×

ฮ่องกงจ่อซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เตือนนักลงทุนเตรียมตั้งการ์ดรับมือกรณีเลวร้ายสุด

25.01.2024
  • LOADING...

เว็บไซต์ข่าว Bloomberg รายงานบทวิเคราะห์ที่ประมวลความเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหลายสำนัก ซึ่งเริ่มแสดงความกังขาและตั้งคำถามถึงความอึด ถึก ทน (Resilience) ของตลาดหุ้นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งวางตำแหน่งในฐานะศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคเอเชียในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ตลาดเงินของฮ่องกงในเวลานี้ค่อนข้างมีลักษณะที่คล้ายคลึงใกล้เคียงกับสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการเงินปี 1998 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์อธิบายว่า นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา มีกระแสเงินทุน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทุนร้อน (เพราะนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางชาติตะวันตก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ) หลั่งไหลเข้าในฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง โดยทุนเหล่านี้หวังที่จะเข้ามาใกล้จีน ซึ่ง ณ เวลานั้น เป็นดาวรุ่งเศรษฐกิจดวงใหม่ที่มีการเติบโตอย่างสดใส ซึ่งไม่ต่างจากช่วงทศวรรษ 1990 ที่กระแสทุนต่างชาติไหลเข้ามาทำกำไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เรียกได้ว่าด้วยอานิสงส์การเติบโตอย่างร้อนแรงและต่อเนื่องของจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงเฟื่องฟูตามไปด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการปรามาสไว้ว่า การกลับคืนสู่มาตุภูมิของเกาะฮ่องกงในปี 1997 จะทำให้สถานะศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชียของฮ่องกงสูญหายไป

 

อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตโควิดสถานะศูนย์กลางทางการเงินดังกล่าวของฮ่องกงก็ตกอยู่ภายใต้ความกังขาอีกครั้ง เพราะความหวังที่ไม่สมหวังหลังการเปิดประเทศสิ้นสุดการล็อกดาวน์ของจีน

 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการเงินของฮ่องกงหวังว่าการเปิดประเทศอีกครั้งของจีนแผ่นดินใหญ่จะช่วยปลดปล่อยความต้องการของผู้บริโภคที่ถูกกักขัง และนำพาทุนทั่วโลกให้หลั่งไหลกลับเข้าสู่ตลาดการเงินฮ่องกงอีกครั้ง แต่ตลอดทั้งปี 2023 ที่ผ่านมา ฮ่องกงกลับต้องพบแต่ความผิดหวัง โดยที่ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงยังมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเตรียมพร้อมของบรรดานายธนาคารและเหล่าเทรดเดอร์เพื่อทำใจเผชิญกับกรณีที่เลวร้ายที่สุด ที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่ากรณีเลวร้ายครั้งนี้น่าจะหนักหนาสาหัสซ้ำรอยเทียบเท่ากับช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 1998 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งมีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้น

 

ชี้ชัด ‘จีน’ ต้นเหตุสำคัญ 

 

แต่สำหรับวิกฤตการเงินในครั้งนี้จะมีเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเป็นศูนย์กลาง โดยมีจีนเป็นต้นเหตุ

 

ทั้งนี้ ย้อนไปในช่วงวิกฤต Lehman Brothers ในปี 2008-2009 ฮ่องกงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากได้รับความคุ้มครองจากเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโต เห็นได้จากอุตสาหกรรมการเงินในฮ่องกงที่มีการเลย์ออฟพนักงานเพียง 7.7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับภาพรวมที่อยู่ที่ 13% ขณะที่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997-1998 มีการเลย์ออฟพนักงานในอุตสาหกรรมการเงินมากกว่า 60% ของมูลค่าตลาด

 

ปัจจุบัน การที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า และเผชิญกับสารพัดวิกฤตโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงตัวเลขการเติบโตที่ชะลอตัวลงเหลือเพียง 5% ต่อปี ทำให้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สถานะศูนย์กลางทางการเงินของเกาะฮ่องกงจะไม่ดึงดูดนักลงทุนอีกต่อไป

 

นอกจากนี้ ในขณะที่เหล่าเทรดเดอร์ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยทางเทคนิค เช่น การเลิกกิจการ บรรดานักลงทุนที่เชี่ยวชาญบางคนกลัวว่าจะมีปัจจัยเลวร้ายเกิดขึ้นอีกในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยมีความเป็นไปได้ที่หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกำลังค่อยๆ ลดลงจนเหลือศูนย์ เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับหนี้ของจีนยังคงอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าหุ้นในตลาดในภายหลัง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X