×

ทำความรู้จัก ภูริน พานิชพันธ์ ศิลปินไทยในซานฟรานฯ ที่ทำงานศิลปะให้ดูสนุก

15.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ภูริน พานิชพันธ์ คือหนึ่งในศิลปินไทยที่จะได้โชว์ผลงานใน Hotel Art Fair ปีนี้ แม้ในช่วงแรกเริ่มเขาจะเคยทำงานให้กับบริษัทไมโครซอฟท์ที่ดูเหมือนจะให้ความมั่นคงในชีวิตของเขา แต่เขาก็ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งงานนั้น และหันออกมาทำงานศิลปะที่เขาหลงรักแทน
  • ผลงานของภูรินแทบจะสะท้อนความป็นยุคมิลเลนเนียลได้อย่างลงตัว ทั้งการหยิบประเด็นรอบตัวมาตีความให้สนุกขึ้น เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ขี้เล่น บวกกับการใช้สื่อแบบ Interactive มาผสมในงาน เพราะเขาเคยเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Innovative Products) ใน Silicon Valley มาก่อน รวมทั้งความเรียบง่ายที่ทำให้คนธรรมดาอย่างเรารู้สึกไม่เกรงกลัวที่จะชื่นชมศิลปะสักชิ้น

ใครว่างานศิลปะต้องดูได้แค่ในแกลเลอรีหรือมิวเซียมเพียงอย่างเดียว Hotel Art Fair คืออีเวนต์ที่รวบรวมผลงานศิลปะจากศิลปินไทยและต่างชาติมาให้เปิดให้เรามีโอกาสได้เข้าชมกันแบบฟรีๆ แต่จุดเด่นก็เจ๋งตามชื่อ เพราะงานนี้จะเกิดขึ้นในห้องโรงแรม!

 

Hotel Art Fair ครั้งที่ 6 ในปีนี้จะเป็นการร่วมมือกับโรงแรม W Bangkok จัดงานชื่อเต็มที่ว่า Hotel Art Fair 2019 ‘Breaking Boundaries’ by FARMGROUP ที่ต้องการจะพูดถึงการไร้ข้อจำกัดของงานศิลปะ

 

 

ภูริน พานิชพันธ์ คือหนึ่งในศิลปินไทยที่จะได้โชว์ผลงานใน Hotel Art Fair ปีนี้ แม้ในช่วงแรกเริ่มเขาจะเคยทำงานให้กับบริษัทไมโครซอฟท์ที่ดูเหมือนจะให้ความมั่นคงในชีวิตของเขา แต่เขาก็ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งงานนั้น และหันออกมาทำงานศิลปะที่เขาหลงรักแทน

 

ถ้าใครยังไม่เคยเห็นผลงานของเขา เราบอกได้เลยว่าผลงานของภูรินแทบจะสะท้อนความเป็นยุคมิลเลนเนียลได้อย่างลงตัว ทั้งการหยิบประเด็นรอบตัวมาตีความให้สนุกขึ้น เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ขี้เล่น บวกกับการใช้สื่อแบบ Interactive มาผสมในงาน เพราะเขาเคยเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Innovative Products) ใน Silicon Valley มาก่อน รวมทั้งความเรียบง่ายที่ทำให้คนธรรมดาอย่างเรารู้สึกไม่เกรงกลัวที่จะชื่นชมศิลปะสักชิ้น

 

ซึ่งวันนี้ THE STANDARD ก็ได้เชิญ ภูริน พานิชพันธ์ มานั่งพูดคุยกันถึงผลงานศิลปะของเขา และความเจ๋งของการเป็นคนไทยที่ได้โชว์งานไกลถึงซานฟรานซิสโก

 

 

 

เราแอบไปฟัง Ted Talk ของคุณมา ถ้าในวันนั้นคุณไม่ฟังเสียงในหัวให้เรียนออกแบบหรือให้ลาออกจากงานที่ไมโครซอฟท์ คุณคิดว่าชีวิตตอนนี้จะเป็นอย่างไร

คงเป็นชีวิตที่น่าเบื่อ ตายตัว ไร้ความหมาย ไร้ความสนุก ผมทำงานทุกวันนี้ผมมีความท้าทายผสมกับความกลัว (ว่างานศิลปะจะไปรอดหรือเปล่า) แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสุขกับการทำงานและการสอนมาก แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าผมไม่ทำทุกอย่างในปัจจุบันนี้จะเอาเวลาไปทำอะไร

 

จากเด็กที่ตั้งใจเรียน เดินทางตามแบบแผนที่มีกำหนดว่าอะไรถูก-ผิดชัดเจน จนปัจจุบันกลายเป็นศิลปินในแขนงที่ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ตัวตนเดิมในตอนเด็กของคุณยังแอบมีอิทธิพลทางความคิดอยู่บ้างไหม

คุณแม่ผมเป็นคนที่มี Work Ethic สุดยอดมาก เป็นคนที่มีนโยบาย ‘Yes I can’ อยู่ตลอด ซึ่งผมได้เชื้อนี้จากคุณแม่มาเต็มๆ เวลาผมทำงานอะไร ผมพยามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ทำชุ่ยๆ เผาส่ง ถึงแม้ว่าจะนอนน้อยหรือไม่ได้นอนก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้เชื้อจากพ่อในด้านของการค้นพบตัวเอง การทำในสิ่งที่ตัวเองรัก การสร้างเทสต์ของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีแบบแผนของตัวเองไม่ซ้ำใคร เวลาผมสอนนักเรียน ผมมีปรัชญาในการ ‘Enable my students to be the best versions of themselves’ คือทุกคนมีแนวทางของตัวเอง แต่ก็ควรทำให้ดีที่สุดในสายงานที่ตัวเองรัก

 

เห็นว่าหลังจากออกจากงานคุณก็โดดขึ้นรถไฟไปเที่ยวหลายที่เลย คุณคิดว่าการเดินทางมีอิทธิพลต่อมุมมองการดำเนินชีวิตของคุณ และมีผลต่องานศิลปะของคุณขนาดไหน

ผมเป็นคนเดินทางบ่อยมากตั้งแต่เด็ก คุณพ่อผมจะชอบพาผมไปลุยๆ แนวทุลักทุเล เช่น อินเดีย, พม่า และลาว มันทำให้ผมได้สัมผัสชีวิตในแบบ High Contrast จากแนวติดดินกินอาหารข้างทางกับชาวบ้าน จนถึงแนวจิบไวน์ดูพระอาทิตย์ตกดิน มันทำให้ผมได้เข้าใจคน เข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจโลกมากขึ้น พร้อมกับรู้สึกโชคดีที่ได้มีทางเลือกและโอกาสต่างๆ ในการทำงานที่ใจรักจริงๆ

 

หลังๆ มา ผมมักจะเดินทางด้วยตัวเอง (เช่น ตอนเดินทางรอบโลกโดยไม่ใช้เครื่องบิน) ทุกๆ ที่ที่ผมไป ผมจะไปดูงานศิลปะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะงานพวก Interactive, Modern, และ Contemporary Art ทำให้ได้แรงบันดาลใจมาใส่ในงานตัวเอง ยิ่งหลังๆ มานี้ผมเริ่มทำงานศิลปะแบบ Context-Specific มากขึ้น (เช่น การทำชิ้นงานบางชิ้นเป็นภาษาไทยหรือภาษาญี่ปุ่น) การเข้าใจ Context จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานของผม

 

พอออกจากงานเพื่อมาทำงานศิลปะแล้ว จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้คุณมองว่าตัวเองคือ ‘ศิลปิน’ อย่างเต็มตัว

ตอนผมเริ่มใช้คำว่า ‘Artist’ ในการอธิบายอาชีพตัวเอง (หลังจากลาออกจากงานที่ Ideo) มันเป็นอะไรที่ฟังดูขัดๆ มาก ผมเลยใช้คำว่า Artist&Designer มาอยู่หลายปี แต่ช่วงหลังๆ นี้ผมเริ่มมีความภูมิใจกับงานตัวเองมากขึ้น พร้อมกับทำงานออกแบบน้อยลง เวลาต้องกรอกอาชีพในแบบฟอร์มเลยใส่ Artist อย่างเดียว อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งคือ การได้รู้จักสไตล์งานศิลปะตัวเองมากขึ้นหลังจากผลิตงานขึ้นมาประมาณ 15-20 ชิ้น พอมาดู Portfolio ตัวเอง และมาเขียน Artist Statement เลยเริ่ม Connect The Dots แล้วรู้สึกว่า เรามีจุดยืนและภาพมองที่ต่างไปจากศิลปินคนอื่นๆ

 

 

ศิลปินต้องทำงานศิลปะ แล้วศิลปะสำหรับคุณต้องทำหน้าที่อะไร

ผมชอบคำพูดที่ว่า “The highest purpose of art is to inspire.” ก่อนผมจะมาทำงานศิลปะจริงๆ จังๆ ผมไม่เข้าใจคำพูดนี้อย่างแท้จริง แต่หลังๆ มา ผมเริ่มเข้าใจว่า งานบางชิ้นเราอาจจะเข้าไม่ถึง แต่บางชิ้นพอเข้าถึงแล้ว มันมีพลังมาก เคยมีหลายครั้งที่ผมสัมผัสงานบางชิ้น อย่างเช่น งานของ James Turrell ที่ถึงกับทำให้น้ำตาไหล

 

อีกหน้าหนึ่งของศิลปะคือ การถามคำถามสังคมที่ยากต่อการเข้าใจ หรือพูดถึงประเด็นที่คนมักมองข้าม ผมชอบงานของ Olafur Eliasson มาก เพราะเขาใช้ศิลปะในการพูดถึงเรื่อง Climate Change ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญมาก แต่มีน้อยคนที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ

 

คุณคิดว่าทำไมคนไทยถึงมักมองว่างานศิลปะเป็นเรื่องเข้าถึงยากและเฉพาะกลุ่ม

ผมว่าเรื่องนี้เป็นทุกๆ ที่ในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทย การเข้าถึงศิลปะ โดยเฉพาะ Modern หรือ Contemporary Art เป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่ง ถ้าคุณยังต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและครอบครัว ไม่ว่าจะสังคมไหนก็คงจะยากที่จะเอาเวลามาเข้าใจศิลปะแบบนี้

 

ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเดียวกันนี้ก็มีศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีพื้นบ้านที่สืบทอดต่อๆ กันมา แต่ส่วนมากอาจจะไม่ชื่นชมหรือภาคภูมิใจในแบบแผนของตัวเอง ผมว่ามันคงจะดีมากถ้าทุกๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย สอน Art Appreciation ให้กับเด็กทุกๆ วัย ให้รู้จักว่าวัฒนธรรมตัวเองมีอะไรดี และมีอะไรสามารถมาปรับแต่งแบบสร้างสรรค์ได้

 

 

 

ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ที่คุณทำมักอยู่ในต่างประเทศ คุณคิดว่าหากเริ่มหนทางการเป็นศิลปินในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แตกต่างกันขนาดไหน

ถ้าผมมาทำศิลปะที่ไทย ผมอยากจะบุกเบิกทางด้าน Interactive Art แต่จะผสมผสานความเป็นไทยเข้าไปด้วย ผมโตขึ้นมากับวัฒนธรรมล้านนา กับเครื่องเขิน กับผ้าโบราณที่คุณพ่อสะสม คงจะต้องมีสักวันที่ผมจะหาลู่ทางในการผสมผสานแนวทางของผมกับรากเหง้าเหล่านี้

 

คุณอยู่ในสังคมที่มีคนต่างชาติมากมาย เคยเจอเรื่องสนุกๆ หรือแปลกๆ เมื่อมีคนรู้ว่าคุณเป็นคนไทยหรือเปล่า

แทบจะทุกครั้งที่ผมบอกชาวต่างชาติว่าผมเป็นคนไทย ผมมักจะได้คำตอบแนวว่า “Oh my God, I love Pad Thai!” ซึ่งจริงๆ แล้วคาดว่า มันเป็นอาหารประยุกต์ระหว่างก๋วยเตี๋ยวผัดจีนๆ กับขนมเบื้องญวนแนวเวียดนาม มันทำให้ผมฉุกคิดถึงคำว่า Authenticity ว่าจริงๆ แล้วมันมาจากอะไร มีครั้งหนึ่งผมทำงาน Installation Art ขึ้นมาออกชื่อว่า Authenmathai: An Automatic Thai food Machine เป็นเครื่องยนต์ที่ชวนให้ผู้คนมาเลือกและปรุงแต่งอาหารไทยในสไตล์ของตัวเอง ว่าจะเอาเผ็ดเท่าไร ใส่น้ำปลา กะทิ พริกขี้หนูเยอะไหม แล้วพอกดปุ่ม เครื่องยนต์นี้ก็จะผลิตอาหารไทยใส่กระป๋องออกมา แนวว่านี่แหละ Authentic จริงๆ เป็นข้อคิดให้ผู้ดูว่า อะไรคือสิ่งที่เราเรียกว่าแท้หรือปลอม

 

งาน Hotel Art Fair 2019 ‘Breaking Boundaries’ by FARMGROUP ถือเป็นครั้งแรกที่คุณได้แสดงงานศิลปะอย่างเต็มตัวของตัวเองในประเทศไทยหรือเปล่า​ รู้สึกอย่างไรบ้าง

ใช่ครับ ผมเคยแสดงงานที่ประเทศอื่น แต่ไม่เคยแสดงที่ไทยเลย ผมเคยไป Art Fair มาหลายที่ และสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า Hotel Art Fair เป็นอะไรที่ Innovative และ High Caliber มาก รู้สึกทั้งตื่นเต้นและเสียว พร้อมที่จะได้ ‘ข้ามแดนกลับบ้าน’ มาพร้อมกับมุมมองใหม่ๆ ที่ผมได้ผลักออกมา

 

เล่าให้ฟังถึงผลงานที่จะได้แสดงที่งาน Hotel Art Fair 2019 ‘Breaking Boundaries’ by FARMGROUP หน่อยได้ไหม

ต้องขอขอบคุณฟาร์มกรุ๊ป ผู้จัดงานครั้งนี้ ที่ชวนมาทำงาน และสิงห์ คอปอเรชั่น ที่สนับสนุนศิลปินคนไทยให้ได้แสดงงานอีกด้วย ซึ่งงานครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นซีรีส์ใหม่ของผมที่ใช้ชื่อรวมๆ ว่า Black, White, and Everything Else In Between เป็นงาน Interactive Art ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี แต่จะเน้นการที่ผู้ดูจะต้องเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง เพื่อที่จะเห็นและเข้าใจถึงตัวงาน งานชุดนี้กล่าวถึงสิ่งที่ต่างกันสุดขั้ว แต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน ทั้งขาว ดำ หัวซ้าย หัวขวา เสื้อแดง เสื้อเหลือง ทำให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่อาจจะดูตายตัว เช่น ความจริงหรือความศรัทธาในเชิงศาสนา มันขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา

 

อีกส่วนของงานที่จะนำมาแสดงเป็นงาน Interactive ที่ผมทำมานาน แต่จริงๆ แล้วมันมีความโยงใยกับงานชุดล่าสุดมาก งานของผมมักจะเล่นกับภาษา ความเป็น Pixel และ Modular อันนี้ต้องมาดู มาเล่นเอง ถึงจะเข้าใจ (ขอบอกก่อนว่า ขนมาลำบากมาก อาจไม่เต็มรูปแบบจริงๆ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)

 

 

คุณคิดว่าวงการศิลปะในประเทศไทยอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ผมคาดว่า คนไทยจะให้ความสนใจกับ Contemporary Art มากขึ้น แต่ก็ควรจะมีกลิ่นอายความเป็นไทยผสมอยู่ด้วย ผมชอบมากเวลางานศิลปะมีการประยุกต์รากเหง้าของตัวเองให้แปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิม อย่างเช่น งานของ Faig Ahmed ชาวอาเซอร์ไบจาน ที่ถักพรมออกมาเป็นกึ่งโบราณกึ่งดิจิทัล หรืองาน Performance Art ของ พี่รณรงค์ คำผา และ แววดาว ศิริสุข ที่นำการเต้นแบบล้านนามาประยุกต์ให้มีความ Contemporary เข้ากับเวทีนานาชาติได้ ส่วนด้าน Institution ผมว่าพิพิธภัณฑ์อย่าง MAIIAM ที่มีการออกแบบและจัดการที่ Tasteful ยกระดับวงการศิลปะไทยให้ถึงระดับโลก กลายเป็นว่า คนจะต้องดั้นด้นมาสันกำแพง เพื่อที่จะมาดูศิลปะ เป็น Art Tourism ที่กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน แนวเดียวกับเกาะนาโอชิมาที่ญี่ปุ่น ใจอยากจะให้มีแบบนี้เยอะๆ

 

ถ้าให้เลือกผลงานศิลปะของตัวเองให้กับประเทศไทยในตอนนี้ คุณนึกถึงงานอะไร

ผมคงจะเลือกงานชุด Black, White, and Everything Else In Between ครับ แต่อยากจะปรับแต่งให้พูดถึงสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น อยากจะพูดถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก ชนชั้นวรรณะ ความเห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่ส่วนรวม ทั้งๆ ที่สุดท้าย ก็ร้องเพลงชาติเหมือนกัน ทานอาหารคล้ายกัน พูดภาษาคล้ายกัน อยากจะช่วยพัฒนาชาติเหมือนกันทุกคน

 

สำหรับใครที่อยากชมงานศิลปะของภูรินและผลงานศิลปะอื่นๆ จากแกลเลอรีมากกว่า 30 แห่งจากทั่วโลก รวมไปถึงศิลปินชั้นนำจากทั้งไทยและต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น ก็สามารถมาชมกันได้แบบฟรีๆ ที่งาน Hotel Art Fair 2019 ‘Breaking Boundaries’ by FARMGROUP ที่โรงแรม W Bangkok วันเสาร์ที่ 22 และวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ตั้งแต่เวลา 11.00-24.00 น. หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ hotelartfair.com/, www.facebook.com/HotelArtFair

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising