Financial Times รายงานข่าวว่า Honda ยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น เปิดทางเจรจาควบรวมกิจการกับ Nissan อีกครั้ง เพื่อสร้างบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ Makoto Uchida ซีอีโอคนปัจจุบันของ Nissan ต้องก้าวลงจากตำแหน่งเสียก่อน
การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากความสัมพันธ์ระหว่าง Uchida และ Toshihiro Mibe ซีอีโอของ Honda ตึงเครียด เนื่องจาก Honda ไม่พอใจกับความล่าช้าในการปรับโครงสร้างองค์กรและปัญหาทางการเงินที่รุมเร้า Nissan อย่างหนักหน่วง
แหล่งข่าววงในเผยว่า Honda ต้องการให้ Nissan เป็นบริษัทในเครือที่ Honda เป็นเจ้าของทั้งหมด แทนที่จะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ Nissan ปฏิเสธ ทำให้การเจรจาควบรวมกิจการล้มไม่เป็นท่าในที่สุด
อย่างไรก็ตาม Honda ยังคงสนใจในความสัมพันธ์ด้านทุนของ Nissan กับ Mitsubishi Motors โดยเฉพาะเทคโนโลยี Plug-in Hybrid และฐานการผลิตที่แข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Mibe ถึงกับออกมาแสดงความเสียใจต่อสื่อมวลชนเมื่อการเจรจาล้มเหลว แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับ Mibe ระบุว่า เงื่อนไขสำคัญสำหรับการกลับมาเจรจาอีกครั้งคือการที่ Uchida ต้องลงจากตำแหน่งเท่านั้น
Honda ออกแถลงการณ์ว่า “หากมีการหยิบยกประเด็นการบูรณาการธุรกิจขึ้นมาอีกครั้ง เราจะไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเจรจา”
การเจรจาที่ล้มเหลวกับ Honda ทำให้ Nissan ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งขึ้น บริษัทกำลังเผชิญกับยอดขายที่ตกต่ำและภาระการชำระหนี้ที่ใกล้เข้ามา ทำให้ต้องเร่งหาพันธมิตรรายใหม่เพื่อความอยู่รอด
ฉากการเข้าซื้อกิจการเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อบริษัทเทคโนโลยีไต้หวันอย่าง Foxconn แสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นของ Nissan มาหลายเดือนแล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Foxconn ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าต้องการที่จะสร้างความมั่นใจในสัญญาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับ Nissan
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ Nissan อ่อนแอลง และสถาบันต่างๆ ในญี่ปุ่นพยายามกีดกัน Foxconn ที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป ข้อเสนอที่รุนแรงกว่าก็เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมา กลุ่มทุน Private Equity ระดับโลก รวมถึง KKR ซึ่งเป็นเจ้าของ Marelli ซัพพลายเออร์รายสำคัญของ Nissan และบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ได้รับการทาบทามให้พิจารณาร่วมลงทุนใน Nissan
ที่ปรึกษาบางรายพยายามจัดตั้งกลุ่ม Consortium เพื่อแบ่งปันต้นทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบริษัทที่ต้องการการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ข้อเสนอหนึ่งพิจารณาถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันที่ต้องการมีโรงงานผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
James Hong นักวิเคราะห์จาก Macquarie ให้ความเห็นว่า “ผู้ซื้อรายใดก็ตามสามารถมีแนวทางได้ 2 แบบ คือ เข้าซื้อทันที หรือรอจนกว่าพวกเขาจะประสบปัญหาและราคาลดลง ผู้ซื้อที่มีศักยภาพไม่จำเป็นต้องรีบร้อนซื้อ บริษัท Nissan ต่างหากที่ควรรีบร้อน”
Nissan กำลังเผชิญปัญหากระแสเงินสดที่น่ากังวลหากยอดขายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีเงินสดสุทธิ 1.2 ล้านล้านเยน แต่ใช้เงินสดไปถึง 5.06 แสนล้านเยนในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ แหล่งข่าววงในกล่าวว่า Nissan จำเป็นต้องสร้างกระแสเงินสดให้เพียงพอ ไม่เพียงแต่เพื่อรองรับต้นทุนการปรับโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เนื่องจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
Uchida กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 กุมภาพันธ์) ว่า เขาต้องการก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อ Nissan กลับคืนสู่เส้นทางการฟื้นตัว แต่จะไปเร็วกว่านั้นหากถูกร้องขอ “ความรับผิดชอบของผม ‘ยิ่งใหญ่’ จริงๆ (แต่) การลงจากตำแหน่งโดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ไม่มีความรับผิดชอบ” เขากล่าว “ไม่ใช่ความตั้งใจของผมที่จะยึดติดกับตำแหน่งนี้”
อ้างอิง: