มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยจากกลุ่มตัวอย่าง 95% พบว่ามีบุคคลที่รับภาระหนี้สินจากการกู้ยืมมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อให้เกิดหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 158,855 บาทต่อครัวเรือน หรือมีเพิ่มขึ้นกว่า 15% หากเทียบจากปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายวันแรงงาน คาดว่าเงินจะสะพัด 2,232 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 3 ปี
เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเปิดเผยรายงานผลการสำรวจในหัวข้อ ‘สถานภาพแรงงานไทย: กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท’ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คนทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยกลุ่มอาชีพข้าราชการ รับจ้าง พนักงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ และรับจ้างรายวัน
พบว่าส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท พบว่าสัดส่วน 86.2% ไม่มีเงินออม เป็นเหตุให้แรงงานกว่า 95% มีภาระหนี้สิน โดยเฉลี่ยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 158,855 บาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากถึง 15% โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเจอปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือน และรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจในประเทศยังทรงตัว
อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันมีความเหมาะสมในระดับปานกลางเท่านั้น จึงอยากให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าสาธารณูปโภค แม้จะไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างน้อยก็ปรับเพิ่มให้เท่ากับค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สำหรับกิจกรรมในช่วงวันแรงงานปีนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 2,232 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยต่ำสุดในรอบ 3 ปี
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: