ทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ อาการคล้ายกันมาก เช่น ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ถ่ายเหลว (ยกเว้นจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสที่จำเพาะกับโควิด-19 มากกว่า) มีความรุนแรงทั้งคู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งคล้ายกันมากอีกเช่นกัน ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค
แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มอีก ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ ผู้พิการทางสมอง โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ทุกปีกระทรวงสาธารณสุขจะมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเป้าหมายฟรี! ในช่วงต้นฤดูฝน เพราะฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมี 2 ช่วง คือ ช่วงปลายฝน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) และปลายหนาว (เดือนมกราคม-มีนาคม) ส่วนใหญ่วัคซีนจะถูกกระจายลงไปที่โรงพยาบาลประจำอำเภอหรือประจำตำบล (รพ.สต.)
แต่ปีนี้เป็นปีที่พิเศษกว่าทุกปี เพราะกลุ่มเป้าหมายบางส่วนจะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วย จึงเกิดคำถามตามมาว่าจะวางแผนการฉีดทั้ง 2 วัคซีนนี้อย่างไรดี
หลักการมีเพียง 2 ข้อ คือ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด-19 ต้องฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดเข็มเดียว โดยไม่ต้องรอให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม (ฉีดระหว่างเข็มได้)
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศไทยขณะนี้มีทั้งหมด 4 ยี่ห้อได้แก่
- วัคซีน AstraZeneca ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 10-12 สัปดาห์
- วัคซีน Sinovac ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์
- วัคซีน Johnson & Johnson ฉีด 1 เข็ม
- วัคซีน Moderna ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์
ยกตัวอย่างวัคซีน AstraZeneca สมมติมีนัดฉีดวันที่ 7 มิถุนายน 2564 (วันแรกตามกำหนดการของกระทรวงสาธารณสุข) จะสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ 3 แบบคือ
- ฉีดก่อนเข็มแรก 2 สัปดาห์ คือตอนนี้ – 24 พฤษภาคม 2564
- ฉีดระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สอง (หลังเข็มแรก 2 สัปดาห์ และก่อนเข็มที่สอง 2 สัปดาห์) คือตั้งแต่ 21 มิถุนายน เป็นต้นไป จนถึง 2 สิงหาคม 2564
- ฉีดหลังเข็มที่สอง 2 สัปดาห์ คือตั้งแต่ 30 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป แต่แบบนี้จะไม่ทันฤดูการระบาดช่วงปลายฝน
ดังนั้น การฉีดไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสมคือ การฉีดระหว่างเข็มของวัคซีน AstraZeneca ซึ่งจะมีตารางเวลาที่ยืดหยุ่นได้ถึง 1 เดือนครึ่ง (10 สัปดาห์ หัก 2 สัปดาห์หัว-ท้าย) จะเลือกฉีดวันไหนระหว่างช่วงนี้ก็ได้ โดยภูมิคุ้มกันจะเริ่มขึ้นหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์ ส่วนวัคซีน Sinovac แนะนำให้ฉีดหลังเข็มที่สองไปแล้วน่าจะเหมาะสมที่สุด
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
อ้างอิง:
- แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 2564 ของประเทศไทย (กุมภาพันธ์ 2564) https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1729520210301021023.pdf