ผู้ประท้วงเตรียมจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ในย่านใจกลางธุรกิจฮ่องกงวันนี้ (16 มิ.ย.) ถึงแม้รัฐบาลจะตัดสินใจระงับกระบวนการนิติบัญญัติในร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในสภาชั่วคราว เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดก็ตาม
ข้อเรียกร้องล่าสุดของแกนนำผู้ประท้วงคือ ต้องการให้ แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ลาออกจากตำแหน่ง และยกเลิกร่างกฎหมายที่เป็นชนวนเหตุของการประท้วงครั้งนี้อย่างถาวร
จิมมี ชาม แกนนำผู้ประท้วงจากกลุ่มแนวหน้าเพื่อสิทธิมนุษยชนของพลเรือนในฮ่องกง เผยกับสื่อมวลชนว่า การชุมนุมประท้วงในวันอาทิตย์จะเดินหน้าไปตามแผนเดิม พร้อมเปรียบเปรยว่า การประกาศระงับการพิจารณาร่างกฎหมาย ก็เหมือนมีดที่ถูกปักลงบนฮ่องกงแล้ว
“มีดปักเกือบถึงหัวใจ แล้วตอนนี้รัฐบาลมาบอกว่าพวกเขาจะไม่กดมีดลง แต่พวกเขาก็ปฏิเสธที่จะดึงมีดออก” หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วงกล่าว
ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงได้สำเร็จ จะเปิดทางให้ทางการสามารถควบคุมตัวและส่งผู้ลี้ภัยหรือผู้ต้องสงสัยไปรับการสอบสวนที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยหวั่นวิตกว่า จีนอาจใช้กฎหมายนี้เป็นช่องทางในการปราบปรามผู้เห็นต่างและกำจัดศัตรูทางการเมือง
ก่อนหน้านี้ผู้นำฮ่องกงประกาศว่า จะเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้เกิดการลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว (9 มิ.ย.) และวันพุธที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) โดยมีประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา และพนักงานบริษัทห้างร้าน เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 1 ล้านคน ตามการประมาณการของผู้จัด
ฮ่องกงปกครองภายใต้รูปแบบหนึ่งประเทศสองระบบนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 1997 ระบบดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่
แต่กระนั้นการที่จีนเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองต่อฮ่องกงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง ได้สร้างความหวาดระแวงให้กับชาวฮ่องกง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในชื่อ ‘การปฏิวัติร่ม’ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการคัดสรรผู้สมัครผู้บริหารฮ่องกงจากส่วนกลางเมื่อหลายปีก่อน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: