กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่สาวกโลโก้ H เมื่อฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ตัดสินใจประกาศ ‘ไม่ขาย’ หลังการเปิดตัวสู่ตลาดของ Honda e:N1 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ฮอนด้าขึ้นไลน์การประกอบในประเทศไทย โดยเปิดเป็นรูปแบบของการ ‘ให้เช่า’ เพียงอย่างเดียว
การให้เช่าใช้ของ Honda e:N1 จะเป็นการที่ฮอนด้า ออโตโมบิล ปล่อยเช่าให้บริษัทผู้ให้เช่ารถยนต์ชั้นนำของไทย นำไปให้ลูกค้าเช่าช่วงต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งราคาค่าเช่าจะเริ่มต้นที่ประมาณ 29,000 บาท รวมประกันภัย ภาษี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วยเงื่อนไขการเช่าต่อเนื่องนานอย่างน้อย 48 เดือน โดยแต่ละบริษัทจะมีอัตราค่าเช่าที่แตกต่างกัน
เกิดอะไรขึ้นกับ Honda e:N1 โมเดลใหม่ล่าสุด ที่แบกความหวังว่าจะมาต่อกรกับรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จีนได้บ้าง แต่เหตุใดกลับกลายเป็นว่า ‘ปล่อยเช่า’ แทน ‘การขาย’ เราจะลองวิเคราะห์ให้ฟัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Honda e:N1 แม้ประกอบในไทย แต่ ‘ราคา’ คือตัวชี้เป็นชี้ตาย เพราะตั้งราคาแพงก็ขายไม่ได้
- สร้างความฮือฮาอีกครั้ง! Honda เตรียมเปิดตัวรถ EV รุ่นแรกที่ผลิตในไทย ในปี 2024
- Toyota เคาะราคาขาย รถยนต์ไฟฟ้า Toyota bZ4X 1,836,000 บาท เผยเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น
ประการแรกสุดคือ เรื่องของต้นทุนการผลิต ที่ต้องบอกว่าค่ายญี่ปุ่นจะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าค่ายจากจีน ด้วยเงื่อนไขด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และชิ้นส่วนที่มีต้นทุนสูงกว่า เพราะต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตจีน ซึ่งทางแบรนด์ญี่ปุ่นสั่งด้วยจำนวนที่น้อยกว่า จึงทำให้แม้ของจะเป็นชิ้นเดียวกัน แต่ต้นทุนจะแพงกว่า เช่น การสั่ง 100 ชิ้น กับ 1,000 ชิ้น ย่อมได้ราคาที่แตกต่างกัน
ประการต่อมา ฮอนด้า ประเทศไทย ได้ยื่นเงื่อนไขขอรับการสนับสนุนตามโครงการสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐของไทย หรือ EV3.0 ดังนั้นจึงต้องมีการผลิตตามเงื่อนไขที่เซ็นสัญญากับภาครัฐเอาไว้
ซึ่ง ณ เวลาที่เข้าร่วมคือ ราว 2 ปีก่อนหน้า ที่ยังไม่เกิดสงครามราคาขึ้น โดยคาดว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดรับจอง bZ4X แล้วมียอดจองถล่มทลาย ทำให้ฮอนด้า ประเทศไทย ตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมโครงการ
แต่ต้องไม่ลืมว่า Toyota bZ4X เปิดขายด้วยราคา 1,836,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ได้รับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อมูลจากแหล่งข่าวเปิดเผยว่า มีจำนวนเพียงราว 10 คันเท่านั้น ที่จำหน่ายด้วยราคานี้ ส่วนคันอื่นๆ จำหน่ายด้วยราคาเต็มคือ 2 ล้านกว่าบาท
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้มีความซับซ้อน เพราะเมื่อค่ายรถนำเข้ารถมาจำหน่ายภายใต้การสนับสนุนจำนวนเท่าไร จะต้องผลิตคืนเท่านั้น เช่น สมมติจำหน่าย bZ4X ทั้งสิ้น 10 คัน โตโยต้าจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใดก็ได้ 10 คันตามเงื่อนไข (โครงการนี้ไม่กำหนดรุ่นสำหรับการผลิตชดเชย)
ซึ่งบังเอิญว่าโตโยต้าผลิต Hilux Revo จำนวน 10 คัน และส่งมอบให้ทางเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อเป็นโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะประจำเมือง ดังข่าวก่อนหน้าที่ผู้บริหารโตโยต้าได้ประกาศไว้ โดยเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ EV3.0 แค่ผลิต ไม่จำเป็นต้องจำหน่าย
ดังนั้นเมื่อฮอนด้าผลิต Honda e:N1ออกมาแล้ว หากคิดจะจำหน่าย จำต้องขายด้วยราคาที่ไม่แตกต่างจาก Toyota bZ4X เท่าใดนัก ดังนั้นเมื่อสภาพตลาดเปลี่ยนไปจากสงครามราคาของแบรนด์จีน เมื่อฮอนด้าเริ่มต้นโครงการจนผลิตออกมาแล้วจึงย้อนกลับไม่ได้ จำต้องหาทางเลือกใหม่แทนการจำหน่ายคือ การให้เช่าใช้ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของฮอนด้าภายใต้สงครามราคาเช่นนี้
ลองจินตนาการดูว่า หากฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ตัดสินใจขาย Honda e:N1 ด้วยราคาจำหน่ายดังที่เราคาดหมายเอาไว้ ผลกระทบที่ตามมา คาดว่าจะต้องโดนกระแสของกลุ่มผู้บริโภคโจมตีว่าแพง และจำนวนที่ขายจะต้องได้น้อยกว่าที่ประเมินเอาไว้ก่อนเริ่มต้นไลน์การประกอบ
ฉะนั้น ทางรอดหนึ่งเดียวของ Honda e:N1 จึงกลายมาเป็นการปล่อยให้เช่า เพราะหากคำนวณดูให้ดีๆ จะเห็นตัวเลขดังนี้
ค่าเช่าสมมติตัวเลขกลมๆ ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 48 เดือน จะเท่ากับ 1,440,000 บาท นั่นคือระยะเวลาเพียง 4 ปี และหากมีการเช่าถึง 5 ปี จะเท่ากับ 1,800,000 บาท ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับราคาจำหน่ายที่แท้จริงที่เราคาดหมายเอาไว้
โดยตัวรถทั้งหมดที่ปล่อยเช่ายังคงเป็นทรัพย์สินของฮอนด้า ออโตโมบิล ฉะนั้นสุดท้ายหากฮอนด้าปล่อยเช่าได้ตามเป้าหมาย ฮอนด้าจะไม่เจ็บตัวจากโครงการนี้
นับว่าฮอนด้า ออโตโมบิล ตัดสินใจเลือกทางรอดได้อย่างเหมาะสม ไม่เข้าไปแข่งในช่วงเวลาที่สงครามราคากำลังรุนแรงอย่างนี้ สุดท้ายมาดูกันว่าจะมีผู้บริโภคเช่าใช้มากน้อยเพียงใด โดยการเช่านั้นเหมาะกับลูกค้าองค์กร และผู้ใช้ที่อยากลองแต่ไม่ต้องการใช้เงินจำนวนมากในการซื้อเป็นเจ้าของ