×

โบราณคดีครัวเรือนที่ตึกยาวบวรนคร (ศรีธรรมราช) ขุดอดีตเพื่อสร้างอนาคต

16.07.2021
  • LOADING...
Yao Bowon Nakhon Building

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • โบราณคดีครัวเรือนเป็นการศึกษามนุษย์ในอดีตในสเกลขนาดเล็กลง โดยมุ่งให้ความสนใจกับข้าวของ (โบราณวัตถุ) ในชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง หรือกลุ่มของครอบครัว หรือในระดับหมู่บ้าน เพื่อค้นหาความเปลี่ยนแปลงในแง่วิถีชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม
  • ‘ตึกยาว’ หรือ ‘ตึกยาวบวรนคร’ ถือเป็นตึกก่ออิฐถือปูนรุ่นแรกๆ ของนครศรีธรรมราช นับรวมอายุได้ร่วม 120 ปีมาแล้ว ผ่านการใช้งานมาหลายหน้าที่ เช่น สำนักงานของโรงยาฝิ่น โรงไฟฟ้า โรงน้ำแข็ง โรงพยาบาล และโรงเรียน ถือเป็นตึกที่เป็นตัวแทนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองนคร

แทบทุกจังหวัดของไทยล้วนตั้งอยู่บนเมืองเก่าหรือชุมชนโบราณแทบทั้งสิ้น มีอายุตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงพันปีก็มี ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่า ควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้การพัฒนาเมืองในทุกวันนี้ทำให้เราไม่ต้องสูญเสียข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งในต่างประเทศถือกันว่าเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นของที่เมื่อถูกทำลายแล้วไม่สามารถสร้างใหม่หรือกู้คืนกลับมาได้ อีกทั้งยังเป็นต้นทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และบ่งบอกตัวตนของคนในพื้นที่ที่ เป็นอัตลักษณ์ และสร้างสำนึกต่อความภาคภูมิใจในท้องถิ่น 

 

บทความนี้ ผมจะมาเล่ากรณีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตึกยาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่ผสานไปกับแนวคิดทางโบราณคดีที่เรียกว่า ‘โบราณคดีครัวเรือน’ ซึ่งการทำงานพยายามดำเนินควบคู่ไปกับงานด้านการพัฒนาและการต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรม เผื่อจะเป็นตัวอย่างให้กับงานพัฒนาเมืองเก่าในที่ต่างๆ มากขึ้น 

 

ขุดเมืองเก่าในกระแสของการพัฒนา 

ในย่านเมืองเก่าของลอนดอนมีกฎหมายควบคุมชัดเจนว่าหากมีการก่อสร้างใดๆ ที่ต้องขุดฐานรากจะต้องดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีด้วย เพราะถือว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ใต้ดินอาจได้รับผลกระทบ โดยมีหน่วยงานที่รับให้คำปรึกษาชัดเจนมีชื่อว่า Greater London Archaeological Advisory Service (GLAAS) และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองคือ Greater London Authority (GLA) 

 

เหตุผลที่ทำให้ทางอังกฤษให้ความสำคัญกับงานโบราณคดีในเขตเมืองหรือพื้นที่พัฒนาอย่างมาก เพราะภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ทำให้บ้านเรือนจำนวนมากถูกระเบิดและพังทลาย จึงต้องเร่งสร้างขึ้นมาใหม่ อีกทั้งในยุค 1970 รัฐบาลยังเร่งพัฒนาประเทศ ซึ่งในเวลานั้นได้ให้ความสำคัญกับการกู้แหล่งโบราณคดี (เรียกว่า Rescue Archaeology) ด้วยงบประมาณราวครึ่งล้านปอนด์ ในปี 1973 ได้มีการก่อตั้งแผนกโบราณคดีเมืองขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ลอนดอน (Museum of London) เพื่อทำให้เกิดการกู้แหล่งโบราณคดีในเมืองอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นไม่กี่ปีจึงมีการตรากฎหมายเพื่อบริหารและปกป้องอาคารเก่าและแหล่งโบราณคดีในเขตลอนดอนคือ National Heritage Act 1983 (ปัจจุบันมีการแก้ไขมาเป็นเวอร์ชัน 2002) 

 

ในช่วงทศวรรษ 1970 นี้เองที่การทำงานของนักโบราณคดี นักวางผังเมือง และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้การพัฒนากับการอนุรักษ์สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้ และเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบต่อแหล่งทางวัฒนธรรมอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองในปี 1990 จึงได้มีการออกกฎหมาย Planning Policy Guidance 16: Archaeology and Planning (PPG 16) เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นและนักโบราณคดี สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะทางรัฐบาลมองว่า ‘หลักฐานทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่มีอยู่จำกัด ไม่สามารถสร้างใหม่ทดแทนได้ เปราะบาง ง่ายต่อการเสียหาย และต้องได้รับการช่วยเหลือ’ (Archaeological remains are ‘finite’, ‘non-renewable’, ‘fragile’ and ‘vulnerable’, and suggests mitigation.)

 

การขุดค้นทางโบราณคดีที่ Bloomberg London ซึ่งพบแหล่งที่อยู่อาศัยในยุคโรมัน (อ้างอิง: https://www.union-news.co.uk/prospect-members-strike-at-museum-of-london-archaeology/)

 

ในประเทศไทยเองก็มีกฎหมายควบคุมในลักษณะนี้เช่นกันในย่านเมืองเก่า เช่น ในเขตเกาะเมืองรัตนโกสินทร์ ที่หากจะมีงานก่อสร้างใดๆ จะต้องมีการขุดค้นทางโบราณคดี และถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การควบคุมนี้ได้ผลดีกับในเขตเกาะเมือง แต่ในเขตเมืองเก่าอื่นๆ ในไทยที่มีไม่น้อยกว่า 18 แห่ง ถือว่ามากทีเดียวเมื่อเทียบกับบุคลากรที่ทำงานทางด้านนี้ ทำให้งานด้านอนุรักษ์ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะหลายแห่งยังเป็นการรับรู้กันในเชิงตัวบทกฎหมาย แต่ยังไม่ลงไปถึงขั้นปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ทางแก้คือการเพิ่มบุคลากรให้กรมศิลปากร หรือในแต่ละจังหวัดควรมีนักโบราณคดีประจำอย่างน้อย 2 คน หรือควรตั้งหน่วยงานอื่นขึ้นมาใหม่อย่างอังกฤษเพื่อรับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งจะทำให้งานคล่องตัวมากกว่าไปกระจุกตัวที่หน่วยงานเดียว 

 

ไม่ว่าอย่างไร การขุดค้นทั้งหมดในไทยนี้อาจกล่าวได้ว่าโดยมากแล้วเป็นการขุดค้นเพื่อกู้แหล่ง ซึ่งมีเป้าหมายขุดเพื่อเก็บกู้หลักฐานที่จะถูกทำลาย หรืออย่างน้อยถ้าจะทำลายก็จะได้รู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอะไรบ้าง การทำงานในลักษณะนี้เกิดขึ้นในไทยมากมาย เช่น ในอดีตก็คือการสร้างเขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือในเขตเมืองก็เช่นการขุดค้นชุมชนเลื่อนฤทธิ์ การขุดหน้าพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน เป็นต้น แต่ด้วยภาวะที่ต้องขุดกู้แหล่งนี้ ทำให้คำถามในเชิงงานวิจัยด้านโบราณคดีไม่ได้เป็นตัวนำเท่าไร แต่เป็นตัวตาม คือ ขุดเจอสิ่งของต่างๆ แล้วค่อยมาคิดว่าจะอธิบาย ตีความ และใช้แนวคิดอะไรมาจับดี เพื่อสร้างภาพของอดีตขึ้นมา

 

เศษภาชนะดินเผาพบกระจัดกระจายเต็มพื้นในหลุมขุดค้นที่ตึกยาว

 

ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปดูแลการขุดค้นทางโบราณคดีที่ ‘ตึกยาว’ ที่ท่าวัง เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตึกเก่าสร้างสมัยรัชกาลที่ 5-6 ปัจจุบันผู้เป็นเจ้าของคือ นพ.บัญชา พงษ์พานิช โดยตึกนี้และอาณาบริเวณโดยรอบกำลังจะได้รับการปรับปรุงเพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เรียนรู้ พักผ่อน และอื่นๆ ในเมืองนครแห่งใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น นพ.บัญชาจึงมองว่า ควรมีการขุดค้นทางโบราณคดีในตึกยาวและพื้นที่อื่นๆ เพื่อจะได้ทราบประวัติศาสตร์ของตึกยาวและพื้นที่ท่าวังมากขึ้น ซึ่งอาจใช้ข้อมูลที่ได้นำไปสู่การต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น เรื่องหนึ่งที่ผมคิดตั้งแต่ได้ยินว่าเจ้าของตึกต้องการจะขุดค้นทางโบราณคดีก็คือ การทดลองนำแนวคิดเรื่องโบราณคดีครัวเรือน (Household Archaeology) เข้ามาจับ เพื่อใช้เป็นแว่นในการมองหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงระหว่างการขุดค้น ซึ่งจะทำให้การขุดครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการขุดเพื่อกู้แหล่งในพื้นที่ก่อสร้างหรือในเขตเมืองเก่าแต่เพียงเท่านั้น 

 

โบราณคดีครัวเรือน เปลี่ยนมุมมองจากคนตัวใหญ่เป็นคนตัวเล็ก

ประวัติศาสตร์มักสอนเรื่องที่ไกลตัวมากกว่าเรื่องใกล้ตัว ในยุค 1970 จึงมีการตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมางานขุดค้นทางโบราณคดีมักมุ่งค้นคว้าแหล่งอารยธรรม (Civilization) อธิบายประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ว่าในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง (ทำให้เรียกงานโบราณคดีรุ่นเก่าว่า Culture-historical Archaeology) หรือมุ่งความสนใจไปหลักฐานของชนชั้นสูงหรือวัตถุทางศาสนา จากปัญหาพวกนี้เองที่ทำให้นักโบราณคดีในเวลานั้นเริ่มหันมามุ่งเน้นชีวิตของคนในบ้านผ่านสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของพวกเขา ซึ่งเรียกว่า ‘โบราณคดีครัวเรือน’ (Household Archaeology)

 

โบราณคดีครัวเรือนเป็นการศึกษามนุษย์ในอดีตในสเกลขนาดเล็กลง โดยมุ่งให้ความสนใจกับข้าวของ (โบราณวัตถุ) ในชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง หรือกลุ่มของครอบครัว หรือในระดับหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อค้นหาว่าคนในบ้านหรือในชุมชนนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่วิถีชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมอย่างไร โดยพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ เช่น รูปแบบของภาชนะดินเผา วัสดุที่ใช้ทำภาชนะข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เปลี่ยนจากไม้มาเป็นโลหะ จากโลหะมาเป็นพลาสติก เป็นต้น

 

ในภาพเป็นผม และเพื่อนชาวอเมริกันอินเดียน Allison McCabe กำลังขุดค้นในบ้านของ Lupita Tafoya ที่เมืองเทาส์ (อ้างอิง: https://archive.archaeology.org/1005/abstracts/taos.html)

 

เมื่อปี 2007 ผมได้เริ่มต้นรู้จักโบราณคดีครัวเรือนครั้งแรกที่เมืองเทาส์ รัฐนิวเม็กซิโก พวกเราได้ขุดค้นกันในบ้านของผู้หญิงชาวฮิสแปนนิกชื่อ Lupita Tafoya เมื่อขุดลงไปได้พบกับชิ้นส่วนของพื้นกระเบื้องยาง ซึ่งเจ้าของบ้านได้ให้ข้อมูลว่าทำขึ้นในรุ่นของพ่อเมื่อสัก 50 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมการสร้างบ้านแบบอเมริกันเริ่มเข้ามา จากนั้นก็ได้ขุดพบชิ้นส่วนของตุ๊กตาเด็กเล่น ซึ่งเธอตื่นเต้นมาก และอธิบายว่าของเล่นพวกนี้ก็เข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมอเมริกันสักราวปี 1960 ซึ่งเรียกได้ว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนของคนในพื้นที่นี้ เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีการสร้างถนนไฮเวย์ครั้งแรก 

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่โบราณคดีครัวเรือนพยายามมองหาจากในบ้านก็คือ การค้นหาสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผ่านวัตถุทางวัฒนธรรม ซึ่งมันบ่งบอกว่าทำไมวัฒนธรรมของเราทุกวันนี้จึงมีหน้าตาแบบนี้

 

ตึกยาวเมืองนคร 120 ปีของการเปลี่ยนแปลง

‘ตึกยาว’ หรือตอนหลังที่หมอบัญชาเรียกว่า ‘ตึกยาวบวรนคร’ ถือเป็นตึกก่ออิฐถือปูนรุ่นแรกๆ ของนครศรีธรรมราช ตึกหลังนี้ผ่านการใช้งานมาหลายหน้าที่อย่างยาวนาน นับตั้งแต่การใช้เป็นสำนักงานของโรงยาฝิ่น โรงไฟฟ้า โรงน้ำแข็ง โรงพยาบาล และโรงเรียน 

 

ตามประวัติเท่าที่สืบค้นได้พบว่า ตึกหลังนี้สร้างโดยชาวจีนจากสิงคโปร์ที่เข้ามาทำเหมืองแร่ที่เมืองนครศรีธรรมราชในราวรัชกาลที่ 5-6 ต่อมาถูกใช้เป็นโรงเรียนหนังสือไทย ต่อมามิชชันนารีชาวเซี่ยงไฮ้ชื่อ หมอ ที.ที.เว็น ได้ใช้เป็นสำนักงานร้านหมอและทำเป็นสถานพยาบาล ต่อมาได้เปิดเป็นโรงเรียนตงฮั้ว ราวปี 1934 ต่อมาได้มีเถ้าแก่แต้ยี่อันได้เช่าเป็นโรงยาฝิ่น แล้วถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมและร้านเฟอร์นิเจอร์ในเวลาต่อมา

 

ภาพถ่ายเก่าถึงปัจจุบันของตึกยาว

 

จนกระทั่งปี 1985 ตึกยาวจึงได้ตกเป็นของตระกูลบวรรัตนารักษ์และพงษ์พานิช จึงได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพราะอาคารมีความทรุดโทรมอย่างมาก ขาดการดูแล ในบันทึกของหมอบัญชาระบุว่า ในคราวนั้นแทบไม่มีช่างที่ไหนรับซ่อม แนะนำให้รื้อแล้วสร้างอาคารพาณิชย์ใหม่แทน ภายหลังจากปรับปรุงตึกยาวนี้ หมอบัญชาได้เปิดเป็นร้านหนังสือนาคร-บวรรัตน์ ซึ่งเมื่อสัก 20 ปีก่อน ก่อนที่จะปิดไปนั้น ผมก็เคยไปเดินซื้อหนังสือที่ร้านนี้ เพราะเป็นที่เดียวในภาคใต้ที่ขายหนังสือแนวศิลปวัฒนธรรม 

 

จากประวัติคร่าวๆ ดังกล่าว พอทำให้เห็นภาพของการใช้ตึกแห่งนี้นับตั้งแต่การก่อสร้าง นับรวมอายุได้ร่วม 120 ปีมาแล้ว ตึกนี้จึงสำคัญมาก ไม่ใช่เพราะความเก่า หากแต่เป็นตึกที่เป็นตัวแทนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองนครนั่นเอง แต่คำถามที่น่าสนใจด้วยคือ ก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น บ้านหลังนี้หรือพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นอะไรมาก่อน มีร่องรอยคนอยู่อาศัยมาตั้งแต่เมื่อไร สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองนครหรือไม่  

 

ประวัติศาสตร์ที่เก็บซ่อนอยู่ใต้ดินของตึกยาวเมืองนคร 

ภายหลังจากได้รับอนุญาตขุดค้นทางโบราณคดีจากกรมศิลปากร พวกเราได้เลือกขุดค้น 2 พื้นที่หลักด้วยกันคือ พื้นที่แรก เป็นพื้นที่ภายในตึกยาว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หลุมคือ หลุมหน้าตัวตึกติดริมถนน และหลุมกลางตัวตึก พื้นที่สอง เป็นพื้นที่นอกตัวตึก ประกอบด้วยพื้นที่ด้านหลังตัวตึกใกล้กับครัวนคร (ร้านอาหาร) พื้นที่ลานจอดรถตรงพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นโรงไฟฟ้าเก่า หลุมที่สามเป็นโรงจอดรถติดกับวัดบูรณาราม การขุดค้นในพื้นทีต่างๆ เหล่านี้มีนายเตชสิทธิ์ แสนสุข เป็นนักโบราณคดีผู้ปฏิบัติงานหน้าไซต์และวิเคราะห์โบราณวัตถุทั้งหมด

 

ผลจากการขุดค้นในพื้นที่ตัวตึกพบว่าใต้พื้นปูนลงไปเป็นชั้นทรายทั้งหมด ทรายพวกนี้เป็นทรายธรรมชาติของแนวถนนราชดำเนิน ในชั้นทรายพบโบราณวัตถุจำนวนมาก โดยมากเป็นเศษภาชนะดินเผาทั้งของไทย จีน และต่างประเทศต่างยุคต่างสมัยกัน ถ้าเราเอากรอบเวลาทางประวัติศาสตร์ชาติมาช่วยอธิบายกันอย่างง่ายๆ ร่วมกับการวิเคราะห์ผ่านมุมมองของโบราณคดีครัวเรือน พบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สมัย ได้แก่ หลักฐานในยุคสยามสมัยใหม่ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น-อยุธยาตอนปลาย สมัยอยุธยาตอนกลาง-ต้น และสมัยก่อนอยุธยา  

 

ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีในตึกยาว

 

ในยุคสยามสมัยใหม่ หมายถึง ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-6 ความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 0-30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ท่าวังเต็มไปด้วยคนจีนที่เข้ามาทำการค้าและอยู่อาศัย หลักฐานที่พบในบ้านหลังนี้สะท้อนถึงถึงกิจกรรมดังกล่าว เพราะในเวลานี้มีการใช้เครื่องถ้วยจีนจากเตาต่างๆ ของจีนได้แก่ เตาจิงเต๋อเจิ้น เตาสืออวน ซึ่งมีทั้งชาม ถ้วยชา และไห ทั้งที่ผลิตในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายและยุคสาธารณรัฐ อีกทั้งยังมีเครื่องถ้วยจากยุโรปอีกด้วย 

 

ในบรรดาเครื่องถ้วยของจีนพบว่ามีอยู่ 2 ชิ้นที่น่าสนใจคือ ถ้วยชาวาดลายครามเป็นบทกวีจีนเรื่องผาแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในตอนสำคัญของสามก๊ก การค้นพบถ้วยประเภทนี้แสดงว่าจะต้องมีคนจีนที่รู้หนังสือในเมืองนครนี้มานานแล้ว ขณะเดียวกันพวกเขาก็ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการใช้เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน ซึ่งพบน้อยในช่วงชั้นดินยุคสยามสมัยใหม่ การที่พบเครื่องถ้วยจีนค่อนข้างมากในช่วงเวลานี้และใช้ภาษาจีนบนเครื่องถ้วยด้วยแสดงว่าคนจีนในพื้นที่นี้เป็นกลุ่มคนที่รู้หนังสือ มีรสนิยมแบบจีนสูงขึ้น คงเป็นเพราะการเข้ามาของชาวจีนระลอกใหม่ที่เข้ามาเป็นแรงงานและนักลงทุนในเมืองนคร 

 

เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายที่มีบทกวีเรื่องผาแดง จากวรรณกรรมสามก๊ก

 

โบราณวัตถุภายในบ้านนี้นับว่าหนาแน่นเมื่อเทียบกับพื้นที่นอกบ้าน คงเป็นเพราะถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีกิจกรรมเกี่ยวกับการทำอาหารและการอยู่อาศัย เห็นได้จากทรายที่มีร่องรอยของถ่านปะปน ซึ่งคงเป็นถ่านจากเตาไฟ อีกทั้งยังพบกลุ่มของเศษภาชนะดินเผาที่ถูกทิ้ง แสดงว่าอาจไม่ใช่แบบบ้านยกพื้นสูง แต่อยากให้สังเกตว่าพื้นที่ขุดทั้งหมดไม่ค่อยพบเศษกระดูกสัตว์เลย คงเพราะมีการจัดการขยะที่เน่าเสียได้ภายในบ้านนั่นเอง ในพื้นที่นอกบ้านมีลักษณะหลักฐานที่แตกต่างไป โดยพบของหลายชนิดปนกัน ชั้นดินถูกรบกวนมาก เพราะใช้เป็นพื้นที่ทิ้งขยะ 

ในช่วงเวลานี้ยังได้พบหลักฐานสำคัญอีกคือ เงินนโม ซึ่งคงเป็นเงินตราในอดีตของเมืองนคร ต่อมาถูกนำมาสะสม ถือเป็นของขลัง แต่เงินนโมที่พบจำนวน 5 เหรียญนี้ไม่ได้เป็นของเก่า หากเป็นของทำใหม่เมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 5-6 นี้เอง เข้าใจว่าคงเป็นการทดลองทำของช่างสมัยนั้น เพราะในยุคนั้นคนนิยมเล่นของเก่ากันแล้ว

 

พื้นที่ใช้งานในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายต่อรัตนโกสินทร์ พื้นที่ในตึกยาวถูกใช้เป็นที่หุงหาอาหารและทิ้งขยะ

 

ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์-อยุธยาตอนปลาย (สมัยพระเจ้าปราสาททอง-รัชกาลที่ 3) ระยะนี้การอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านมีความหนาแน่น ความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 30-50 เซนติเมตร เนื่องจากพบโบราณวัตถุจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถแบ่งแยกชั้นดินระหว่างสมัยอยุธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ตอนต้นออกจากกันได้ เพราะชุดหลักฐานเหมือนกัน และไม่มีชั้นดินว่าง เครื่องกระเบื้องในช่วงเวลานั้นมีทั้งที่มาจากจีน สมัยราชวงศ์ชิงเป็นจำนวนมาก และยุโรป ภาชนะของจีนแสดงให้เห็นว่าคนในช่วงเวลานั้นมีวัฒนธรรมการดื่มชา มีการกินของหมักดอง (เช่น เกี่ยมฉ่าย เกลือ)

 

ชามสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายพบจากการขุดค้น 

มีตัวอักษรจีนเขียนคำว่า ‘โซว่’ หรือ ‘ซิ่ว’ เป็นสัญลักษณ์ของอายุยืนและสุขภาพ

 

นอกจากนี้แล้วยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินที่ส่วนใหญ่ผลิตจากสทิงพระ สังเกตได้จากลวดลาย ปะปนกับเตาท้องถิ่นของนครศรีธรรมราช เช่นที่ท่ามอญ (มอน) เองจำนวนกว่า 110 ลวดลาย ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าสังคมในช่วงเวลานี้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการกิน หม้อพวกนี้มีทั้งหม้อทะนนใช้ใส่น้ำตาลจากมะพร้าวหรือตาล หม้อกระดี่ หม้อข้าวหม้อแกง แสดงว่าวัฒนธรรมการกินของคนในช่วงเวลานี้ปะปนกันระหว่างไทย-จีน

 

หลักฐานที่น่าตื่นเต้นหน่อยคือ การค้นพบเศษขวดน้ำแร่ที่ผลิตขึ้นในเยอรมนี ขวดนี้ไม่ใช่แก้วแต่เป็นดินเผาเนื้อแกร่ง ที่ไหล่ของขวดมีลายประทับในกรอบวงกลม รอบกรอบมีตัวอักษร T E R ซึ่งคำเต็มของทั้งสามตัวนี้คือ SELTERS (เซลเตอร์ส) ในภาษาเยอรมันนั้นคำว่า Selters ก็แปลว่าน้ำแร่ ซึ่งขวดใบนี้ใช้ชื่อนี้แทนยี่ห้อด้วย ตรงกลางมีร่องรอยคล้ายส่วนหัวและขาของสัตว์ ซึ่งคือโลโก้รูปสิงโต ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของยี่ห้อน้ำแร่นี้ ทำให้รู้ว่าผลิตที่เมืองนิเดอร์เซลเตอร์ (Niederselters) ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี (ข้อมูลส่วนนี้ขอขอบคุณ อ.คงกฤช พุกกะมาน) อย่างไรก็ดี เราไม่รู้ว่าขวดนี้มาพร้อมกับน้ำแร่ด้วยไหม หรือว่าเป็นขวดที่ใช้บรรจุสิ่งอื่นที่เข้ามาพร้อมกับนักเดินทาง 

 

ขวดน้ำแร่จากเยอรมนี พบจากการขุดค้นที่ตึกยาว

 

ถัดมาเป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง-ต้น ความลึกต่ำลงไปที่ 50-90 เซนติเมตร สิ่งที่ใช้แบ่งชั้นดินช่วงเวลานี้คือเครื่องถ้วยลายครามสมัยราชวงศ์หมิง แต่ก็พบในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับในสมัยรัตนโกสินทร์-อยุธยาตอนปลาย แสดงว่าในช่วงเวลานี้คนจีนและไทยยังน้อย และการสะสมความมั่งคั่งยังไม่มาก เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้ต้องใช้เครื่องถ้วยจากเวียดนามที่มีคุณภาพด้อยกว่า 

 

ลวดลายต่างๆ ของภาชนะดินเผาในสมัยอยุธยาที่พบจากการขุดค้น

 

ในระยะด้วยการสั่งสมทรัพย์ที่ยังไม่มากและมีคนอาศัยอยู่ยังไม่หนาแน่น ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ใช้ภาชนะดินเผาจากทางสทิงพระเป็นจำนวนมาก ผสมกันไปกับภาชนะท้องถิ่นจากเตาท่ามอญ พบจำนวนทั้งหมด 80 ลาย แต่ด้วยการที่ลวดลายของภาชนะในยุคนี้ไปตรงกันกับในสมัยรัตนโกสินทร์-อยุธยาตอนปลาย ย่อมสะท้อนว่าผู้คนของเมืองนครนี้มีความต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย 

 

สุดท้ายในสมัยก่อนอยุธยา เป็นระยะแรกที่คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตึกยาวนี้ ซึ่งเป็นแนวสันทรายโบราณ คนพวกนี้มีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากคนในสมัยอยุธยาเป็นต้นไป เห็นได้จากภาชนะดินเผาเด่นของคนในช่วงเวลานี้คือ การใช้หม้อแบบมีสัน หมายถึงหม้อดินที่ทำสันแหลมที่ไหล่ เพื่อถือได้สะดวก และเป็นความนิยมชมชอบของกลุ่มคนในวัฒนธรรมทวารวดี-ศรีวิชัย 

 

จากทั้งหมดที่พรรณนามาจะเห็นได้ว่า เศษกระเบื้องถ้วยไหแตกๆ หักๆ ในพื้นที่ตึกยาวนี้ยืนยันให้ได้ชัดว่า สาเหตุที่ย่านท่าวังถูกเลือกให้เป็นศูนย์กลางของคนจีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 นั้น เป็นเพราะย่านดังกล่าวมีคนจีนอาศัยอยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะพื้นที่ตรงนี้มีคลองท่าซักที่ไหลออกไปทะเลได้ที่ปากพญา เล่ากันว่าคลองนี้ใหญ่พอให้เรือสำเภาเข้ามาใกล้ตัวเมืองนครได้ จึงมีด่านขนอน (ด่านแรก) ที่ใกล้วัดท่าโพธิ์ 

 

ขุดทุนทางวัฒนธรรมสร้างพื้นที่เรียนรู้ และงานคราฟต์ของอดีต  

งานโบราณคดีคืองานที่สร้างทุนทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ไม่ใช่งานบูรณะเจดีย์หรือขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์โบราณเท่านั้น ไม่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการท่องเที่ยว 

 

ดังนั้น การขุดค้นตึกยาวบวรนครจึงมีโจทย์สำคัญด้วยว่า สิ่งที่ขาดไปของเมืองนครคือ พื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดีเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของสามัญชนคนทั่วไป เพราะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังเน้นการเป็นสถานที่เก็บวัตถุทางศาสนาและของชนชั้นสูงเป็นหลัก (เรื่องนี้มาจากเงื่อนไขของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในสมัยก่อน) 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้คนทั่วไปไม่ทราบถึงความสำคัญของสิ่งละอันพันละน้อย ไม่ว่าจะเป็นเศษหม้อดิน เครื่องถ้วย แก้ว โลหะ ซึ่งทั้งหมดสามารถบ่งบอกวิถีชีวิต การกินอยู่ การติดต่อของคนในอดีตกับโลกภายนอก และที่สำคัญคือรากเหง้าของตัวเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น หมอบัญชาจึงมีความคิดที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นมานำเสนอให้ความรู้กับคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ตึกยาวที่กำลังจะได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่

 

ภาพตึกยาวที่จะได้รับการปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ แหล่งเรียนรู้ และนำทุนวัฒนธรรมจากการขุดค้นมาต่อยอด

 

นอกจากนี้แล้ว โบราณวัตถุต่างๆ จะนำมาทดลองทำผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย โดยอาจหยิบลวดลายหม้อท้องถิ่นจำนวนมากกว่าร้อยลายที่ขุดค้นมาทำเป็นงานคราฟต์ เพราะแท้จริงแล้วโบราณวัตถุก็คืองานคราฟต์แบบหนึ่ง แต่เป็นงานคราฟต์ในอดีต ซึ่งสะท้อนทักษะที่ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญและการสั่งสมทางภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การสร้าง Museum Restaurant การพัฒนา Public Space ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต้องการในอนาคต (ไม่ใช่แค่ที่เรียนรู้) และอื่นๆ ได้อีกมาก ขึ้นอยู่กับวิธีการเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป

 

ในปัจจุบันมีสัญญาณที่ดีขึ้นมาบ้าง ที่การก่อสร้างหลายโครงการในเขตเมืองเก่าให้ความสำคัญกับงานโบราณคดี แต่ก็ยังมีโครงการอีกมากที่ไม่ได้ให้น้ำหนักนัก อาจเป็นเพราะงานโบราณคดีจะทำให้ต้นทุนของโครงการเพิ่มมากขึ้น และใช้เวลามากกว่าเดิม แต่ถ้าหากมองว่างานโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์แล้ว ก็จะมองโบราณคดีในมิติใหม่ ซึ่งควรเป็นแนวโน้มของงานพัฒนาในอนาคต ที่งานพัฒนาสามารถเดินจับมือร่วมกันไปกับงานอนุรักษ์ได้เหมือนอย่างเช่นที่อังกฤษและอีกหลายประเทศประสบความสำเร็จมาแล้ว 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Marco Madella, Gabriela Kovacs, Brigitta Berzsenyi, and Ivan Briz Godino. The Archaeology of Household. Oxford: Oxbow Books.
  • Morel, Hana. “Policy and Practice of London’s Historic Environment,” The Historic Environment: Policy & Practice. Volume 10, 2019 – Issue 2. Available at: www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/17567505.2019.1574098
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising