×

ร้อนจะตายอยู่แล้ว! จริงไหมที่นักเทนนิสอาจถึงตายได้ในการแข่งยูเอสโอเพนเพราะอากาศเดือดจัด

08.09.2023
  • LOADING...

การแข่งขันเทนนิสยูเอสโอเพนกำลังดำเนินไปอย่างเร่าร้อน แต่ที่ร้อนรุ่มไม่แพ้กันคือสภาพอากาศในการแข่งขัน

 

มันร้อนถึงขั้นที่ ดานิล เมดเวเดฟ นักเทนนิสชาวรัสเซีย ซึ่งผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศถึงกับต้องออกปากว่า “นักกีฬาอาจตายได้ในความร้อนระดับนี้”

 

ในสภาพอากาศความร้อน 35 องศาเซลเซียส ความชื้นอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นไปได้จริงไหมที่สภาพอากาศแบบนี้จะเป็นอันตรายกับนักเทนนิส

 

แล้วมันจะถึงชีวิตได้เลยจริงไหม?

 

เพื่อไขปริศนาในเรื่องนี้ The Times สื่อดังของอังกฤษ ได้ติดต่อขอความรู้ไปยัง แอนดี้ โบลว ผู้ก่อตั้ง Precision Fuel & Hydration หรือผู้เชี่ยวชาญด้าน Hydration หรือเรื่องของน้ำในร่างกายระดับโลก ที่จะมาให้คำตอบว่าสิ่งที่เมดเวเดฟพูดนั้นเป็นแค่การ ‘บ่น’ หรือมันเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ที่อาจเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นได้

 

ผู้เชี่ยวชาญให้คำอธิบายว่าตามหลักพื้นฐานแล้ว ร่างกายของมนุษย์มีการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย โดยไม่ว่าอุณหภูมิผิวหนังจะเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างไร อุณหภูมิที่แกนของร่างกายจะคงที่เสมอ อยู่ที่ 37-38 องศาเซลเซียส

 

 

ถ้าอุณหภูมิลงมาต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ถือว่าเย็นเกินไป หรือถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าร้อนจนเกินไป

 

ไม่ว่าจะเย็นเกินหรือร้อนเกิน มันจะสร้างปัญหาให้แก่ร่างกายของเราอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน ร่างกายของเราก็จะปรับตัวผ่านการขับความร้อนออกทางเหงื่อ การหายใจมากขึ้น แลสูบฉีดเลือดมาที่ผิวหนังมากขึ้น ซึ่งทำให้ผิวหนังของเรากลายเป็นสีแดง

 

ทีนี้ถ้าเราไปออกกำลังกาย กล้ามเนื้อของเราก็จะสร้างความร้อนที่ไม่จำเป็นขึ้นมาผ่านการเคลื่อนไหว ดังนั้นต่อให้เราออกไปวิ่งในสภาพอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาวในเวลาไม่กี่นาที เหงื่อของเราก็ยังออกอยู่ดี เพราะความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายจำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อยออกมา

 

หลักการทำงานของร่างกายมนุษย์ในการกำจัดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในคือผ่านทางเหงื่อ แต่มันจะยากขึ้นหากสภาพอากาศมีความชื้นสูงจนทำให้ความเข้มข้นของความชื้น (Moisure) บนผิวหนังของเรากับในอากาศแตกต่างกันน้อย

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้เหงื่อระเหยได้ยาก มันจึงไหลกลับและไม่ได้ระบายความร้อนออกไปด้วย

 

 

ทีนี้ในการแข่งขันยูเอสโอเพนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีความชื้นในอากาศสูงมาก เหงื่อของนักกีฬาจึงไม่ได้ระเหยออกมา และทำให้อุณหภูมิในร่างกายไม่ได้มีการปรับอย่างเหมาะสม

 

ในสภาพอากาศที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ก็รู้สึกเหมือน 40 องศาเซลเซียส (Feels like 40°C เหมือนในแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศ)

 

