“Economic disasters are almost always preceded by a large increase in household debt.” – Atif Mian John H. Laporte, Jr. Class of 1967 Professor of Economics, Princeton university
หากกล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะต้องกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression ในปี 1929-1939 และวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก หรือ Global Financial Crisis ในปี 2008-2009
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ตกลงอย่างรุนแรงในปี 1929 ส่งผลให้ครัวเรือนลดการบริโภค และส่งผลต่อไปยังการผลิตและการจ้างงาน สถิติระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลงกว่า 29% ในช่วงปี 1929-1933 ส่งผลให้อัตราการว่างงานแตะระดับสูงสุดที่ 32% ในปี 1933 ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2008-2009 เกิดขึ้นจากภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ นำไปสู่ปัญหาหนี้เสียในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสินเชื่อหนุนหลัง ปัญหาในภาคการเงินขยายวงกว้างไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และส่งผลต่อไปยังระบบเศรษฐกิจการเงินโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
วิกฤตเศรษฐกิจทั้งสองครั้งอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุและบริบทที่แตกต่างกัน แต่มี ‘จุดร่วม’ สำคัญอยู่ประการหนึ่ง
Charles E. Persons นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ตีพิมพ์บทความเรื่อง Credit Expansion, 1920 to 1929, and its Lessons ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1930 ไม่กี่เดือนก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ บทความชี้ว่า ในช่วงปี 1920-1929 ครัวเรือนสหรัฐฯ ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เพื่อเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขณะที่อัตราส่วนการชำระคืนหนี้สินต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเช่นกัน
ในขณะเดียวกันมีสถิติที่น่าสนใจว่า ในช่วงปี 2000-2007 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก หนี้ครัวเรือนสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่อัตราส่วนการชำระคืนหนี้สินต่อรายได้หลังหักภาษีก็เพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา สถานการณ์หนี้ครัวเรือนอาจรุนแรงกว่าหากคิดรวมการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์และสินทรัพย์ที่มีหนี้ครัวเรือนหนุนหลัง
จุดร่วมของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกคือ การเร่งตัวของหนี้ครัวเรือน
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
จากข้อมูลของ Bank of International Settlement สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของโลกปรับเพิ่มขึ้นจาก 54.4% ในปี 2010 มาอยู่ที่ 59.3% ในปี 2021 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 28.1% ในปี 2010 มาอยู่ที่ 46.3% ในปี 2021 ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่มีนโยบายลดหนี้ครัวเรือนหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008-2009 ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 75.3% ในปี 2021 นอกจากนี้เรายังเห็นหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเกาหลีใต้ (อยู่ที่ 105.8% ณ ปี 2021 เพิ่มขึ้น 32.6% จากปี 2010) จีน (อยู่ที่ 61.6% ณ ปี 2021 เพิ่มขึ้น 34.3% จากปี 2010) และไทย (อยู่ที่ 91% ณ ปี 2021 เพิ่มขึ้น 31.6% จากปี 2010)
หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปอาจเป็นได้ทั้ง ‘ชนวน’ และ ‘เชื้อไฟ’ ที่ขยายผลให้วิกฤตรุนแรงและยาวนานขึ้น
หนี้ครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร? หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปเป็นชนวนของวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงิน Minsky (1977) อธิบายว่า การมีหนี้สูงเกินไปทำให้ครัวเรือนมีภาระในการชำระหนี้ต่อรายได้สูง จึงเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ง่าย ในหลายสถานการณ์ครัวเรือนอาจก่อหนี้ใหม่เพื่อหมุนเวียนมาจ่ายหนี้เดิมที่ครบกำหนดชำระ แต่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น ระบบเศรษฐกิจการเงินจึงเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ
การผิดนัดชำระหนี้สามารถส่งผลลบต่อคนในระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินเป็นลูกโซ่ ครัวเรือนอาจต้องขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลดลง เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่ต้องยึดทรัพย์สินของครัวเรือนที่ผิดนัดชำระหนี้มาขายทอดตลาดในราคาที่ลดลง เมื่อคนอื่นเห็นว่าราคาสินทรัพย์ลดลง จึงเทขายตาม ทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงเป็นวงจร ส่งผลต่อความมั่งคั่งและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอื่น จนฉุดให้เกิดวิกฤตในระบบการเงิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลจริงสอดคล้องกับหลักทฤษฎี งานของ Schularick and Taylor (2009) ศึกษาข้อมูลหนี้ภาคเอกชนและวิกฤตเศรษฐกิจจำนวน 200 ครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว 14 ประเทศในช่วงปี 1870-2008 พบว่า การเร่งตัวของหนี้ภาคเอกชนเป็นปรากฏการณ์ที่พยากรณ์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจการเงินกำลังจะตามมา
นอกจากจะเป็นสาเหตุของปัญหาแล้ว หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปยังเป็น ‘เชื้อไฟ’ ที่ขยายผลของวิกฤตทางเศรษฐกิจให้รุนแรงและยาวนานขึ้น เศรษฐศาสตร์มหภาคอธิบายว่า การบริโภคภาคเอกชนเป็นช่องทางส่งต่อและขยายผลของปัจจัยภายนอกหรือแรงกระตุ้นจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ในภาวะที่ครัวเรือนมีหนี้สูง ครัวเรือนจำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ครัวเรือนจึงมีกำลังซื้อน้อยลง และส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการในประเทศลดลง ความต้องการซื้อที่ลดลงส่งผลให้ผู้ผลิตมียอดขายและกำไรน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงานหรือค่าจ้างลดลง จึงย้อนกลับมาทำให้ครัวเรือนมีกำลังซื้อน้อยลงไปอีก ดังนั้นวิกฤตทางเศรษฐกิจในภาวะที่ครัวเรือนมีหนี้สูงจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและยาวนาน
ในเชิงประจักษ์ Jorda Schularick and Taylor (2012) ที่ต่อยอดจากงานศึกษาของ Schularick and Taylor (2009) โดยใช้ข้อมูลชุดเดียวกันพบว่า ประเทศที่มีหนี้ภาคเอกชนสูงกว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจรุนแรงและยาวนานกว่า
ซ้ำร้ายหากพิจารณาฐานะทางการเงินที่แตกต่างกันของครัวเรือนแต่ละกลุ่มจะพบว่า ครัวเรือนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย จึงต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ไปกับการบริโภคจนหมด แต่นั่นแปลว่าในภาวะที่วิกฤตทางเศรษฐกิจส่งผลให้รายได้ลดลง ครัวเรือนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องตัดลดรายจ่ายลงมากเช่นกัน Mian Rao and Sufi (2013) ศึกษาพฤติกรรมของครัวเรือนอเมริกันฯ ในช่วงก่อนเกิดถึงช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2008-2009 พบว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤต ครัวเรือนที่ขอสินเชื่อบ้านและมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้านอยู่ที่ 90% จะตัดลดค่าใช้จ่ายมากกว่าครัวเรือนที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้านอยู่ที่ 30% ถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจที่มีหนี้ครัวเรือนสูงยังขาดภูมิต้านทานต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับปกติ หลังจากการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้รายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาวะที่หนี้ครัวเรือนสูง จึงขาดความยืดหยุ่นและมีความท้าทายมาก
หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปอาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากจะเป็นชนวนและเชื้อไฟที่ขยายผลของวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว หนี้ครัวเรือนยังมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย Lombardi Mohanty and Shim (2017) ศึกษาผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้ข้อมูลจาก 54 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ในช่วงปี 1990-2015 พบว่า หากหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวชะลอลงประมาณ 0.1% แต่ผลการศึกษาที่น่าสนใจที่สุดคือ ผลข้างเคียงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นหากหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 80% ของ GDP
นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรการผลิตด้วย งานศึกษาของ Borio Kharroubi Upper and Zampolli (2015) ศึกษาการจัดสรรทรัพยากรแรงงานของประเทศพัฒนาแล้ว 21 ประเทศ ในช่วงปี 1969-2013 พบว่า การเร่งตัวของหนี้ภาคเอกชนมักเกิดขึ้นพร้อมกับการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปยังภาคการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำกว่า เป็นไปได้ว่าในช่วงที่หนี้ภาคเอกชนเร่งตัว สถาบันการเงินให้สินเชื่อกับธุรกิจที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าสูง แต่มีผลิตภาพต่ำเป็นจำนวนมากเกินไป ธุรกิจเหล่านี้จึงผลิตและจ้างงานได้มาก
นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปอาจสะท้อนว่า ระบบการเงินจัดสรรสภาพคล่องมาให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคมากเกินไป ในขณะที่ให้สินเชื่อธุรกิจน้อยเกินไป สินเชื่อธุรกิจสร้างโอกาสให้คนในระบบเศรษฐกิจได้ลงทุนเพิ่มผลิตภาพและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปจึงมี ‘ค่าเสียโอกาส’ ที่ระบบเศรษฐกิจจะได้ใช้ทรัพยากรทางการเงิน เพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
วิกฤตหนี้ครัวเรือนจะลุกลามได้มากที่สุดแค่ไหน
บทความนี้ขอชวนผู้อ่านคิดถึง ‘สถานการณ์เลวร้ายที่สุด’ ที่อาจเกิดขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถานการณ์เลวร้ายที่สุดอาจเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 2 สถานการณ์
สถานการณ์ที่ 1 คือ ‘ระบบการเงินล้มเหลว’
ในภาวะที่ครัวเรือนมีหนี้สูงมาก หากรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หรือภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น มีแนวโน้มสูงมากที่ครัวเรือนจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หนี้ครัวเรือนจะกลายเป็นหนี้เสียที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจำเป็นต้องกันสำรองเพิ่มเติมและเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อน้อยลง ย้อนกลับมากระทบการเข้าถึงสภาพคล่องของครัวเรือนอื่น การผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งส่งผลลบต่อสภาพคล่องและเงินกองทุนของสถาบันการเงินอย่างรุนแรง
การผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างยังอาจส่งผลให้ผู้ฝากเงินสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันการเงิน จึงถอนเงินฝากจำนวนมากออกไปพร้อมกัน ซึ่งเรียกกันว่า ‘Bank Run’ ดังตัวอย่างของธนาคาร IndyMac Bank โดยในช่วงปี 2005-2007 มีการให้สินเชื่อบ้านประเภทสินเชื่อร่วม (Syndicated Loan) เป็นจำนวนมากกับครัวเรือนในมลรัฐที่ราคาบ้านสูง จนยอดคงค้างสินเชื่อบ้านสูงถึงกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2006 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปี 2003 เมื่อราคาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตกลง IndyMac Bank จึงเผชิญผลขาดทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างรุนแรง หลังจากสาธารณชนทราบ มีผู้ฝากเงินจำนวนมากตื่นตกใจและแห่ไปถอนเงินฝากจาก IndyMac Bank เป็นจำนวนกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์
ในกรณีเลวร้าย หากสถาบันการเงินเผชิญผลขาดทุนและประสบภาวะ Bank Run ในวงกว้าง วิกฤตหนี้ครัวเรือนอาจทำลายเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินโดยรวม ซึ่งจะส่งผลให้กลไกการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินภายในระบบเศรษฐกิจล้มเหลว และจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักตาม นอกจากนี้ระบบการเงินขับเคลื่อนได้ด้วย ‘ความไว้วางใจ’ จากคนในระบบเศรษฐกิจ หากระบบการเงินขาดเสถียรภาพ ย่อมทำให้คนสูญเสียความไว้วางใจ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างกลับขึ้นมาใหม่
สถานการณ์ที่ 2 คือ ‘การคลังล้มเหลว’
หากหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจนเกินจะควบคุม เป็นไปได้มากว่าภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยการอัดฉีดสภาพคล่องหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ครัวเรือน นอกจากนี้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาลง เนื่องจากครัวเรือนติดกับดักหนี้ การดำเนินนโยบายเป็นภาระทางการคลังมูลค่ามหาศาล ในขณะที่ภาครัฐจะเก็บภาษีได้น้อยลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อขาดรายได้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลการคลัง อาจกล่าวได้ว่า ในกรณีเลวร้าย หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะ ‘แปรสภาพ’ ไปเป็นหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงแทน
ภาครัฐมีทางเลือกในการกู้ 2 ทางเลือก
ทางเลือกที่ 1 ภาครัฐสามารถกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศ ซึ่งอาจต้องชำระคืนเงินกู้ในสกุลเงินต่างประเทศ แต่การกู้เงินจากต่างประเทศมากเกินไปอาจนำไปสู่วิกฤต ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาในช่วงปี 1980
ในช่วงปี 1970 กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก ภาครัฐจึงกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา เพื่อมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในช่วงปี 1970-1980 เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี ทำให้ประเทศลาตินอเมริกาสามารถส่งออกสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยได้ตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้ภาครัฐกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในระยะเวลาอันรวดเร็ว ข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่า หนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1970 ขึ้นไปอยู่ที่ 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1982
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 1980 อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วปรับสูงขึ้น ผู้ดำเนินนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงหันมาดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจึงต้องชำระหนี้สาธารณะ ณ ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเผชิญข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่มาใช้คืนหนี้เดิม ในที่สุดเม็กซิโกเป็นประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ ตามมาด้วยประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาอีก 15 ประเทศ
วิกฤตหนี้สาธารณะส่งผลต่อมายังภาคเศรษฐกิจจริง เมื่อภาครัฐไม่มีสภาพคล่องในการขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้งยังต้องรัดเข็มขัดทางการคลัง เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจึงเข้าสู่วิกฤต และติดอยู่ใน ‘The Lost Decade’ เป็นเวลาหลายสิบปี
ทางเลือกที่ 2 ภาครัฐสามารถกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ Breuer Ilyina and Pham (2021) ชี้ว่า สัดส่วนของหนี้สาธารณะจากแหล่งเงินกู้ภายในประเทศของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ปรับสูงขึ้นจาก 31% ในปี 2000 มาอยู่ที่ 46% ในปี 2020 เป็นความจริงที่ว่า การกู้จากแหล่งเงินกู้ในประเทศไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของกระแสเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน แต่หากหนี้สาธารณะสูงเกินไปจนภาครัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้ ความเสียหายก็จะตกแก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นคนหรือสถาบันภายในประเทศ เช่น กองทุนประกันสังคมและนักลงทุนสถาบันในประเทศ สุดท้ายการผิดนัดชำระหนี้จะฉุดเศรษฐกิจลงสู่วิกฤต
บทสรุป
หนี้ครัวเรือนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย นอกจากจะเป็นชนวนของวิกฤตเศรษฐกิจ และสามารถเป็นเชื้อไฟที่ขยายผลของวิกฤตให้รุนแรงและยาวนานขึ้นแล้ว ยังเป็นสัญญาณเตือนของ ‘สถานการณ์เลวร้าย’ ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ นั่นคือสามารถทำให้ระบบการเงินหรือการคลังล้มเหลวได้ หนี้ครัวเรือนจึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ย้อนกลับมายังประเทศไทย หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 อยู่ที่ 88.2% แม้ปรับลดลงมาบ้างจากปี 2021 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก นอกจากนี้การสำรวจ EIC Consumer Survey 2022 พบว่า รายได้ของครัวเรือนไทยยังฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย ซึ่งจะกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยเลวร้ายเพียงใด และจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างไร เรามาหาคำตอบด้วยกันในบทความฉบับถัดไปครับ
อ้างอิง:
- https://www.jstor.org/stable/1882528
- https://digitalcommons.bard.edu/hm_archive/231/
- https://cepr.org/voxeu/columns/credit-booms-go-wrong
- https://www.frbsf.org/wp-content/uploads/sites/4/wp11-27bk.pdf
- https://academic.oup.com/qje/article-abstract/128/4/1687/1849337
- https://www.bis.org/publ/work607.pdf
- https://www.bis.org/publ/work534.pdf
- https://scholarship.law.unc.edu/cgi/viewcontent.cgi?referer=&httpsredir=1&article=1273&context=ncbi
- https://www.federalreservehistory.org/essays/latin-american-debt-crisis
- https://www.imf.org/en/Blogs/Articles/2021/12/01/blog-sovereign-domestic-debt-restructuring
- https://www.scbeic.com/th/detail/product/household-debt-281022