS) หรือไวรัสทางเดินหายใจตะวันออกกลาง โดยองค์การอนามัยโลกวิจารณ์ว่าเป็นการตั้งชื่อที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบต่อประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ อีกทั้งการตั้งชื่อไวรัสโดยไม่ระมัดระวังยังอาจก่อให้เกิดกำแพงการเดินทาง กำแพงการค้า หรือการพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรม และยังนำไปสู่การกำจัดสัตว์หรืออาหารอย่างไม่จำเป็นด้วย ซึ่งจากประเด็นเหล่านี้ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศแนวทางปฏิบัติในการตั้งชื่อไวรัสว่าไม่ควรรวมเอาสิ่งเหล่านี้ไว้ในชื่อ

 

  • ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
  • ชื่อบุคคล
  • ชื่อสัตว์หรือชนิดของอาหาร
  • อ้างอิงถึงวัฒนธรรมหรืออุตสาหกรรมใดๆ แบบเฉพาะเจาะจง

 

นอกจากนี้การตั้งชื่อไวรัสนั้นควรจะสั้นและอธิบายความชัดเจน เช่น ไวรัสซาร์ส (SARS) ที่ย่อมาจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome)

 

เบนจามิน นูแมน ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา และ 1 ใน 10 นักวิทยาศาสตร์ของ ICTV ที่อยู่เบื้องหลังการพิจารณาชื่อไวรัส ระบุว่าการตั้งชื่อไวรัสให้เป็นที่รู้จักยังต้องมีจุดเด่นด้วย

 

“มันต้องออกเสียงได้เร็วกว่าชื่ออื่นๆ เล็กน้อย” นูแมนกล่าว

 

ICTV ยังคาดหวังว่าชื่ออย่างเป็นทางการของไวรัสจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องไวรัสแก่ประชาชนและลดความสับสนได้มากขึ้น เพื่อให้นักวิจัยมีเวลามุ่งมั่นกับการรับมือการระบาดของไวรัส

 

“เราจะค้นพบในอนาคตว่าเราเข้าใจมันถูกต้องหรือไม่ สำหรับบางคนอย่างฉัน การช่วยตั้งชื่อไวรัสที่สำคัญอาจกลายเป็นสิ่งที่คงอยู่นานกว่าและเป็นประโยชน์มากกว่าคุณค่าของอาชีพการงาน มันเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่” นูแมนกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising