×

ประเทศไทยจะได้ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบไหน และเมื่อไร

25.11.2020
  • LOADING...
ประเทศไทยจะได้ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบไหน และเมื่อไร

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • คำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันอยู่คือ ประเทศไทยจะได้ใช้วัคซีนแบบไหน และเมื่อไร
  • แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ คือการนำเข้า ‘วัคซีน’ ที่ผลิตเสร็จแล้วจากบริษัทต่างประเทศเข้ามาฉีดให้กับประชาชนเลย ส่วนแนวทางที่ 2 เป็นการนำเข้า ‘เทคโนโลยีการผลิต’ เข้ามาผลิตวัคซีนในโรงงานภายในประเทศ
  • วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ที่เพิ่งแถลงผลการวิเคราะห์เบื้องต้นเมื่อไม่กี่วันก่อน ยังไม่เผยแพร่กำหนดเวลาออกมา แต่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ว่า ประเทศไทยน่าจะได้ใช้วัคซีนภายในกลางปีหน้า

ข่าวความสำเร็จของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของบริษัทอเมริกา เยอรมนี รัสเซีย หรืออังกฤษ ทำให้เราคลายความกังวลต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกไปได้บ้าง ถึงแม้จะเป็นผลการวิเคราะห์เบื้องต้นในระหว่างที่การศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนยังดำเนินอยู่ก็ตามที 

 

คำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันอยู่คือ ประเทศไทยจะได้ใช้วัคซีนแบบไหน และเมื่อไร

 

แผนการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย

 

 

 

ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เผยแพร่สไลด์แถลงการณ์โควิด-19 ศบค. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ว่าแนวทางการดำเนินการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วย 3 แนวทางด้วยกัน คือ

 

  1. การวิจัยพัฒนาในประเทศ
  2. การทำความร่วมมือกับต่างประเทศ
  3. การจัดซื้อจัดหานำมาใช้ภายในประเทศ

 

ซึ่งแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือ แนวทางที่ 3+2 เพราะแนวทางที่ 3 เป็นการนำเข้า ‘วัคซีน’ ที่ผลิตเสร็จแล้วจากบริษัทต่างประเทศเข้ามาฉีดให้กับประชาชนเลย ส่วนแนวทางที่ 2 เป็นการนำเข้า ‘เทคโนโลยีการผลิต’ เข้ามาผลิตวัคซีนในโรงงานภายในประเทศ

 

สำหรับแนวทางที่ 3 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าหมายว่า จะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุม 50% ของประชากร แบ่งเป็นการจองวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca 20% หรือ 26 ล้านโดส (ใช้ได้ 13 ล้านคน x คนละ 2 โดส) การจองวัคซีนผ่าน COVAX 20% และการเจรจากับบริษัทอื่นอีก 10%

 

การจองกับบริษัท AstraZeneca ในแนวทางที่ 3 นี้ ทำให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตในแนวทางที่ 2 ซึ่งจะผลิตที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพราะมีศักยภาพในการผลิตยาชีววัตถุ (ยาที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยงเซลล์สิ่งมีชีวิต หรือสกัดจากเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต) อยู่เดิม 

 

และจะเป็นฐานการผลิตวัคซีนส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุข บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้น 100%) บริษัท SCG และบริษัทวัคซีนได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

วัคซีนของ AstraZeneca

AstraZeneca เป็นบริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยคิดค้นวัคซีนแบบ Viral Vector Vaccine คือใช้ไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดในชิมแปนซีเป็นพาหะ (Vector) นำสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโควิด-19 เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์

 

ซึ่งตัดต่อสารพันธุกรรมเฉพาะส่วนที่จะถอดรหัสเป็นหนาม (Spike) เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ไวรัสก็จะไม่สามารถจับกับเซลล์ของเราได้ เหมือนกับวัคซีนของ Pfizer, BioNtech และ Moderna แต่ต่างกันตรงที่สองวัคซีนนี้ฉีดสารพันธุกรรมที่หุ้มด้วยไขมันเข้าไปโดยตรง (mRNA Vaccine)

 

 

ผลการทดลองระยะที่ 3 ในอังกฤษและบราซิล วัคซีนของ AstraZeneca มีประสิทธิภาพเฉลี่ย 70% กล่าวคืออาสาสมัครจะต้องได้รับวัคซีน ‘เต็มโดส’ ทั้ง 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ พบว่ามีประสิทธิภาพ 62% ทว่าเนื่องจากเกิดข้อผิดพลาดในอาสาสมัคร 2,800 คนในอังกฤษ ทำให้ได้รับวัคซีนโดสแรกเพียง ‘ครึ่งโดส’ แต่กลับพบว่ามีประสิทธิภาพมากถึง 90% ซึ่งเป็นทั้งข่าวดีสำหรับผู้ที่จองวัคซีนนี้ และจุดอ่อนที่ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือต่อการวิเคราะห์ที่ไม่ตรงไปตรงมา

 

อย่างไรก็ตามวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า 50% จะสามารถผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (US FDA) และผู้เชี่ยวชาญอย่าง นพ.แอนโทนี เฟาซี ก็คาดหวังประสิทธิภาพของวัคซีนตามความเป็นจริงที่ 50-60% แต่หากเป็นไปได้ก็อยากได้มากกว่า 75%

 

นอกจากนี้ข้อได้เปรียบสำคัญของวัคซีนของ AstraZeneca คือการจัดเก็บวัคซีนที่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติได้เหมือนกับวัคซีนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ในขณะที่วัคซีนของ Pfizer, BioNtech และ Moderna จะต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 และ -20 องศาเซลเซียสตามลำดับ 

 

ประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อก็คือ สามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้เท่าไร (วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดการนอนโรงพยาบาลได้ 37% และลดการนอน ICU ได้ 82% ทั้งที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเพียง 40-60%) และในระยะยาว วัคซีนจะสามารถป้องกันได้นานกี่เดือน

 

การพัฒนาวัคซีนในประเทศ

 

 

วกกลับมาที่แนวทางที่ 1 เป็นการพัฒนาวัคซีนด้วยนักวิจัยภายในประเทศ ซึ่งมีมากกว่า 20 ชนิด แต่ทั้งหมดยังอยู่ในระยะก่อนการทดลองในมนุษย์ โดยวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ วัคซีนชนิด mRNA ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 

 

ซึ่งตามแผนเดิมจะทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนตุลาคม 2563 แต่ล่าสุดคาดว่าจะเริ่มในเดือนเมษายนปีหน้า (2564) เพราะต้องรอคิวโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ และถึงแม้รัฐบาลจะจัดสรรให้ 300 ล้านบาท แต่ได้รับเงินจากรัฐในรูปแบบทยอยจ่าย และงบที่ต้องใช้จริงสูงถึง 1,000 ล้านบาท 

 

เปรียบเทียบกับงบประมาณในแนวทางที่ 2 รัฐบาลจัดสรรให้ 600 ล้านบาทเพื่อเตรียมความพร้อมโรงงานในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และอีก 6,000 ล้านบาทในการจัดหาวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca จำนวน 23 ล้านโดสในแนวทางที่ 3 ซึ่งในขณะนี้อาจมีความคุ้มค่ามากกว่า

 

แต่ในระยะยาว รัฐบาลยังจำเป็นต้องสนับสนุนการวิจัยวัคซีนภายในประเทศ เพราะโรคอุบัติใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต และหลายโรคที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประกอบกับความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 ก็แสดงให้เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้

 

ระยะเวลาในการผลิตวัคซีน

บริษัท Pfizer และ BioNtech ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติการใช้วัคซีนฉุกเฉินต่อ US FDA เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 และมีกำหนดพิจารณาในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ส่วนบริษัท Moderna กำลังเตรียมการยื่นเช่นกัน ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 น่าจะเริ่มใช้ในสหรัฐฯ เร็วที่สุดก่อนสิ้นปีนี้

 

ส่วนวัคซีนของบริษัท AstraZeneca ที่เพิ่งแถลงผลการวิเคราะห์เบื้องต้นเมื่อไม่กี่วันก่อน ยังไม่เผยแพร่กำหนดเวลาออกมา แต่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ว่า ประเทศไทยน่าจะได้ใช้วัคซีนภายในกลางปีหน้า

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising