ในยามที่ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภาระ หนี้ครัวเรือน ที่ทะยานสูงเป็นประวัติการณ์กำลังบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ผู้ประกอบการต่างประสบกับการปฏิเสธสินเชื่อช่วงไตรมาส 1/67 ที่สูงถึง 30-40% โดยเฉพาะในตลาดระดับแมส
ด้วยเหตุนี้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐจึงเสมือนลมหายใจใหม่ที่ช่วยสร้างความหวังให้กับทั้งธุรกิจและผู้บริโภคอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท (จากเดิมที่ 3 ล้านบาท) เหลือเพียง 0.01% จะช่วยให้ผู้บริโภคระดับกลางเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะสู้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ไหว สนใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
ด้านโครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home และ Happy Life ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่นำเสนอดอกเบี้ยพิเศษเพียง 2.98-3% ก็จะช่วยเปิดประตูสู่บ้านหลังแรกของผู้มีรายได้น้อย
มาตรการทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะช่วยระบาย Backlog ของแต่ละผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับผู้พัฒนาอสังหาในการรับรู้รายได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น
ความช่วยเหลือจากรัฐแก่ภาคอสังหานี้เปรียบเสมือนก้อนหินที่ถูกโยนลงไปในบึง ส่งผลเป็นระลอกคลื่นไปทั่วทั้งผืนน้ำ ตลาดคอนโดมิเนียมในเมืองกลับมาคึกคัก โครงการใหม่ๆ เริ่มเปิดตัว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาให้ความสนใจ
ส่วนการเลือกซื้อบ้านตามแนวราบ แม้จะชะลอตัวบ้างแต่ก็ไม่หยุดนิ่ง โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับทำเลดี การออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่ลงตัว ตอบรับไลฟ์สไตล์ และความต้องการทั้งความเป็นส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางที่ครบครัน
การเข้ามาช่วยตลาดอสังหาซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 5-6% ของ GDP (ตั้งแต่ปี 2562-2566) ไม่ได้แค่เพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังฟื้นคืนชีพให้ธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายสิบประเภท ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ที่สำคัญคือการช่วยสร้างงานและกระจายรายได้สู่แรงงานนับแสนชีวิตทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้มาตรการกระตุ้นจะน่ายินดี แต่เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดของธนาคารก็ยังคงเป็นข้อจำกัดที่ต้องจับตาในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยพุ่งสูง จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมธนาคารต้องรัดกุมกว่าเดิม เพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสีย ซึ่งจะสร้างผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ท่ามกลางทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัว ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาโครงการที่ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย หากแต่เป็นคำตอบของการใช้ชีวิตที่ลงตัวในทุกมิติ ผู้ประกอบการที่คว้าโอกาสทางธุรกิจ พร้อมปรับแผนให้สอดรับกับมาตรการของรัฐ จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์ท้าทายเช่นนี้
อย่าง ‘เอพี (ไทยแลนด์)’ ที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการ เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกความต้องการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
มาตรการกระตุ้นอสังหาจากภาครัฐไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น หากแต่ยังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ความท้าทายสำคัญอยู่ที่การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ และการสร้างสมดุลระหว่างการกระตุ้นการใช้จ่ายกับการควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงิน
สิ่งที่ต้องจับตามองคือความสามารถของผู้ประกอบการในการปรับตัวและคว้าโอกาส ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหา และเป็นกุญแจสำคัญที่จะกำหนดว่าใครจะก้าวข้ามพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ใครจะไขว่คว้าความสำเร็จจากความเปลี่ยนแปลง ก้าวสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ในระยะยาว