×

สุรเชษฐ์แนะรัฐบาลกลับลำสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน หวั่นซ้ำรอยโฮปเวลล์

โดย THE STANDARD TEAM
03.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (3 เมษายน) ที่รัฐสภา ​​ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายข้อเท็จจริงในหัวข้อ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ซึ่งได้เซ็นสัญญากันไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 

 

สุรเชษฐ์กล่าวว่า โครงการนี้เอกชนได้สัมปทานในรูปแบบ PPP Net Cost มีกรอบเวลา 50 ปี โดยรัฐและเอกชนร่วมกันลงทุน มีการแบ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาของแต่ละฝ่าย โดยไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีการเซ็นสัญญาแล้วรัฐจะต้องช่วยอุ้มอย่างไร้ข้อจำกัด และให้เอกชนต้องรับความเสี่ยงจากสิ่งที่ผันแปรตามภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติของการทำธุรกิจ เช่น แม้จะมีโอกาสที่จะได้กำไรมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะขาดทุนเช่นเดียวกัน 

 

ทั้งนี้ เนื้อหาในสัมปทานนั้นมีการผูกงานผ่าน 2 อย่าง คือ 1. งานรถไฟ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. จากสถานีพญาไทไปยังสถานีสุวรรณภูมิ (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) 2. จากสถานีพญาไทไปยังสถานีดอนเมือง 3. ส่วนต่อขยายตะวันออก จากสถานีสุวรรณภูมิไปสถานีอู่ตะเภา ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) นำมาซึ่งปัญหาต้นทุนและโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ยังเป็นปัญหาไม่จบ

 

  1. ปัญหาการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณมักกะสัน 141 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีที่ดินในอำเภอศรีราชาอีก 25 ไร่ ซึ่งคู่สัญญาหลักอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายใต้การนำของกลุ่มซีพี ซึ่งมีเม็ดเงินการลงทุนจากเอกชน 110,000 ล้านบาท และมีรัฐร่วมลงทุนอีก 160,000 ล้านบาท 

 

การลงทุนครั้งนี้จะสร้างเม็ดเงิน และคนไทยจะรวยกันหมด แต่วันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินผ่านมาแล้ว 5 ปี แต่ยังไม่มีการปักเสา ถูกขายฝันจนเกินจริงไปมาก ซึ่งในความเป็นจริงมีการดำเนินการไปเพียงเล็กน้อย เช่น การปรับปรุงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงมีการเวนคืนพื้นที่โดยรัฐไปแล้ว 6,787 ล้านบาท 

 

แต่ไฮไลต์นั้นอยู่ที่สัมปทานนี้ยังมีการเลื่อน NTP ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน โดยล่าสุดระบุไว้ว่าอยู่ในเดือนมิถุนายน 2567 ในเงื่อนไขการออก NTP นั้นมี 3 ข้อ โดยในข้อ 3 ระบุว่า เอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ทำให้เอกชนสามารถประวิงเวลาการก่อสร้างได้ด้วยการส่งเอกสารช้าๆ ซึ่งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก็เช่นกัน ทำให้มีการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก 

 

ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 5 ปี ยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เริ่มสร้าง มีความคืบหน้าเป็นศูนย์ และไม่สามารถหาคำตอบจากหน่วยงานใดได้ ตนเองจึงขอตั้งคำถามว่า นี่คือโครงการเมกะโปรเจกต์แสนล้านบาท รัฐบาลกำลังเล่นอะไรกันอยู่ ขณะนี้มีผู้ที่เดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน มีอาคารบ้านเรือนอย่างน้อย 370 หลัง ซึ่งรัฐบาลก็มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท 

 

สุรเชษฐ์เชื่อว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างรู้ตัวดีว่าโครงการนี้มีปัญหา และอยู่ในสภาพที่ต่างคนต่างพูดไม่ออก ซึ่งเราก็สังเกตได้ไม่ยาก สัมปทานเซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2562 แต่วันนี้ยังไม่ได้เริ่มตอกเสาเข็ม มันต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน ตนขอเสนอ 2 ทางเลือก ดังนี้

 

  1. เลิกกันวันนี้ เจ็บน้อยทั้งสองฝ่าย หากยอมรับว่าโครงการนี้ไม่เมกเซนส์ ไม่คุ้มค่า ยังสามารถกลับลำได้โดยไม่เจ็บเกินไป แต่หากมีการก่อสร้างจะยิ่งทำให้เจ็บหนัก

 

  1. หากยังไม่มีการล้มเลิกในวันนี้จะต้องมีคนที่เจ็บอีกมาก ทั้งผู้รับสัมปทานและภาครัฐอาจต้องฟ้องร้องไป

 

“หากรัฐบาลยังหลับหูหลับตาเดินต่อไปโดยไม่สนใจความคุ้มค่าของโครงการก็ขอให้นึกถึงตอม่อโฮปเวลล์ และมีโอกาสสูงที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่เราควรเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต” 

 

ทั้งนี้ สุรเชษฐ์ได้เสนอแนะจำนวน 3 ข้อ 1. รัฐบาลต้องเลิกยื้อเวลาและต้องกล้าตัดสินใจ ต้องมีเดดไลน์ และต้องออก NTP ให้จบภายในเดือนมิถุนายนนี้ 2. อย่าเอื้อประโยชน์ด้วยการแก้ไขให้เอกชนอย่างน่าเกลียด ซึ่งรัฐบาลกำลังจะแก้สัญญาเพื่อช่วยเหลือนายทุนด้วยการปรับงวดเงินเข้ากระเป๋านายทุนให้เร็วขึ้น เพราะหากบริษัทขาดสภาพคล่องเจ้าของควรจะเพิ่มทุน แต่รัฐบาลไม่ควรที่จะเทงวดเงินเพิ่ม และ 3. ขอให้ทบทวนแผนงานโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงให้ดี ควรจะพิจารณาถึงความซ้ำซ้อนของระบบรถไฟทางคู่และระบบมอเตอร์เวย์ที่มีแผนจะทำทั่วประเทศเช่นกัน รัฐบาลจะต้องจัดลำดับความสำคัญ อะไรที่ทำก่อนทำหลัง และแต่ละเส้นทางมีความสำคัญอย่างไร 

 

พร้อมทั้งมีคำถามต่อคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 3 ข้อ 1. จะมีการเลื่อนออก NTP จากกำหนดการในปัจจุบันในเดือนมิถุนายน 2567 อีกหรือไม่ 2. จะมีการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมเมื่อปี 2562 อีกหรือไม่ 3. เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย รัฐบาลคิดว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ หรือแบ่งสายแบบที่ทำอยู่ปัจจุบันนั้นดีแล้ว

 

สุรเชษฐ์กล่าวว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เราจะได้ทราบว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ และใครคือผู้บงการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นนายทุนหรือนายใหญ่ แต่ตนเองขอย้ำว่า ยิ่งยื้อยิ่งแย่ และขอให้ระวังว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้นอาจกลายเป็นค่าโง่ก้อนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising