“14 วันเป็นระยะเวลาที่นานไหม”
คนที่น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคงเป็นผู้ที่เคยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้วต้องสังเกตอาการในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine: SQ) นาน 2 สัปดาห์มาก่อน เพราะระหว่างนี้จะไม่สามารถออกนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ ซึ่งก็คือ ‘ห้องพัก’ ของตนเองได้ (สำหรับ State Quarantine: ASQ อาจมีข้อยกเว้นบ้าง เช่น ถ้าผลการตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ สามารถออกมาใช้ ‘พื้นที่ส่วนกลาง’ ในเวลาที่กำหนดได้)
ส่วนคนทั่วไปเห็นตัวเลขนี้แล้วก็คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “นานมาก!” แต่เพราะโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีความรุนแรงสูง อย่างน้อยในระยะแรกของการระบาดจึงยังไม่มีใครประนีประนอมกับตัวเลข ‘14 วัน’
ทว่าในระยะหลัง โดยเฉพาะเดือนที่ผ่านมานี้ เราอาจได้ยินหลายประเทศเริ่มลดระยะเวลาการกักตัวเพื่อสังเกตอาการลงเหลือ 7-10 วัน รวมถึงข้อเสนอของฝั่งธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย
ความแตกต่างระหว่าง Quarantine กับ Isolation
ก่อนอื่นผมขออธิบายความแตกต่างระหว่าง ‘การกักกันโรค’ (Quarantine) กับ ‘การแยกกักโรค’ (Isolation) ก่อน เพราะมักจะถูกเรียกรวมกันว่า ‘การกักตัว’
โดย Quarantine จะใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้สัมผัสกับผู้ป่วย ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด เป็นการกักตัวเพื่อสังเกตว่าภายหลังจากมีความเสี่ยงจะมีอาการป่วยหรือไม่ ดังนั้นระยะเวลาของ Quarantine จะขึ้นอยู่กับ ‘ระยะฟักตัว’ (Incubation Period)
ส่วน Isolation จะใช้กับผู้ติดเชื้อแล้ว เป็นการกักตัวเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อ ดังนั้นจึงขึ้นกับ ‘ระยะแพร่เชื้อ’ (Infectious Period) ว่านานเท่าไร ซึ่งในขณะนี้เราทราบแล้วว่าผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ 2-3 วันก่อนมีอาการ จนถึงประมาณ 7-10 วันหลังจากมีอาการไปแล้ว ส่วนสารพันธุกรรมที่ตรวจพบหลังจากนั้นไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ หรือที่เรามักจะได้ยินจากการแถลงข่าวของ ศบค. ว่า ‘ซากเชื้อ’
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือแข่งขันกีฬา จะต้องใช้คำว่า Quarantine และทำความเข้าใจเรื่องระยะฟักตัว
สาเหตุที่ต้องกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงนานถึง 14 วัน
องค์การอนามัยโลกระบุว่า “ระยะฟักตัวเฉลี่ยของโควิด-19 คือ 5-6 วัน แต่นานที่สุด 14 วัน”
ดังนั้นตัวเลข 14 วันที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือระยะเวลาที่ ‘นานที่สุด’ ที่ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ เพียงแต่ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการภายใน 1 สัปดาห์แรก (ตรงนี้มีผู้เข้าใจผิดว่า 14 วันคือสองเท่าของระยะฟักตัวเฉลี่ย ซึ่งอาจประมาณเท่ากับ 7 วัน – เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนะครับ)
“แล้วผู้ป่วย ‘ส่วนใหญ่’ ที่ว่าคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์”
คำถามนี้น่าสนใจ เพราะเดาว่าผู้ที่ถามกำลังประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากลดระยะเวลากักตัวลง ส่วนคำตอบที่ได้อาจไม่ตรงกันขึ้นกับว่าผู้ตอบอ้างอิงข้อมูลหรือใช้วิธีการใด เช่น การสร้างแบบจำลอง แต่สำหรับผมจะขออ้างถึงธรรมชาติของโรคที่ทำการศึกษาในประเทศจีน กล่าวคือ “พิสัยควอไทล์ของระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 2-7 วัน” เท่ากับว่าผู้ป่วย 75% จะมีระยะฟักตัวภายใน 7 วัน
และถ้ามีผู้ป่วย 100 คน เรียงลำดับระยะฟักตัวจากน้อยไปมากที่สุด คนที่ 95 (95th Percentile) จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 12.5 วัน ดังนั้นระยะเวลา 14 วันก็น่าจะครอบคลุมผู้ป่วยเกือบทั้งหมด เพราะอย่างที่บางท่านอาจเคยได้ยินข่าวว่ามีผู้ป่วยบางรายมีระยะฟักตัวนานกว่านี้ เช่น 24 วัน แต่ก็เป็น ‘ส่วนน้อย’ มาก และที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่เคยพบผู้ป่วยที่มีอาการแล้วตรวจพบเชื้อหลังจากครบระยะเวลากักตัว 14 วันเลย
“ลดเหลือ 7 วันได้ไหม… หรือถ้า 10 วันก็ยังดี”
“ลดให้อีกหน่อยได้ไหม” ถึงแม้ ‘ไวรัส’ จะเป็นผู้กำหนดตัวเลข 14 วันขึ้นมา แต่ ‘มนุษย์’ ก็สามารถลดระยะเวลานี้ลงได้ขึ้นกับเรายอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน (เหมือนกับ ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง’) หรือในอีกทางหนึ่งก็คือสิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนกับความเสี่ยงนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งถ้ายึดตามข้อมูลที่ผมอ้างถึงหากลดระยะเวลาลงเหลือ 10 วัน ก็มีโอกาสตรวจพบผู้ป่วยประมาณ 80-90%
หรือถ้ายึดตามการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เรื่องการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง (Double Testing) ของนักวิจัยอังกฤษพบว่า ถ้าตรวจครั้งเดียวที่สนามบินโอกาสตรวจพบผู้ป่วยทั้งหมดมีเพียง 7% แต่ถ้าเพิ่มการตรวจอีกครั้งก่อนวันครบกำหนดกักตัวจะสามารถเพิ่มโอกาสตรวจพบผู้ป่วยมากขึ้น กล่าวคือ ถ้าตรวจในวันที่ 5 หรือ 8 แล้วกักตัวต่ออีก 2 วันจนครบ 7 หรือ 10 วัน โอกาสตรวจพบผู้ป่วยจะเท่ากับ 85 หรือ 96% ตามลำดับ
ส่วนถ้าตรวจในวันที่ 10 แล้วกักตัวต่ออีก 4 วัน = 14 วัน โอกาสตรวจพบคือ 98%
กดเครื่องคิดเลขดูแล้วการลดระยะเวลากักตัวจาก 14 เป็น 10 วัน โอกาสตรวจพบจะลดลง 2% (ทุกๆ 1,000 คนมี 20 คน) แต่ถ้าลดจาก 14 เป็น 7 วัน โอกาสตรวจพบจะลดลง 13% (ทุกๆ 1,000 คนมี 130 คน) ในความคิดของท่านผู้อ่านยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ไหมครับ? เมื่อผู้ป่วย 1 คนสามารถแพร่เชื้อต่อได้อีก 2-3 คน และเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิต 3%
อย่างไรก็ตาม เราก็เริ่มเห็นบางประเทศลดหรือยกเลิกการกักตัว เช่น นโยบาย Travel Corridors ของอังกฤษที่ ‘ยกเว้น’ การกักตัว (Self-isolate) ในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศหรือเขตการปกครองมาตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 60 รายการ รวมถึงไทยและสิงคโปร์ (เพิ่งได้รับอนุญาตเมื่อ 19 กันยายน 2563) และประเทศในอาเซียนที่อยู่ในรายการก่อนหน้านี้ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม
มาตรการพรมแดนสำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำของสิงคโปร์ที่มีผลเมื่อ 1 กันยายน 2563 โดยประกาศ ‘ยกเว้น’ การกักตัว (Stay-home Notice) สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 2 ประเทศคือ บรูไนและนิวซีแลนด์ แต่ยังต้องตรวจหาเชื้อที่สนามบิน และ ‘ลด’ วันกักตัวลงจาก 14 วัน เหลือ 7 วันในที่พักของตนเอง หากเดินทางมาจากออสเตรเลีย (ยกเว้นรัฐวิกตอเรีย), มาเก๊า, จีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน, เวียดนาม และมาเลเซีย
ซึ่งการที่อังกฤษสามารถดำเนินนโยบายเช่นนี้ได้ก็น่าจะเป็นเพราะว่าสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศยังคงระบาดอยู่ (ล่าสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2563 อัตราการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายใน 2 สัปดาห์ประมาณ 120 รายต่อประชากรแสนคน เป็นอันดับที่ 10 ของทวีปยุโรป) ส่วนมาตรการของสิงคโปร์ก็น่าสนใจว่ามีการจัดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยง เมื่อประเทศนั้นมีอัตราการติดเชื้อต่ำ โอกาสตรวจพบผู้ป่วยเมื่อกักตัวนานกว่า 7 วันก็อาจเพิ่มขึ้นไม่มาก
อีกทั้งในวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้ สิงคโปร์จะยกเลิกการกักตัวเพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ ผู้ที่เดินทางจากเวียดนาม เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศภายใน 28 วันที่ผ่านมา และผู้ที่เดินทางจากออสเตรเลีย (ยกเว้นรัฐวิกตอเรีย) ด้วยเหตุผลว่ามีอัตราการติดเชื้อภายในประเทศต่ำ (0.02 รายต่อ 1 แสนประชากร) จึงประเมินว่าความเสี่ยงในการนำเข้าเชื้อจาก 2 ประเทศนี้อยู่ในระดับต่ำ
“14 วันสามารถลดลงได้ไหม” คนที่น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคงเป็น ศบค. ว่าจะคงมาตรการเดิมไว้ หรือจะผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตในครั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยอื่นๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ เช่น ความร่วมมือของประชาชน ความพร้อมระบบป้องกัน (การกักตัวใน ASQ) ค้นหา รักษา ควบคุมโรคที่จะตามมาหากพบผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละพื้นที่ด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ระยะฟักตัวเฉลี่ย https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/transmission-of-sars-cov-2-implications-for-infection-prevention-precautions
- พิสัยควอไทล์ของระยะฟักตัว https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/nejmoa2002032
- เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 95 ของระยะฟักตัว https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/nejmoa2001316
- การตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง https://www.gov.uk/government/publications/phe-investigation-into-the-effectiveness-of-double-testing-travellers-incoming-to-the-uk-for-signs-of-covid-19-17-june-2020
- นโยบาย Travel Corridors https://www.gov.uk/guidance/coronavirus-covid-19-travel-corridors
- มาตรการพรมแดนของสิงคโปร์ https://www.gov.sg/article/updates-to-border-measures-for-low-risk-countries-from-1-sep
- มาตรการพรมแดนของสิงคโปร์ (เพิ่มเติม) https://www.caas.gov.sg/who-we-are/newsroom/Detail/singapore-welcomes-visitors-from-australia-and-vietnam-from-8-october-2020/