เมื่อเอ่ยถึง ‘น้ำตาล’ หลายคนอาจคิดว่าน้ำตาลคือตัวการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ จริงอยู่ว่าการกินน้ำตาลมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่แท้จริงแล้วหากรู้จักกินก็จะเกิดผลดีต่อร่างกายมากมายเช่นกัน เพราะน้ำตาลคือหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน ทำให้สมองรู้สึกสดชื่น และร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว น้ำตาลจึงไม่ใช่ผู้ร้ายที่ทำลายสุขภาพ หากเรากินในปริมาณเหมาะสมและสมดุลกับพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน
เราควรบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม สอดคล้องกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน องค์การอนามัยโลกและสำนักโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำว่า วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่สามารถบริโภคน้ำตาลที่มีการเติมเพิ่มในอาหารได้ไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัมต่อวัน นอกจากเรื่องปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับอย่างเหมาะสมตามความต้องการของร่างกายแล้ว การเลือกบริโภคน้ำตาลประเภทต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ในเมื่อเราได้สิทธิ์ให้ร่างกายสามารถเติมความหวานได้ ก็ควรเลือกความหวานที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติในปริมาณที่พอเหมาะ คำถามคือ ความหวานแบบไหนที่ควรค่าแก่การบริโภค
คุณจูน-นวรัตน วิทวัสศุกล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ข้อสังเกตการเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติทดแทนการเติมน้ำตาลเพิ่มเข้าไปในอาหารและเครื่องดื่ม และยังเสริมคุณประโยชน์ให้กับอาหารว่า “มีเทคนิคง่ายๆ ในการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยยังคงให้ความหวานแถมคุณประโยชน์ เช่น การเติมนมสดในเครื่องดื่มต่างๆ จะเป็นการเพิ่มโปรตีน รวมถึงทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น เพราะมีความหวานจากน้ำตาลธรรมชาติที่อยู่ในนมที่เรียกว่า แลคโตส ซึ่งแลคโตสจะช่วยในกระบวนการดูดซึมแคลเซียมอีกด้วย การใส่ผลไม้สด เช่น สตรอว์เบอร์รี สับปะรด ลงในโยเกิร์ต จะได้รับความหวานจากผลไม้ ทั้งยังได้วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร นอกจากนี้การเติมน้ำผึ้งแท้ลงในนมและเครื่องดื่มต่างๆ จะให้รสชาติหอมหวานเฉพาะตัว พร้อมคุณประโยชน์มากมาย มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยบำรุงผิวพรรณ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นความหวานจากธรรมชาติ ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ”
นอกจากนี้วิธีที่จะช่วยให้คุณบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่พอดีในแต่ละวันคือ อ่านฉลากก่อนซื้อ คุณจูนแนะวิธีอ่านฉลากก่อนซื้อ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพว่า ต้องสังเกต ‘สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ’ ที่แสดงบนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มชนิดนั้นๆ มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น
ต่อมาให้สังเกต ‘ฉลากหวาน มัน เค็ม’ หรือ ‘ฉลาก GDA’ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ทั้งหมดที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นๆ
ตามปกติแล้วบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จะแสดงปริมาณน้ำตาลรวมไว้ในฉลากด้วย ซึ่งหากเราลองสังเกตผลิตภัณฑ์บางตัวจะมีข้อความระบุเพิ่มเติม เช่น น้ำตาลน้อย (Low Sugar) ไม่มีการเติมน้ำตาลเพิ่ม (No Added Sugar) และไม่มีน้ำตาลทราย (No Sucrose) แปลว่า ผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีการเติมน้ำตาลทรายลงไป แต่ปริมาณน้ำตาลที่ปรากฏบนฉลากจะเป็นน้ำตาลที่อยู่ในอาหารนั้นๆ ตามธรรมชาติ หรือมาจากความหวานที่ได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาติ การเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีข้อความดังกล่าวบนบรรจุภัณฑ์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพ
เชื่อหรือยังว่า ‘น้ำตาล’ ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป หากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ดี อ่านฉลากก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง และบริโภคอย่างพอเหมาะ ไม่ว่าใครก็มีสุขภาพที่ดีได้ โดยที่ร่างกายไม่ต้องลาขาดจากความหวาน แถมยังได้รับโภชนาการที่ดีไปพร้อมๆ กัน