×

Cracked: ‘ป้ายไฟนีออน’ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของฮ่องกง งานศิลป์ที่กำลังตายจากการจัดระเบียบของภาครัฐ

18.10.2022
  • LOADING...
ป้ายไฟนีออน

หากพูดถึงฮ่องกง สิ่งที่หลายคนนึกถึงคือเมืองใหญ่บนเกาะเล็กที่มีตึกรามบ้านช่องทรงสูงชะลูด ผู้คนอาศัยอยู่บนตึก มีร้านค้าร้านอาหารขายของกินอร่อยมากมาย และป้ายนีออนที่มีให้เห็นอยู่ทั่วเมืองยามค่ำคืน

 

ไม่รู้เมื่อไรกันที่ ‘ป้ายนีออน’ เหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของฮ่องกง เป็นภาพจำที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ร้านค้าร้านอาหาร ทั้งยังช่วยสร้างสีสัน สร้างบรรยากาศคึกคักให้กับย่านการค้า จนไม่ว่าใครจะมาจะไปเป็นต้องถ่ายภาพคู่กับป้ายนีออนอยู่เสมอ เราจึงมักเห็นฉากฮ่องกงพร้อมกับป้ายนีออนตามนิตยสารท่องเที่ยว หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ หรือสื่อต่างๆ ทว่าเมื่อปี 2017 รัฐบาลฮ่องกงกลับออกกฎหมายเพื่อจัดระเบียบป้ายนีออนเสียใหม่ รวมไปถึงป้ายที่มีการสร้างแบบผิดกฎหมายและไม่ได้รับอนุญาต ในปี 2016 มีรายงานว่าฮ่องกงมีป้ายโฆษณาอยู่ราวๆ 120,000 ป้าย ทว่าปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1,000 ป้าย

 

🌆 ‘ป้ายไฟนีออน’ มรดกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

เราไม่แน่ใจว่าการทำป้ายนีออนในฮ่องกงเริ่มครั้งแรกเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ พวกมันได้รับความนิยมมาก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกาะฮ่องกงในช่วงปี 1950 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเศรษฐกิจของเมืองเริ่มนำโดยอุตสาหกรรมการผลิต ป้ายไฟนีออนกลายเป็นรูปแบบการโฆษณาที่เข้าถึงได้สำหรับธุรกิจทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านไพ่นกกระจอก ไปจนถึงโรงรับจำนำ ในยุคที่การค้าขายเกิดขึ้นริมถนน ป้ายที่ใหญ่ที่สุด สว่างที่สุด และดึงดูดผู้คนได้มากที่สุด จะได้รับความสนใจจากผู้คน ซึ่งอาจเป็นลูกค้าในอนาคต

 

จากนั้นเป็นต้นมา ป้ายไฟนีออนก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องกง และปรากฏตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามหนัง การ์ตูน ตามสื่อนิตยสาร ฯลฯ และด้วยการแข่งขันที่สูง การทำป้ายไฟนีออนจึงกลายเป็นศาสตร์ของวิทย์และศิลป์ที่อาศัยความครีเอตและความสามารถเชิงช่าง 

 

🌆 กฎหมายหรือเทคโนโลยี สาเหตุการแตกสลาย

 

แม้ในฮ่องกงป้ายไฟนีออนจะได้รับความนิยมมากในช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในปี 1990 กลับได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากการเข้ามาของป้ายแบบ LED หลายบริษัทใหญ่จึงเลือกป้ายแบบ LED เพราะเห็นว่าให้แสงสว่างได้มากกว่าแต่กินไฟน้อยกว่าเดิม อีกทั้งยังมองเห็นได้ชัดในระยะไกล ซึ่งสอดรับกับยุคสมัยที่การช้อปปิ้งในร่มได้รับความนิยมมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และการช้อปปิ้งทางออนไลน์กลายเป็นตัวเลือกสำหรับคนเวลาน้อย 

 

ไม่เพียงแค่นั้น กฎระเบียบของรัฐบาลยังเร่งการตายของป้ายไฟนีออน ในปี 2017 รัฐบาลฮ่องกงประกาศกฎหมายเพื่อการจัดระเบียบป้ายไฟ ซึ่งเป็นมรดกยุคสงครามโลก และอีกนัยหนึ่งก็เป็นผลพ่วงวัฒนธรรมในยุคภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ โดยพวกเขาพบว่าป้ายไฟส่วนใหญ่นั้นล้วนอันตรายและไม่ได้รับการก่อสร้างอย่างถูกกฎหมาย 

 

🌆 จากเมืองสู่พิพิธภัณฑ์

 

อย่างไรก็ดี การทำป้ายไฟนีออนในฮ่องกงเป็นเหมือนงานศิลปะชั้นครู กลุ่มนักอนุรักษ์ในฮ่องกงมองว่ามันคือมรดกทางวัฒนธรรมของคนฮ่องกง และสมควรอนุรักษ์ไว้ ปัจจุบันหลายหน่วยงานพยายามอนุรักษ์ความรู้ในการทำป้ายไฟนีออน ด้วยการจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปได้ลองทำป้ายไฟนีออนขนาดเล็กเอาไว้ตกแต่งที่ห้อง รวมถึงนำป้ายไฟนีออนเก่าแก่หลายป้ายและแบบสเกตช์ไปจัดแสดงใน M+ Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของฮ่องกง 

 

ภาพ: Nathan Road / Getty images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X