×

Short Selling สำคัญกับตลาดหุ้นอย่างไร แล้วหุ้นที่ถูกชอร์ตหนักจะร่วงลงแรงจริงหรือไม่

20.12.2023
  • LOADING...

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดประเด็นเกี่ยวกับ Short Selling หรือการทำธุรกรรมขายชอร์ต จนทำให้นักลงทุนบางส่วนตั้งคำถามขึ้นมาว่า Short Selling เป็นตัวการทำให้หุ้นไทยร่วงแรงกว่าตลาดหุ้นอื่นจริงหรือไม่? และในความเป็นจริงแล้ว Short Selling เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อตลาดหุ้นไทยหรือไม่?

 

สำหรับใครที่อาจยังไม่แน่ใจว่า Short Selling คืออะไร เหมือนหรือต่างอย่างไรกับการขายหุ้นโดยทั่วๆ ไป

 

จริงๆ แล้ว Short Selling เป็นเหมือนกับการซื้อและขายหุ้นปกติ เพียงแต่กลับด้านกัน โดยปกติเราจะซื้อหุ้นก่อนแล้วค่อยขายในราคาที่สูงเพื่อทำกำไร ส่วน Short Selling คือการขายหุ้นก่อนแล้วค่อยซื้อกลับในราคาที่ต่ำเพื่อทำกำไร แต่ก่อนที่จะทำ Short Selling ได้นั้น เราจะต้อง ‘ขอยืมหุ้น’ มาจากนักลงทุนคนอื่น เพื่อนำหุ้นนั้นไปขาย

 

เพราะฉะนั้นกระบวนการหลักของการทำ Short Selling จะประกอบไปด้วย

  1. ขอยืมหุ้นจากคนอื่น
  2. ขายหุ้นออกไปและได้เงินสดกลับมา แต่เงินนั้นต้องวางไว้เป็นหลักประกัน
  3. ซื้อหุ้นคืน
  4. นำหุ้นไปคืนเจ้าของที่แท้จริง

 

ผลลัพธ์จากการทำ Short Selling หากเราซื้อหุ้นคืนได้ในราคาต่ำกว่าราคาที่ขายออกไปก็จะได้กำไร แต่กลับกัน ถ้าซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าราคาที่ขายออกไปก็จะขาดทุน

 

เมื่ออธิบายถึง Short Selling แล้วก็ขออธิบายเพิ่มเติมในส่วนของ Naked Short Selling ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงกันในตลาดเช่นกัน

 

Naked Short ที่ว่านี้เป็นการขายหุ้นโดยตัดขั้นตอนของการยืมหุ้นออกไป เท่ากับว่านักลงทุนที่ทำ Naked Short แท้จริงแล้วไม่ได้มีหุ้นอยู่ในมือ และมีเพียงแค่วงเงินในการซื้อขายก่อนที่จะส่งคำสั่งขาย

 

การทำ Naked Short Selling เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบทั้งในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พูดง่ายๆ คือบริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีระบบดูแลไม่ให้ลูกค้าทำ Naked Short Selling และราคาที่ส่งเข้ามาก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ คือราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Zero Plus Tick Rule) และตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีการตรวจสอบควบคู่ไปด้วย

 

เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์จะตรวจสอบทุกรายการที่น่าสงสัย เช่น รายการที่ขายโดยไม่มียอดคงค้างของหุ้นมาก่อนหน้า กรณีนี้ตลาดหลักทรัพย์จะขอหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีหุ้นหรือเป็นการยืมหุ้นมาก่อนการขาย เช่น หลักฐานจากผู้ดูแลรับฝากสินทรัพย์ (Custodian) เพื่อยืนยันได้ว่าลูกค้ารายนั้นมีหุ้นหรือมีการยืมหุ้นก่อนที่จะทำ Short Selling

 

ทั้งนี้ เมื่อตลาดหลักทรัพย์มีการสอบถามขอหลักฐานในรายการที่น่าสงสัยนั้น บริษัทหลักทรัพย์ต้องส่งหลักฐานการมีหุ้นในครอบครองก่อนขายภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการ Naked Short Selling และตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาดำเนินการกับบริษัทหลักทรัพย์ต่อไป

 

เมื่อเราลองไปดูสถิติการทำ Naked Short Selling ในอดีตก็จะพบว่า ในปี 2017-2018 มีผู้ทำ Naked Short Selling มากถึง 5 ราย แต่หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ยกระดับการควบคุมให้เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2018 พบว่ามีผู้กระทำผิดลดลงเหลือ 2 ราย ระหว่างปี 2019-2021 และตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีผู้กระทำ Naked Short Selling

 

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เมื่อ Short Selling ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นลดลง ทำไมฝ่ายกำกับถึงไม่ตัดสินใจแบนการทำ Short Selling แบบที่บางประเทศทำก่อนหน้านี้

 

แม้ว่าหลายครั้งจะมีการตั้งคำถามหรือโต้แย้งว่า Short Selling เป็นตัวการให้ตลาดหุ้นปรับลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว Short Selling ก็เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือ Short Selling เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าสู่ราคาที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาด

 

เช่น หากหุ้นมีราคาสูงเกินไป การทำ Short Selling จะเป็นแรงขายที่ช่วยทำให้ราคาหุ้นเข้าสู่ดุลยภาพที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น

 

ด้วยประโยชน์ของ Short Selling ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกจึงอนุญาตให้ทำ Short Selling ได้ แต่จะกำกับดูแลโดยมีการกำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวกับ Short Selling ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคา Short, การรายงานข้อมูล Short รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้การซื้อขายมีความโปร่งใสและเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ จากสถิติ Short Selling ในตลาดหุ้นไทยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (16 มิถุนายน – 15 ธันวาคม 2566) จะเห็นว่าหุ้นที่ถูกขายชอร์ตด้วยมูลค่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ โดยหุ้นที่ถูกขายชอร์ตมากที่สุดคือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คิดเป็นมูลค่า 2.39 หมื่นล้านบาท ถัดมาคือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มูลค่า 1.57 หมื่นล้านบาท และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL มูลค่า 1.50 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่ราคาหุ้นของ PTT ปรับตัวขึ้น 14.4% มาปิดที่ 35.75 บาท ส่วนราคาหุ้น BDMS และ CPALL ลดลง 10.4% และ 15.9% มาปิดที่ 25.75 บาท และ 54 บาท ตามลำดับ

 

จะเห็นว่าหุ้นที่ถูกขายชอร์ตในมูลค่าสูงไม่จำเป็นว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลดลงเสมอไป ปัจจุบันการทำ Short Selling ไม่ได้ถูกใช้ในลักษณะของการเก็งกำไรเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่นักลงทุนใช้ในการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising