“โมเมนต์ที่สะเทือนใจที่สุดคือ ตอนที่เราพูดกับพนักงาน
ตอนนั้นเราร้องไห้ บอกความจริงกับเขาไปว่า ถ้าสถานการณ์นี้ดำเนินไปนานกว่าที่คิด ถึงจุดหนึ่งเราอาจจะไม่มีเงินเดือนให้กับเขาแล้วนะ เราร้องไห้ไปบอกเขาไป เรากลัวว่าเราจะดูแลเขาไม่ไหว”
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ซึ่งทุกชีวิตต่างก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย THE STANDARD POP คิดว่าน่าจะเป็นการดี หากเราได้เก็บบันทึกเรื่องราวของชีวิตที่ได้รับผลกระทบเอาไว้ เพื่อวันหนึ่งหากเราได้มองย้อนกลับมาอ่านแล้วจะไม่หลงลืมไปว่า เราได้ผ่านความยากลำบากต่างๆ มาได้อย่างไร ได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้ และแน่นอนว่า เมื่อหลายคนที่ได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ คุณจะได้รู้ว่า ไม่เพียงแต่คุณคนเดียวเท่านั้นที่กำลังพยายามที่จะหาทางรอดจากวิกฤตนี้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราทุกคนสามารถเป็นกำลังใจให้แก่กันได้ ช่วยประคับประคองกันและกันให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปพร้อมๆ กันได้
เมื่อพูดถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในลำดับแรกๆ นั้น หนึ่งในโดมิโนตัวแรกๆ ของวิกฤตนี้คงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะโรงแรม ซึ่งหลายแห่งจำเป็นต้องปิดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องราวของโรงแรม Horizon Village Resort เชียงใหม่ และสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล ซึ่งเป็นกิจการครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของ ออมสิน-นันทนิตย์ เสสะเวช ดูจะเป็นเรื่องราวของผู้ประกอบการที่พยายามประคับประคองกิจการให้ผ่านพ้นมรสุมไปพร้อมๆ กับการดูแลพนักงานกว่า 200 ชีวิต โดยไม่ต้องการที่จะทิ้งใครเอาไว้เบื้องหลัง
ออมสิน-นันทนิตย์ เสสะเวช
รองกรรมการผู้จัดการ โรงแรม Horizon Village Resort เชียงใหม่
โรงแรม Horizon Village Resort เชียงใหม่
และสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล
กิจการครอบครัวในรุ่นที่ 2 กับสัญญาณเริ่มต้นของวิกฤตโควิด-19
โรงแรม Horizon Village Resort ตั้งอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 300 ไร่ รีสอร์ตและสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เกิดจากการที่คุณพ่อของออมสินเคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 จนต้องเข้ารับการผ่าตัดในแผนกของโรงพยาบาลซึ่งชื่อว่า ‘Horizon’ ซึ่งหมายถึง ‘เส้นขอบฟ้า’ ซึ่งคุณพ่อของเธอได้ฝากความหวังเอาไว้ว่าจะมีชีวิตต่อไป หลังจากการผ่าตัดในครั้งนั้นจึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อของโรงแรมรีสอร์ตในแนว Retreat & Recharge ที่มีจำนวนห้องพักมากถึง 246 ห้อง นอกจากนี้ยังเน้นในเรื่องของการรองรับแขกประชุมสัมมนา เพราะมีทั้งห้องแกรนด์บอลรูม และห้องประชุมอีก 16 ห้อง นอกจากนี้ยังมีในส่วนของสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ใช่แขกของโรงแรมได้เข้าชมอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนพนักงานมากถึง 214 ชีวิต
ออมสินในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการของโรมแรม ได้เล่าว่า เธอสังเกตเห็นถึงเค้าลางของวิกฤตนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม
“จริงๆ แล้วก่อนหน้านั้นออมสินได้ยินข่าวมาจากทางเมืองจีนมาสักพักแล้วว่า มีคนป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ออมสินติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดก็เป็นเพราะว่า ตัวเองเคยป่วยเป็นโรคปอดอักเสบมาเมื่อกลางปีที่แล้ว จนต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานนับสัปดาห์ และใช้เวลาในการพักฟื้นอยู่ประมาณเดือนครึ่ง จึงทำให้รู้ว่าอาการของโรคปอดอักเสบนั้นรุนแรงมาก ด้วยความที่ลูกค้ากลุ่มหลักของโรงแรมเรานั้นมีคนจีนอยู่ด้วย จึงเริ่มกังวลว่าจะมีการแพร่ขยายโรคนี้ และหากเกิดขึ้นกับแขกและพนักงานของเราล่ะ มันคงไม่ได้เสียหายเฉพาะกับธุรกิจ แต่คงกระทบต่อชีวิตของเราและพนักงานทุกคนที่เราดูแลอยู่ด้วยแน่นอน”
โชคไม่ดีของคนทั้งโลก สิ่งที่ออมสินนึกกังวลอยู่ตอนนั้นเป็นจริงอยู่ในขณะนี้ ด้วยความที่หญิงสาวนึกหวั่น ทำให้เธอได้เตรียมรับสถานการณ์เอาไว้อยู่บ้าง โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปกติจะเป็นช่วงพีกของนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น เธอได้สังเกตเห็นว่ามีบุ๊กกิ้งชาวจีนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเธอได้มอบหมายให้พนักงานขายของทางโรมแรมพยายามที่จะหาตลาดอื่นเข้ามาอุดทดแทนตลาดจีนเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งยังได้จัดให้มีการยกระดับมาตรการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งซักถามประวัติการเดินทาง ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ทำความสะอาดห้องพักแบบ Deep Cleaning เพื่อฆ่าเชื้อ ไปจนถึงปฏิเสธการเข้าพักของแขกหากพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง
“แผนกหน้าฟรอนต์ของเราต้องจับพาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวที่ลูกค้าหยิบและยื่นให้ เขาจะต้องอยู่ประจำที่ตรงเคาน์เตอร์และพูดคุยกับลูกค้าตลอด และต่อให้เราจัดการให้มีการอยู่ห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร สำหรับธุรกิจเชิง Hospitality ก็ยังรู้สึกแปลกๆ อยู่ดี แต่เพื่อความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงาน ก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งลูกค้าบางคนเข้าใจ ก็ดีไป แต่บางคนถึงขั้นตะโกนใส่ ถ่มน้ำลาย เป็นปัญหาในรูปแบบต่างกันไปให้เราต้องรับมือ
“อย่างพนักงานขับรถที่ต้องไปรับส่งลูกค้าเป็นประจำจากสนามบิน ออมสินเคยถามว่าเขากลัวไหม เพราะต้องนั่งอยู่ภายในรถคันเดียวกับแขก เขาก็บอกว่ากลัว แต่ไม่เป็นไร เขาจะพยายามป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งลูกค้าฝรั่งบางคนเขาก็มีความเชื่อเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยอีกแบบไงคะ และเราจะไปบังคับให้เขาสวมก็ไม่ได้ พอพนักงานของเราใส่ เขาก็ถามว่า “ยูป่วยเหรอ ทำไมยูมาทำงาน” หรืออย่างการตรวจคัดกรองด้วยการวัดไข้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยอมตรวจกัน แต่บางคนจะไม่ยอมใช้เจลล้างมือที่เราเตรียมเอาไว้ให้ เพราะเขาบอกว่าเขาคลีนแล้ว ซึ่งบางทีมันก็เป็นเรื่องของจิตสำนึก ซึ่งในบางกรณีก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา
ในยามปกติ ธุรกิจโรงแรมและบริการนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและแขกของโรงแรมนั้นถือเป็นเรื่องปกติ
แต่ไม่ใช่สำหรับตอนนี้
“นอกจากนี้เรายังพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพนักงานเกี่ยวกับสถานการณ์และไวรัสตัวนี้ และหาหน้ากากอนามัยมาให้พนักงานใช้ ตั้งแต่ตอนที่สินค้ายังไม่ขาดตลาด และยังมีราคาปกติอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งราคาก็พุ่งจนมาถึงกล่องละ 800 กว่าบาท เราก็ยังต้องซื้อเพื่อความปลอดภัยของพวกเขา จนเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราก็เริ่มจะซื้อไม่ไหว เพราะทั้งแพงและหายากมาก จนข่าวจากเมืองจีนเริ่มรุนแรงขึ้น เราจึงตัดสินใจที่จะยกเลิกบุ๊กกิ้งจากจีน แม้จะไม่อยากทำก็ต้องทำ เพื่อความปลอดภัยของแขกและพนักงานของเราทุกคน”
ผลกระทบเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งเดิมในเดือนมีนาคมนั้นทางโรงแรมมีรายได้ที่จะเข้ามาทั้งหมด 11 ล้านบาท แต่ผลปรากฏว่า ไม่เป็นไปดังคาด
“เดือนกุมภาพันธ์เรารู้ตัวเร็ว จึงหาลูกค้ากลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากจีนเข้ามาอุดไว้แต่เนิ่นๆ ทำให้เดือนนั้นรอดผ่านไปได้ แต่พอมาเดือนมีนาคม สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากที่จีนแล้ว สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทางฝั่งเกาหลีก็ยังรุนแรงขึ้น สุดท้ายกรุ๊ปใหญ่จากอเมริกาที่จะต้องบินไปเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินอินชอนก็ยกเลิก เพราะก่อนหน้านั้นเขาก็เปลี่ยนจากการ Transit ที่จีนไปครั้งหนึ่งแล้ว จะมาเปลี่ยนอีกครั้งก็ไม่ได้แล้ว เคสนี้ทำให้โรงแรมสูญเงินไปนับ 10 ล้านบาท จนเมื่อถึงกลางเดือนมีนาคม กรุ๊ปอื่นๆ ก็ทยอยกันยกเลิก แม้กระทั่งที่เป็นกลุ่ม Corporate ไทย หรือจองเพื่อจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวในเดือนเมษายนของทุกปีก็ยกเลิกไปอีก แต่ในบางบุ๊กกิ้งที่ยังยืนยันจะมา ก็เป็นฝ่ายเราเองที่ยกเลิกไป เพราะกังวลว่าถึงแม้เราและพนักงานจะดูแลตัวเองกันเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็กลัวว่าอาจจะมีคนพาเชื้อมาหาเราโดยที่เขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครคนไหนที่มีเชื้อ ซึ่งพนักงานของโรมแรมของเราส่วนใหญ่เขาเป็นต้นน้ำ เป็นหัวเรือใหญ่ที่หาเลี้ยงสมาชิกที่บ้าน และถ้าเขาเกิดติดเชื้อจากการทำงาน แล้วเอาไปติดคนที่บ้านอีกล่ะ เราก็ไม่รู้ว่าจะรับผิดชอบชีวิตเขาได้อย่างไรไหว”
ปรับเพื่อรับสถานการณ์
เมื่อรายได้สูญไปกว่าสิบล้านบาท แต่ยังมีพนักงานให้ต้องดูแลมากถึง 214 ชีวิต ออมสินเปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปกติ เธอต้องจ่ายค่าจ้างพนักงานมากถึงประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน และนี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เลยเสียด้วยซ้ำ แต่ในเดือนมีนาคมที่เพิ่งผ่านมา โรงแรมกลับมีรายรับอยู่เพียง 5 แสนบาทเท่านั้น รายได้ที่หายไปจนติดลบ ย่อมเกิดผลกระทบให้ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาประคับประคองสถานการณ์
“เราพยายามจะสื่อสารกับพนักงานทุกคนด้วยความจริงอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจว่าทำไมเราจึงตัดสินใจทำแบบนี้ เราพยายามหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด เช่น ปิดหลายส่วนของโรงแรมเพื่อประหยัดค่าน้ำค่าไฟ ผู้บริหารโรงแรมทั้ง 3 คน คือ ตัวออมสินเอง คุณพ่อ และคุณแม่ เราไม่ขอรับเงินเดือนในช่วงนี้ และมีการขอลดเงินเดือนหัวหน้าแผนกต่างๆ ชั่วคราว ตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์ จนมาเหลือแค่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เรายังไม่มีการเลย์ออฟ แต่ก็มีในส่วนของการหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็เข้าใจ แต่ก็มีบางคนที่มาขอร้องว่าขอให้ยกเว้นเขาได้ไหม เพราะเขาต้องดูแลครอบครัว ซึ่งเราก็ลำบากใจ ในช่วงแรกๆ ก็มีการแบ่งวันกันหยุดงาน แล้วบอกให้พนักงานใช้เวลาที่หยุดไปหารายได้ทางอื่นกัน ซึ่งหลายๆ คนเราก็เป็นคนช่วยจัดหางานอื่นให้เขากันด้วย อย่างให้ไปทำงานแม่บ้าน หรือทำสวนเก็บลำไย
“นอกจากนี้ยังมีพนักงานหลายคนที่ไม่สามารถจะกลับไปอยู่บ้านด้วยนโยบายรักษาระยะห่างทางกายภาพ หรือบางครอบครัวที่มีคนแก่อยู่ พนักงานของเราก็เกรงว่า เขาจะเอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน เราจึงตัดสินใจที่จะให้เขาพักอยู่ที่หอพักพนักงานโดยไม่เก็บค่าน้ำและค่าไฟ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ในภาวะแบบนี้”
เราจะไม่ทิ้งกัน
แม้ในขณะนี้โรงแรมของออมสินจะปิดทำการชั่วคราวไปแล้ว เพื่อให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรคของกระทรวงสาธารณะสุข และเพื่อความปลอดภัยของพนักงานทุกคนเอง แต่ชาวโรงแรม Horizon Village Resort เชียงใหม่ ก็ยังพยายามที่จะหารายได้เพิ่มเติมจากทางอื่นอยู่
“เราพยายามจะหารายได้ด้วยการทำคุกกี้ผสมวัตถุดิบจากสวนของเราเอง อย่างคุกกี้มะพร้าว ตะไคร้ ใบเตย ฯลฯ และโดนัท ขายทางออนไลน์ โดยใช้แรงงานของพนักงานของเราเองที่หมุนเวียนกันเข้ามาทำงาน และในตอนนี้ก็เพิ่มสินค้าอื่นๆ อย่าง หมูฝอยสมุนไพรและน้ำพริกกากหมูสมุนไพรออกมา นอกจากนี้เรายังขายข้าวกล่อง รวมถึงเย็บหน้ากากผ้า เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับพนักงาน ซึ่งตัวออมสินเองจะเป็นคนเลือกผ้า ตัดผ้า และส่งให้กับพนักงานได้ทำตามออร์เดอร์จากที่บ้าน แม้จะมีรายได้เข้ามาไม่มาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งพนักงานบางคนเขาไม่ขอที่จะเอารายได้ตรงนี้เก็บไว้เองด้วยซ้ำ แต่เขาให้กับทางโรงแรม เพราะเขาบอกว่าเขาเองก็ได้รับเงินเดือนจากทางโรงแรมอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เรารู้สึกซึ้งใจมาก
คุกกี้ ข้าวกล่อง และโดนัท
สินค้าบางส่วนที่ชาวโรงแรมฯ ทำขายเพื่อกอบกู้สถานการณ์
“ถ้าถามว่าโมเมนต์ไหนที่สะเทือนใจออมสินที่สุด ก็คือตอนที่เรา ผู้บริหาร พูดกับพนักงาน ตอนนั้นเราร้องไห้ บอกความจริงกับเขาไปว่า ถ้าสถานการณ์นี้ดำเนินไปนานกว่าที่คิด เมื่อถึงจุดหนึ่งเราอาจจะไม่มีเงินเดือนให้กับเขาแล้วนะ แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ การคงสถานะพนักงานของเขาเอาไว้ และช่วยในเรื่องของเอกสารเพื่อขอรับสวัสดิการสังคมที่รัฐมีให้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าวิกฤตนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน และหากมันดำเนินไปถึงจุดนั้นจริง ก็ขอให้ทุกคนคิดเอาไว้ว่า คุณจะวางแผนชีวิตของตัวเองอย่างไร คือเราร้องไห้ไปบอกเขาไป เรากลัวว่าเราจะดูแลเขาได้ไม่ไหวถ้าถึงเวลานั้น
“และก็มีอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ตอนนั้นออมสินกับแม่เดินเข้าไปในห้องแม่บ้าน แล้วเจอพวกเขากอดกันร้องไห้ขณะที่กำลังดูอะไรกันอยู่ สรุปคือเขาเพิ่งดูเพลงใหม่ของ พี่บอย โกสิยพงษ์ ที่เพิ่งออกมาชื่อเพลงว่า จะไม่ทิ้งกัน แล้วเขาก็เข้ามากอดออมสินกับแม่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านกลุ่มนี้คือกลุ่มที่บอกค่ะว่า มาช่วยออมสินเย็บผ้าทำหน้ากากอนามัย แล้วขอไม่รับเงินส่วนตัว ซึ่งในระหว่างนี้เราก็ได้เห็นพนักงานหลายคนเลือกที่จะเสียสละทิ้งเงินเดือนที่นี่ แล้วไปหางานเสริมของเขาเอง ซึ่งเราเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรแบบนี้
“คือเราก็ทำใจแล้วว่า เราก็จะจ่ายให้เขาจนถึงวันที่เราไม่สามารถจ่ายได้ แต่บางคนเขาก็เลือกที่จะช่วยองค์กร และเสียสละเพื่อให้เพื่อนบางคนที่อาจจะไม่ได้มีทางเลือกอื่นเหมือนกันกับเขา อย่างทีมช่าง ซึ่งมีกันอยู่สิบกว่าคนเนี่ย จากตอนแรกๆ ที่ต้องผลัดเวรกันอยู่ จนตอนนี้เหลือแค่วันละ 1-2 คน บางคนที่เขาพอจะมีฐานะมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ก็เสียสละไปขับ Grab แทน ซึ่งก็มีความเสี่ยงเหมือนกันนะคะ เขาก็บอกว่า เพื่อนคนอื่นแทบจะไม่มีทางเลือกหรือไม่มีฐานะอะไรเลย เขาจึงยอมเสียสละเพื่อให้เพื่อนได้เงิน แล้วตัวเองก็ไปสู้ข้างนอก เพราะเขารู้ว่าตัวเองมีพื้นฐานที่ดีกว่า แล้วก็ยังอยากช่วยโรงแรมด้วย ทำให้เรารู้สึกซึ้งตรงนี้ ในความที่เราทุกคนช่วยกันจริงๆ มันทำให้เราคิดว่า ไม่ว่าวิกฤตนี้มันจะยาวนานแค่ไหน เราก็จะไม่ทิ้งกัน”
หน้ากากผ้า
อีกหนึ่งสินค้าที่ชาวโรงแรมร่วมใจกันผลิต
เสียงสะท้อนจากคนทำโรงแรมและคนในภาคธุรกิจท่องเที่ยว
เมื่อขอให้วิเคราะห์สถานการณ์ตอนนี้ในฐานะของผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยส่วนตัวออมสินมองว่า หากสถานการณ์โดยรวมยังคงแย่อยู่เช่นนี้ ซึ่งเธอก็เข้าใจดีว่าไม่ใช่แย่เฉพาะแค่เมืองไทย แต่ลามไปทั่วโลก มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อย่างเข้มข้นอาจจะต้องขยายต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน หรือถ้าโชคร้ายก็อาจจะนานกว่านั้น
“ในแง่ของเศรษฐกิจ ตอนนี้ธุรกิจในเมืองไทยเริ่มล้มไปทีละอย่างแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอย่างเราล้มไปเป็นอย่างแรกๆ ไม่เว้นแม้แต่เครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็ทยอยปิดให้บริการกันไปหลายแห่งแล้ว หลายแห่งนั้นเราก็ได้เห็นว่าเขาเองก็พยายามปรับตัวตามสถานการณ์ คือมีบริการส่งอาหารเดลิเวอรีกันมากขึ้น แต่มันก็สามารถช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งบริษัททัวร์และคนที่ทำโรงแรมหลายคนบอกว่า นี่เป็นวิกฤตยิ่งกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้หลายๆ คนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เราจะเห็นได้ว่า ตอนนี้มีประชาชนในหลายวงการออกมาทำอะไรอย่างอื่น ทั้งขายอาหาร ขายเจลล้างมือ หาทางที่จะต่อสายป่านให้ตัวเอง เพราะสถานการณ์มีความไม่มั่นคงอยู่สูงมาก จากการติดตามข่าวสารดู ทำให้ทราบว่า ช่วงนี้มันเหมือน Golden Period ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และเราจะได้รู้กันว่ามันจะดีขึ้นหรือจะแย่ลงก็คือ หลังจากสงกรานต์เป็นต้นไป ซึ่งออมสินก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”
เมื่อถามว่า ต้องการนโยบายหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไรบ้าง หญิงสาวตอบว่า
“เราเพิ่งเห็นว่า รัฐเริ่มมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอย่างบริษัททัวร์และไกด์ไป ซึ่งเราก็รู้สึกขอบคุณในจุดนั้น โดยส่วนตัวออมสินไม่ได้ขอว่าเขาจะต้องเยียวยาคนโรงแรมทุกคน คือเราอยากจะให้เก็บงบประมาณแล้วก็ทุ่มเทให้กับหมอและพยาบาลให้เต็มที่ เพราะเขาคือด่านหน้าที่คอยต่อสู้กับโรคนี้ เพื่อปกป้องทุกคนอยู่ หมอกับพยาบาลคือแนวหน้าในการรบครั้งนี้อย่างแท้จริง เราอยากให้รัฐทุ่มเงินให้กับตรงนั้น ให้หมอกับพยาบาลมีอุปกรณ์ที่พร้อม แทนที่เราจะได้ยินข่าวกันเหมือนทุกวันนี้ว่าเครื่องมือไม่พอ ซึ่งประชาชนทุกคนก็กำลังช่วยกัน เพราะมันรอไม่ได้แล้ว นอกจากนี้เรายังต้องการมาตรการที่มาเสริมความมั่นใจให้กับเรา อย่างวันนั้นที่มีการแถลงเรื่องประกาศเปิด-ปิดกรุงเทพฯ ที่ไม่ตรงกัน มันก็ทำให้เรางงและเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจกับการแก้ไขปัญหาและการทำงานของทางภาครัฐเหมือนกัน
“วันก่อนหลังจากการประกาศปิดธุรกิจและสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ โดยไม่มีนโยบายรองรับที่เพียงพอ จนทำให้มีคนแห่กลับภูมิลำเนา กลายเป็นการแพร่กระจายโรคไปยังต่างจังหวัด คือประชาชนทุกคนอยากจะได้ความชัดเจน อยากให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจได้ว่า ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขและจบเรื่องนี้ได้โดยเร็ว
“แต่ก็ไม่ใช่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้น ในตอนนี้ทุกคนทุกภาคส่วนเองก็ต้องช่วยกัน ออมสินคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องทำตามที่คุณหมอและกระทรวงสาธารณะสุขบอก ต้องให้ความร่วมมือและมีจิตสำนึกกับเรื่องนี้มากๆ ที่สำคัญคือ ต้องให้กำลังใจทีมแพทย์และพยาบาลกัน สนับสนุนการทำงานของพวกเขาเท่าที่เราจะทำได้”
ภาพ: Courtesy of Horizon Village Resort
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- ข้อมูลจากข่าวที่ปรากฏเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ระบุว่า มีโรงแรมในกรุงเทพมหานครที่แจ้งปิดกิจการชั่วคราว นับจากวันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป จำนวน 27 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีกำหนดเปิดบริการอีกครั้งแตกต่างกันออกไป โดยมีตั้งแต่กลางเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม และปลายเดือนกันยายน ส่วนที่จังหวัด ภูเก็ตมีโรงแรมแจ้งปิดมากถึง 52 แห่ง โดยส่วนใหญ่เริ่มปิดในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยจะเริ่มเปิดอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2563
- ร่วมอุดหนุนสินค้าของชาวโรงแรม Horizon Village Resort เชียงใหม่ ได้ทาง https://bit.ly/2QWj2ZE