เมื่อเทนนิสเป็นกีฬาที่ใช้พลังระเบิด (Explosive) สูง ยิ่งแข่งกันยาวนานมากเท่าไร มันก็ยิ่งมีการวิ่งสปรินต์ไป-กลับ และการใช้พลังของกล้ามเนื้อมากขึ้นเท่านั้น และสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้นมากในร่างกาย

 

ในความคิดของคนทั่วไปนักกีฬาที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการออกกำลังกายในสภาพอากาศที่ร้อนน่าจะเป็นพวกนักวิ่งมาราธอน นักไตรกีฬา หรือนักกีฬาที่แข่งขันเรื่องความอึดความอดทน

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วนักกีฬาเหล่านั้นสามารถควบคุมทุกอย่างได้ง่ายกว่า พวกเขาอาจมีการวิ่งที่ใช้การระเบิดพลังหรือความเร็วแบบสั้นๆ ไม่ได้เยอะอะไรนัก ในขณะที่นักเทนนิสไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยในสิ่งเหล่านี้

 

หนึ่งในนักกีฬาที่ประสบปัญหาอย่างมากคือ เควิน แอนเดอร์สัน ซึ่งเคยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศรายการวิมเบิลดันเมื่อปี 2018 เขาเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องของค่าเฉลี่ยการสูญเสียเหงื่อสูงมาก โดยจะเสียเหงื่อ 3.5-4 ลิตรต่อชั่วโมง

 

ปกติแล้วนักเทนนิสจะสูญเสียเหงื่อที่ราว 1-1.5 ลิตร

 

 

ปัญหาการเสียเหงื่อทำให้แอนเดอร์สันกลายเป็นนักกีฬาเจ้าของสถิติอย่างไม่เป็นทางการในการดื่มน้ำระหว่างแข่งขันมากที่สุดถึง 2.5 ลิตรทุกชั่วโมง

 

ยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการรับมือกับความร้อนและความชื้นในอากาศด้วย เพราะนักกีฬาแต่ละคนก็มีความสามารถในการรับมือกับความร้อนได้ไม่เท่ากัน ซึ่งแยกออกเป็นทั้งเรื่องของร่างกายและสภาพจิตใจที่จะส่งผลต่อการแข่งขันทั้งสองอย่าง

 

บางคนคุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อน แต่บางคนทำตัวอย่างไรก็ไม่ชินกับสภาพอากาศแบบนี้ ซึ่งแน่นอนว่าแบบหลังก็จะมีปัญหากับสภาพอากาศแบบนี้มากหน่อย ต่อให้สุขภาพแข็งแรง สภาพร่างกายฟิตอย่างไรก็ตาม

 

สิ่งที่เมดเวเดฟบอกว่า “มันจะตายได้เลย”​ ฟังแล้วอาจดูรุนแรง หรือฟังแล้วยากที่จะเกิดขึ้นได้

 

แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย

 

บนโลกใบนี้มีผู้คนมากมายที่เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนจากโรคฮีตสโตรก ซึ่งบ่อยครั้งมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสภาพร่างกายหรือจิตใจเลย

 

ดังนั้นอาจต้องพูดคุยกันถึงวิธีการที่จะช่วยนักกีฬารับมือกับสภาพอากาศ โดยปกติแล้วจะมีการพักเบรกให้ในระหว่างแข่ง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการเผาผลาญของนักกีฬาทำงานช้าลงไปจนถึงจุดที่ร่างกายเย็น หรือการดื่มน้ำระหว่างแข่ง ใช้ผ้าชุบน้ำแข็งเช็ดตัว หรือใช้พัดลมช่วยระบายความร้อน

 

หรือในรายการยูเอสโอเพนก็อนุญาตให้ปิดหลังคาบางส่วนให้มีร่มเงา ช่วยลดความร้อนในสนามหากอุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส

 

เสียงจากเมดเวเดฟจึงเป็นการสะท้อนมุมมองจากนักกีฬาที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดที่ควรรับฟัง

 

เพราะถึงโอกาสจะเกิดขึ้นได้ยาก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรต้องรอให้เกิดขึ้นก่อนถึงจะหาทางรับมือกับมัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising