×

จำหน้าได้ แต่ลืมว่าชื่ออะไร? การศึกษาล่าสุดพบวิธีช่วยจดจำชื่อคนผ่านการนอนหลับ

18.02.2022
  • LOADING...
การจดจำชื่อ

หลายคนคงเข้าใจโมเมนต์นี้ดี เวลายืนคุยกับใครสักคนตั้งนานแต่ไม่รู้ชื่อ หรือเคยถามชื่อเมื่อนานมาแล้วแต่จำไม่ได้ แต่จะให้ถามอีกครั้งก็ยังไงๆ อยู่ เลยทำเนียนไม่เรียกชื่อจนจบบทสนทนา แล้วค่อยไปถามจากคนอื่นเอาอีกที

 

คุ้นหน้าแต่จำชื่อไม่ได้ ดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์ร่วมที่ใครหลายคนเคยเจอ เห็นได้จากการตั้งกระทู้มากมายบนโลกออนไลน์หาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน และดูเหมือนการจำชื่อคนจะเป็นเรื่องท้าทายความทรงจำของใครหลายคนเอามากๆ 

 

แต่ผลการศึกษาล่าสุดเหมือนได้มอบแสงสว่างให้กับคนที่มีพื้นที่ความจำอันน้อยนิดแบบพวกเรา เพราะเป็นการค้นพบที่ว่า สมองของเราสามารถเรียนรู้วิธีแปะชื่อไปที่ใบหน้าของผู้คนระหว่าง ‘การนอนหลับ’ ของเราได้

 

การศึกษาชิ้นเล็กๆ แต่น่าสนใจนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร NPJ: Science of Learning และดำเนินการศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น วิธีการก็คือ นักวิจัยได้ขอให้ผู้เข้าร่วม 24 คน พยายามจดจำภาพที่มีใบหน้าของคน 80 คนและชื่อของพวกเขา โดยผู้เข้าร่วมได้รับแจ้งว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นนักเรียนในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาและชั้นเรียนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้เชื่อมต่อผู้เข้าร่วมแต่ละคนเข้ากับเครื่อง EEG ที่เป็นเครื่องวัดคลื่นสมอง และให้พวกเขาได้งีบหลับไป

 

นักวิจัยได้เฝ้าดูคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมขณะกำลังนอนหลับ และเมื่อสังเกตว่าผู้เข้าร่วมนั้นหลับสนิทแล้ว พวกเขาก็จะเล่นชื่อนักเรียนในชั้นเรียนและเล่นเพลงจากวัฒนธรรมต่างๆ ที่พวกเขาต้องศึกษา เช่น ดนตรีญี่ปุ่นหรือลาตินอเมริกา ซึ่งนักวิจัยพบว่า คนที่นอนหลับสนิทนานที่สุด ความทรงจำของพวกเขาก็จะดีที่สุดเช่นกัน

 

เคน พาลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และหนึ่งในผู้เขียนการศึกษานี้ กล่าวว่า เมื่อผู้เข้าร่วมตื่นขึ้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะจดจำใบหน้าและชื่อได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับหน่วยความจำที่ไม่ได้เปิดใช้งานระหว่างการนอนหลับ การศึกษานี้ทำให้เห็นว่า เมื่อความทรงจำถูกกระตุ้นอีกครั้งระหว่างการนอนหลับ ความสามารถในการจดจำจะดีขึ้นหลังจากที่เราตื่นนอน กล่าวคือ การได้ยินชื่อและเพลงที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจะทำให้เราที่กำลังหลับใหลจดจำชื่อพวกเขาได้มากขึ้นตอนที่เราตื่นขึ้นมา

 

และผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็น่าทึ่งมาก เพราะผู้เข้าร่วมที่เปิดฟังชื่อและดนตรีสามารถจำชื่อคนได้เฉลี่ยมากกว่าเดิมหนึ่งถึงหนึ่งครึ่งจากเดิมก่อนที่พวกเขาจะนอนหลับ

 

แต่ถึงอย่างนั้นการทดลองนี้จะประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้คนจำชื่อได้ก็ต่อเมื่อการนอนหลับของพวกเขาไม่ถูกรบกวนเสียก่อน นั่นหมายความว่า ‘คุณภาพการนอนหลับ’ ที่ผู้เข้าร่วมได้รับนั้นสามารถสร้างความแตกต่างในความสามารถในการจดจำชื่อของพวกเขาได้นั่นเอง

 

น่าเสียดายที่การศึกษานี้ไม่สามารถลงมือทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์ในการช่วยวิเคราะห์การนอนหลับของเรา และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้สามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นทุกคนได้ในทันทีราวกับมีป้ายชื่อแปะอยู่บนหน้าพวกเขา แต่เราก็ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการนอนหลับหรือคุณภาพของการนอนหลับสำคัญต่อการทำงานในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

 

“หากเรามีคุณภาพการนอนหลับที่สูง ความทรงจำของเราก็จะพร้อมใช้งานเสมอเมื่อเราต้องการ เพื่อให้เราใช้งานความทรงจำเหล่านั้นเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา” พาลเลอร์กล่าว

 

โดยการศึกษานี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ จีนน์ ดัฟฟี นักประสาทวิทยาที่ Division of Sleep and Circadian Disorders ของ Brigham and Women’s Hospital (BWH) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยว่า หากเรานอนหลับนานถึง 8 ชั่วโมง เราจะสามารถจำชื่อคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกได้เก่งขึ้น เพราะเมื่อผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสได้นอนถึง 8 ชั่วโมง พวกเขาสามารถจับคู่ใบหน้าและชื่อคนได้มากขึ้นถึง 12% เมื่อเทียบกับตอนแรกที่ยังไม่ได้นอนหลับ

 

การศึกษานี้ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาอื่นๆ ที่พบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับและความทรงจำของมนุษย์ โดยการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้เราประมวลผลข้อมูลได้ดีขึ้นหลังจากตื่นนอน และหากเรามีการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอหรืออดนอนเป็นประจำก็จะพบว่าช่วงนั้นจะหลงๆ ลืมๆ อยู่บ่อยๆ มีการประมวลผลช้า ได้ยินอะไรมาก็ลืมทันที คิดอะไรไม่ค่อยออก เพ่งสมาธิไม่ค่อยได้ ทักษะในการตัดสินใจลดลง หรือควบคุมอารมณ์ได้ยากจนเผลอฉุนเฉียวใส่คนรอบข้างบ่อยๆ ซึ่งเราควรหมั่นสังเกตอาการเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ปรับการนอนหลับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

 

ถ้าอย่างนั้นการนอนหลับที่เหมาะสมหรือเพียงพอนั้นต้องกี่ชั่วโมงกันนะ? Sleep Foundation หรือมูลนิธิเพื่อการนอนหลับ ได้แนะนำจำนวนชั่วโมงการนอนหลับ โดยขึ้นอยู่กับ ‘ช่วงอายุ’ ของเรา ได้แก่

 

  • เด็กทารกอายุ 0-3 เดือน ควรนอนหลับ 14-17 ชั่วโมง
  • เด็กวัยเตาะแตะอายุ 1-2 ปี ควรนอนหลับ 12-15 ชั่วโมง
  • เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3-5 ปี ควรนอนหลับ 10-13 ชั่วโมง
  • เด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับ 9-11 ชั่วโมง
  • เด็กวัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับ 8-10 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ตอนต้นอายุ 18-25 ปี ควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่อายุ 26-64 ปี ควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ตอนปลายหรือผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง

 

แม้จะเป็นเพียงการศึกษาหรือการค้นพบเล็กๆ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยที่ได้รู้ว่า จินตนาการของเราสามารถโลดแล่นและเรียนรู้ได้มากแค่ไหนตอนที่เรากำลังนอนหลับ และเนื่องจากวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นก็ได้บันทึกไว้ว่า คุณภาพของการนอนหลับที่สูงนั้นส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้และการสื่อสารของเรา บางทีการค้นพบที่ว่านี้อาจช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมการสนทนาของเราให้ไม่เป็นเรื่องที่เครียดและกดดัน แต่กลายเป็นความผ่อนคลายและทำให้เรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคตก็ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X