×

สรุปประเด็นน่าสนใจ ‘หุ่นพยนต์’ จากกิจกรรม Q&A ผู้กำกับและทีมนักแสดง ในรอบฉายฉบับเรต ฉ 20-

14.04.2023
  • LOADING...

หมายเหตุ: มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ฉบับเรต ฉ 20-

 

นับว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องสำหรับ หุ่นพยนต์ ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้จัดฉายในเรต ฉ 20- หรือห้ามมิให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีรับชม เนื่องจากมีเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่อศีลธรรมและความสงบเรียบร้อย 

 

พร้อมมอบหมายให้ทีมสร้างดำเนินการแก้ไข ตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์ จึงเป็นเหตุให้ทางค่ายตัดสินใจประกาศเลื่อนฉายภาพยนตร์ไม่มีกำหนด เพื่อแก้ไขเนื้อหาภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับเรตฉาย 

 

และในท้ายที่สุด หุ่นพยนต์ ก็ได้ประกาศวันฉายอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายน 2566 และจะฉายภาพยนตร์เป็น 2 เวอร์ชันพร้อมกัน ได้แก่ หุ่นพยนต์ ฉบับ ฉ 20- (มีการตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชม) และ ปลุกพยนต์ ที่ได้เรตฉาย น 18+ หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ

 

โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ค่าย Five Star Production ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ รอบสื่อมวลชน พร้อมกิจกรรม Q&A กับผู้กำกับและทีมนักแสดง หลังฉายภาพยนตร์จบ ณ โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน 

 

วันนี้ THE STANDARD POP สรุปประเด็นที่น่าสนใจในช่วงกิจกรรม Q&A มาให้ทุกคนได้ย้อนชมกัน

 


 

 

การถูกสั่ง ‘ห้ามฉาย’ ของ หุ่นพยนต์ เวอร์ชันแรก และเหตุผลในการฉายภาพยนตร์ 2 เวอร์ชันพร้อมกัน

 

ผู้กำกับ ไมค์ ภณธฤต เล่าว่า ความจริงแล้วก่อนที่ หุ่นพยนต์ จะได้รับเรต ฉ 20- จนต้องประกาศเลื่อนฉาย ทางทีมสร้างเคยส่งตัวภาพยนตร์เวอร์ชันแรกให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณามาแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์คือมีคำสั่ง ‘ห้ามฉาย’ ทำให้ผู้กำกับและทีมสร้างตกใจมากว่าทำไมภาพยนตร์ถึงถูกสั่งห้ามฉาย เพราะในช่วงการพัฒนาบท ผู้กำกับและทีมสร้างช่วยกันตรวจดูอย่างละเอียดแล้วว่าตัวบทไม่มีเนื้อหาบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาแน่นอน พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาที่รุนแรงหรือสร้างความแตกแยกเกลียดชังดังที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ ก่อนที่ผู้กำกับและทีมสร้างจะนำภาพยนตร์กลับมาแก้ไขและส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง  

 

กระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันฉายภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ รอบสื่อมวลชน ทางผู้กำกับและทีมสร้างได้ทราบข่าวว่า ตัวภาพยนตร์ถูกจัดเรต ฉ 20- พร้อมมีคำสั่งให้แก้ไข ตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์ จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย 

 

  1. ตัดฉากชื่อวัดเทพพยนต์ 
  2. ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลือง และให้มีคำหยาบคายน้อยลงเท่าที่จะสามารถทำได้ 
  3. ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อเต๊ะกิน
  4. ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ 
  5. ตัดฉากท่องศีล (ข้อที่ 2) ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ 
  6. มีข้อสังเกตว่าพระหรือเณรในเมืองไทยต้องโกนคิ้ว แต่ทั้งเรื่องไม่มีพระหรือเณรที่โกนคิ้วเลย 

 

ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551

 

 

โดยผู้กำกับได้เล่าเหตุการณ์ในวันที่ทราบข่าวว่าภาพยนตร์ถูกจัดเรต ฉ 20- ว่า “ณ วันที่เราทราบข่าวว่าภาพยนตร์เราได้เรต ฉ 20- เป็นวันฉายรอบสื่อ ก็เลยจะมีแฟนคลับของนักแสดงเดินทางมาร่วมงานด้วย และมีเด็กๆ เดินเอาตั๋วมาคืนผม บอกว่าเขาอยากดูนะแต่เขาอายุไม่ถึง ผมก็เลยช็อต เพราะตอนเริ่มงานเขายังตื่นเต้นที่จะได้ดูภาพยนตร์อยู่เลย หรือมีบางคนจองตั๋วล่วงหน้าไว้แล้วแต่อายุไม่ถึง ก็ทัก Inbox มาถามผมว่าทำอย่างไรดี มันเลยกลายเป็นไปบล็อกพวกเขาหมด ทางผมและบริษัทก็ติดสินใจว่าจะต้องแก้ไขภาพยนตร์ เพื่อให้เด็กๆ เข้ามาชมกันได้ เราจึงเลื่อนฉายออกไปเพื่อแก้ไขตัวภาพยนตร์ พร้อมกับทำเวอร์ชัน ปลุกพยนต์ ขึ้นมา”

 

 

เบื้องหลังการแก้ไขเนื้อหาของ หุ่นพยนต์ ฉบับเรต ฉ 20-

 

ประเด็นแรกที่ทางคณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้แก้ไขคือ ตัดฉากชื่อวัดเทพพยนต์ ซึ่งผู้กำกับชี้แจงว่า ชื่อวัดเทพพยนต์นั้นเป็นวัดที่ถูกแต่งขึ้นใหม่ ไม่มีวัดนี้อยู่จริงๆ และเนื่องจากฉากดังกล่าวเป็นฉากที่ตัวละครต้องเดินผ่านทางเข้าที่มีป้ายเขียนว่า ‘วัดเทพพยนต์’ เพื่อสื่อถึงการที่ตัวละครกำลังเดินทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ จึงไม่สามารถตัดฉากนี้ออกได้ ผู้กำกับจึงตัดสินใจตัดคำว่า ‘วัด’ ออก และเหลือเพียงคำว่า ‘เทพพยนต์’ แทน 

 

ประเด็นที่ 2 คือ ฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลืองและฉากคลุกอาหารให้เด็กชื่อเต๊ะกิน โดยไมค์ ภณธฤต เล่าว่า ฉากนี้เป็นฉากที่ตัวละคร เต๊ะ (อัพ-ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง) ถูก เณรคุณ (แบงค์-ณฐวัฒน์ ธนทวีประเสริฐ) แกล้งด้วยการคลุกอาหารให้เต๊ะกิน ก่อนที่จะได้ ธาม (ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน) เข้ามาช่วยไว้ จนเกิดเหตุการณ์ทะเลาะกันขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเห็นว่าเต๊ะและเณรคุณมีความสัมพันธ์กันแบบไหน และการกระทำดังกล่าวส่งผลต่อเต๊ะอย่างไร 

 

ดังนั้นฉากนี้จึงมีความสำคัญกับเนื้อเรื่อง และไม่สามารถตัดออกได้ 

 

ผู้กำกับจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้การตัดต่อช่วย โดยให้เน้นไปที่ช็อตของตัวละครเต๊ะมากขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเห็นสีหน้าและอารมณ์ของตัวละคร พร้อมกับลดฉากที่เห็นการทะเลาะกันของธามและเณรคุณลง 

 

 

ประเด็นที่ 3 คือฉากที่ เณรบรีส (การ์โตว์-ปัณณวิชญ์ พัฒนศิริ) วิ่งไปกอดแม่ ซึ่งฉากนี้ผู้กำกับได้ชี้แจงกับทางคณะกรรมการฯ และได้ข้อยุติว่าไม่ต้องแก้ไข แต่ฉากที่มีปัญหาหนักที่สุดคือ ฉากที่ตัวละครเณรคุณต้องเข้าไปช่วย มีนา (เอมี่-ทสร กลิ่นเนียม) จากเต๊ะ โดยฉากนี้เณรคุณจะต้องเข้าไปแย่งตัวมีนามาจากเต๊ะ จนเกิดเหตุการณ์ฉุดยื้อเพื่อแย่งตัวมีนา 

 

อีกทั้งยังเป็นฉากที่เปิดเผยปมปัญหาสำคัญของเรื่อง จึงทำให้ไม่สามารถตัดฉากนี้ออกได้เช่นกัน ผู้กำกับจึงใช้วิธีการตัดต่อเข้ามาช่วย เพื่อให้เหตุการณ์มีความกระชับและรวดเร็วมากขึ้น 

 

ประเด็นที่ 4 คือ ฉากที่ตัวละครเต๊ะกำลังลงมือแขวนคอ พระทัด (เอ็ดดี้เฮง-สมยศ มาตุเรศ) กลางป่า พร้อมกับท่องศีลข้อที่ 2 ห้ามลักทรัพย์ เนื่องจากเต๊ะจับได้ว่าพระทัดขโมยเงินจากวัด 

 

ซึ่ง ไมค์ ภณธฤต ได้อธิบายเกี่ยวกับคาแรกเตอร์ของเต๊ะว่า ตัวละครนี้มีความรู้ในการใช้ภาษาบาลี สามารถท่องบทสวดภาษาบาลีได้ ผู้กำกับจึงใส่ฉากที่เต๊ะท่องศีลข้อที่ 2 ไปพร้อมกับแขวนคอพระทัด เพื่อสื่อให้เห็นว่าพระทัดทำผิดศีล แต่คณะกรรมการฯ ห้ามไม่ให้มีฉากที่ตัวละครท่องศีลไปฆ่าคนไป ผู้กำกับจึงใช้วิธีการตัดเสียงของเต๊ะที่กำลังท่องศีลข้อ 2 ออก และแทนที่ด้วยการให้เต๊ะพูดว่า “พระทัดผิดศีล พระทัดขโมยของ” แทน 

 

และประเด็นที่ 5 คือ มีตัวละครเณรและพระในเรื่องไม่โกนคิ้ว โดยประเด็นนี้ทางผู้กำกับได้ให้เห็นเหตุผลว่า พระและเณรในเรื่องบวชมานานแล้ว รวมถึงก่อนการถ่ายทำ นักแสดงที่รับบทเป็นพระและเณรทุกคนโกนผม โกนคิ้ว เป็นที่เรียบร้อย แต่เนื่องจากระยะเวลาในการถ่ายทำที่ค่อนข้างยาวนาน ทำให้ผมของนักแสดงยาวขึ้น จนท้ายที่สุดประเด็นนี้ก็ได้ข้อยุติว่าไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม 

 

 

 

ความแตกต่างระหว่างเวอร์ชัน หุ่นพยนต์ กับ ปลุกพยนต์ 

 

ในช่วงท้ายของกิจกรรม Q&A ไมค์ ภณธฤต ได้เล่าถึงความแตกต่างของ หุ่นพยนต์ กับ ปลุกพยนต์ ว่า หุ่นพยนต์ ฉบับเรต ฉ 20- เป็นเวอร์ชันที่ยังคงรักษาความโหดและเข้มข้นของเรื่องราวไว้อย่างครบถ้วนเช่นเดิม แต่จะมีการปรับแก้รายละเอียดในบางฉากดังที่กล่าวไปข้างต้น และจะมีการตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าชม

 

ส่วน ปลุกพยนต์ ที่ได้เรตฉาย น 18+ หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ จะไม่มีการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์ออก แต่จะเป็นการเพิ่มรายละเอียดของเนื้อเรื่องเข้ามาประมาณ 4 นาที เพื่อขยายความในประเด็นต่างๆ ของตัวละครให้มีความชัดเจนมากขึ้น 

 

รวมถึงเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถเข้าชมได้และเข้าใจเนื้อหาของภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องตีความหรือคาดเดาเพิ่มเติม 

 

ภาพยนตร์ หุ่นพยนต์ และ ปลุกพยนต์ เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่

 

 

ภาพ: Five Star Production

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising