ธปท. ตั้งเป้าลดหนี้ครัวเรือนกลับสู่ระดับยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ของ GDP เตรียมออกหนังสือเวียน ห้ามแบงก์ทำแคมเปญกระตุ้นคนก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เล็งกำหนดรายได้ผู้กู้สินเชื่อไม่มีหลักประกันยกระดับคุณภาพหนี้
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภารกิจที่ ธปท. จะให้ความสำคัญในปี 2566 คือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยซึ่งสะสมมานานและถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ต่อ GDP ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในไตรมาส 1/64 จากโควิด และล่าสุด ไตรมาส 2/65 ลดลงมาอยู่ที่ 88%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%
- ‘แบงก์กรุงศรี’ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า เป้าหมายของ ธปท. คือการทำให้หนี้ครัวเรือนกลับมาอยู่ในจุดที่ยั่งยืน หรืออยู่ในเกณฑ์สากลที่ไม่เกิน 80% ของ GDP ซึ่งจะเป็นระดับที่เอื้อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อได้อย่างไม่เปราะบาง อย่างไรก็ตาม การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ
- ทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ โดยตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ลูกหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้กู้
- ทำอย่างถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ ไม่ทำแบบวงกว้าง เพราะภาคการเงินจะมีทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการจริงๆ ได้น้อยลง ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ในอนาคต เช่น พักชำระหนี้ไปเรื่อยๆ จนลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบหรือแก้ประวัติสินเชื่อของลูกหนี้ จนสถาบันการเงินไม่รู้จักลูกหนี้และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้
- บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว ภาครัฐ มีบทบาทในการสร้างรายได้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านข้อมูล ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การแก้หนี้ครัวเรือนของ ธปท. จะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ
- การลดหนี้เดิม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีความเปราะบาง เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะปรับดีขึ้นจากผลกระทบของโควิด และคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนยังไม่เท่าเทียม (K-Shaped) โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ยังเจอกับภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งอาจยิ่งซ้ำเติมและทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
- การปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ หรือ Responsible Lending โดยสถาบันการเงินต้องไม่ส่งเสริมให้ผู้กู้ก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือก่อหนี้โดยไม่จำเป็น
“ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ธปท. จะออกหนังสือเวียนให้สถาบันการเงินระวังการโฆษณาหรือทำแคมเปญต่างๆ ว่าจะต้องไม่กระตุกพฤติกรรมของผู้กู้ให้ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น และในระยะต่อไปเราจะเข้าไปดูเรื่องรายได้สุทธิของผู้กู้ในส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกันว่าควรเป็นเท่าไร จะกำหนดรายได้ของผู้กู้ เพื่อให้คุณภาพหนี้ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลา” รณดลกล่าว
- การให้ความรู้และส่งเสริมวินัยทางการเงิน หรือ Financial Literacy ซึ่ง ธปท. ต้องการเจาะเข้าไปในกลุ่มคนเริ่มทำงาน หรือ First Jobbers และกลุ่มผู้นำชุมชนมากขึ้น โดยปัจจุบัน ธปท. มีความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อยู่มากกว่า 10 แห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากการดูแลหนี้ครัวเรือนแล้ว แผนงานในปี 2566 ของ ธปท. ยังได้กำหนดหางเสือสำคัญที่จะถูกใช้เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายไว้อีก 4 ด้าน ได้แก่
เรื่องแรก คือ การส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างราบรื่นและไม่สะดุด หรือ Smooth Takeoff เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการจะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างไม่สะดุดได้ สิ่งสำคัญคือ การดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้ภาวะการเงินไม่ตึงตัวเกินไปจนภาคการเงินไม่สามารถเล่นบทบาทส่งเสริมการฟื้นตัวได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. กลับเข้าสู่ภาวะปกติเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้
“การดำเนินนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ Policy Normalization จำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการทางการเงินก็ต้องปรับจากที่เคยปูพรมแบบกว้างๆ ไปสู่มาตรการเฉพาะเจาะจงและตรงจุดมากขึ้น” เศรษฐพุฒิกล่าว
เรื่องที่สอง คือ การให้ความสำคัญกับกระแสความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หรือ Green ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศในแถบยุโรปกำลังหยิบยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเข้ามา และส่งผลให้การแข่งขันของไทยทางด้านการค้าระหว่างประเทศลดลง ดังนั้นหากไทยไม่ตื่นตัวให้เร็ว ผลกระทบที่จะตามมาอาจสร้างปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดตัว
“เป้าหมายของเราคือทำให้ภาคการเงินช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่านี้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้ออก ‘ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย’ ที่จะถูกใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภาคการเงินให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนทยอยปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
เรื่องต่อมา คือ การเตรียมพร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้พัฒนาระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ระบบการชำระเงินผ่าน QR Code ที่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้อย่างสะดวกมากขึ้น
“ในอนาคตเราจะต่อยอดด้วยการเชื่อมระบบการชำระเงินระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงจะมีบริการพร้อมบิซ (PromptBiz) ที่เป็นบริการทางการเงินที่ใช้สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และ SMEs ที่จะเกิดใหม่ขึ้นมา ช่วยลดต้นทุนในด้านการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น และลดการใช้เอกสารโดยไม่จำเป็น เช่น การชำระเงินระหว่างบริษัทจะบันทึกใบเสร็จในระบบดิจิทัล เป็นต้น” เศรษฐพุฒิกล่าว
และเรื่องสุดท้าย คือ การพัฒนาองค์กรด้วยกระบวนการด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ หรือ HROD) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก
“ทั้งหมดนี้จะเป็น 5 หางเสือที่ ธปท. จะใช้ขับเคลื่อนการทำงานในปีหน้า” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP