Do you hear the people sing?
‘คุณได้ยินเสียงผู้คนกู่ร้องไหม
ที่กำลังร้องเพลงของชาวประชาที่โกรธแค้น
มันคือบทเพลงของผู้คน
ผู้จะไม่ยอมเป็นทาสอีกแล้ว’
(แต่งโดย โคลด-มิเชล เชินแบร์ก เพื่อใช้ในการแสดงละครเวทีเรื่อง Les Misérables (เหยื่ออธรรม))
– 1 –
เจมส์ ซี สก็อตต์ นักรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาชื่อดังได้ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนผู้ถูกกดขี่มักจะท้าทายการครอบงำด้วยการประดิษฐ์บางสิ่งบางอย่างที่แฝงเร้นไปด้วยสาร (Hidden Transcript) ขึ้นมา เพื่อใช้ในการต่อต้านกับรัฐ เช่น บทสนทนา (การนินทา) นิทาน เรื่องตลก เพลง และวิถีปฏิวัติทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็มีความตรงไปตรงมา แต่บางครั้งก็แฝงไปด้วยรหัสที่อ้อมค้อม ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงกับอำนาจที่มีมากกว่า ที่อาจข่มขู่และทำให้เกิดสถานการณ์ที่อาจตกอยู่ในอันตรายได้
จากแนวคิดของสก็อตต์ก็คงจะพอทำให้เราเห็นอะไรต่อมิอะไรที่ถูกประดิษฐ์และผลิตขึ้นในช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาที่พลังของ ‘คนรุ่นใหม่’ ต้องการประท้วงขับไล่รัฐบาล เช่น ตัวย่อ ‘ผนงรจตกม’ ซึ่งที่ต้องย่อไม่ใช่เพราะการสื่อสารทางตรงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาเท่านั้น แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่รัฐกดขี่และควบคุมความคิดเห็น
– 2 –
แนวคิดของสก็อตต์ที่มีต่อความเข้าใจกับกระบวนการต่อต้านของกลุ่มคนด้อยอำนาจนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นแนวคิดที่นักโบราณคดีรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจและพูดถึงกันมากขึ้น โดยเกิดสาขาหนึ่งที่เรียกว่า ‘โบราณคดีแห่งการต่อต้าน’ (Archaeology of Resistance) ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การศึกษาวัตถุที่สะท้อนถึงการต่อสู้ ต่อต้าน และปฏิวัติต่ออำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น หากแต่ยังตั้งคำถามต่อศาสตร์โบราณคดีที่มักศึกษาแต่อดีต แต่ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับสังคมร่วมสมัยมากนัก
แนวคิดเรื่องศิลปะแห่งการต่อต้านในงานเขียนของ เจมส์ ซี สก็อตต์ เรื่อง Domination and the Arts of Resistance จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับงานโบราณคดีในระยะหลังมากขึ้น เพื่ออธิบายวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่หรือด้อยอำนาจ (Subordinate Group) ที่แสวงหาหนทางในการต่อต้านกับกลุ่มชนที่มีอำนาจนำในสังคม (Dominant Group) ซึ่งในกระบวนการต่อต้านนี้เองที่นักโบราณคดีสนใจว่าอะไรบ้างที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงการต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุ ร่องรอยการตั้งถิ่นฐาน การสร้างป้อมค่าย
เจมส์ ซี สก็อตต์ ได้ให้ความเห็นอีกว่า กลุ่มคนผู้ถูกกดขี่มักจะท้าทายการครอบงำด้วยการประดิษฐ์บางสิ่งบางอย่างที่แฝงเร้นไปด้วยสาร (Hidden Transcript) ขึ้นมา เพื่อใช้ในการต่อต้านกับรัฐ เช่น บทสนทนา (การนินทา) นิทาน เรื่องตลก เพลง และวิถีปฏิวัติทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็มีความตรงไปตรงมา แต่บางครั้งก็แฝงไปด้วยรหัสที่อ้อมค้อม ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงกับอำนาจที่มีมากกว่า ที่อาจข่มขู่และทำให้เกิดสถานการณ์ที่อาจตกอยู่ในอันตรายได้
จากแนวคิดของสก็อตต์พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ โบราณคดีแห่งการต่อต้านนั้นสนใจที่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเน้นไปที่วัตถุทางวัฒนธรรมที่กลุ่มคนด้อยอำนาจได้ทิ้งไว้ ทั้งในแง่ของวัตถุและสิ่งที่อาจไม่เป็นวัตถุด้วย เช่น เรื่องเล่า ความทรงจำ ซึ่งอาจฝังความหมายนั้นอยู่ในวัตถุ
อัลเฟรโด กอนซาเลซ-ริวบัล (Alfredo Gonzalez-Ruibal) นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญเรื่องโบราณคดีแห่งการต่อต้านได้อธิบายว่า ความจริงแล้วนักโบราณคดีทุ่มเทไปอย่างมหาศาลกับการทำความเข้าใจธรรมชาติของอำนาจ ซึ่งก็สัมพันธ์กับเรื่องของชนชั้นผ่านวัตถุมาโดยตลอด โดยพยายามเข้าใจถึงที่มาของอำนาจหรือการตกอยู่ในอำนาจ และการธำรงอำนาจของชนชั้นหรือความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ร่องรอยเหล่านี้เราสามารถมองเห็นได้ผ่านโบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ถิ่นที่อยู่อาศัย กระทั่งบนเรือนร่างของคน
– 3 –
กอนซาเลซ-ริวบัล ได้หยิบยกตัวอย่างของชาวเบอร์ทาในแอฟริกามาเป็นกรณีศึกษา โดยชาวเบอร์ทานี้ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่สาบสูญ หากแต่ยังคงมีวิถีชีวิตอยู่ในเขตชายแดนซูดาน-เอธิโอเปีย ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของเขาที่เลือกกลุ่มนี้เพราะเต็มไปด้วยความทรงจำแห่งการต่อต้านมากมาย พร้อมกับการตั้งคำถามว่าทำไมโบราณคดีจะต้องให้ความสำคัญกับวัตถุทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่เพียงอย่างเดียว
ชาวเบอร์ทานั้นทุกวันนี้ตกอยู่ภายใต้กลุ่มชนที่มีอำนาจเหนือกว่าคือ ชาวกูมุซ ชาวเหมา และชาวโกโม โดยชาวเบอร์ทานี้อพยพย้ายถิ่นมาจากเขตซาฮารา ความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มคือกลุ่มหนึ่งเป็นนายและเป็นทาส โดยชาวมุซ ชาวเหมา และชาวโกโม ถือตนว่าเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะอาศัยมาก่อน แต่เมื่อสืบประวัติไปแล้วชนพวกนี้ก็อพยพมาทีหลังโดยถูกขับไล่มาจากที่อื่นอีกที แต่ทั้งหมดก็อยู่ในอาณาเขตระหว่างซูดานกับเอธิโอเปีย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งอิสลามและคริสต์
ย้อนกลับไปในเอกสารประวัติศาสตร์พบว่า ชาวเบอร์ทานั้นเคยอยู่ในอาณาจักรฟันจ์ (ค.ศ. 1504-1821) มาก่อน ถือเป็นกลุ่มในเขตนิโล-ซาฮารา จากนั้นจึงได้อพยพเข้ามาในเขตซูดาน-เอธิโอเปียเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 และตามมาอีกหลายระลอก หลังจากรวมกลุ่มได้เป็นจำนวนมาก พวกเขาจึงเริ่มต่อต้านกลุ่มชนที่มีอำนาจกว่า แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้ได้ จึงอพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ตามแนวชายแดน
ชาวเบอร์ทากำลังเล่นเครื่องดนตรีในพิธีกรรม (ภาพ: wikipedia)
กอนซาเลซ-ริวบัลได้ใช้แนวคิดของสก็อตต์เข้ามาช่วยในการอธิบายว่า สาเหตุที่ชาวเบอร์ทาหนีไปอาศัยอยู่ในพื้นที่พรมแดนนั้นก็เพื่อหลีกหนีจากอำนาจของรัฐและกลุ่มชนที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะยากต่อการติดตาม เนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขา ลักษณะเช่นนี้เองที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ด้วยเหตุนี้เองในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อสำรวจทางโบราณคดีจึงพบแหล่งที่อยู่อาศัยเก่าแก่มากมาย ซึ่งในสมัยก่อนมักตั้งคำถามกันว่า ในพื้นที่แห้งแล้งกันดารแบบนี้ทำไมถึงมีมนุษย์ไปตั้งถิ่นฐาน นอกจากนี้แล้วแทนที่จะเล่าเรื่องอย่างผู้แพ้ ในแนวทางของการต่อต้านก็คือการสร้างเรื่องราวให้ตนเองเป็นเหมือนผู้ชนะ โดยมีตำนานว่าพวกตนนั้นเป็นลูกหลานของสิงโตที่มาอาศัยอยู่บนภูเขาแห่งนี้ก่อนที่จะไปอาศัยยังพื้นที่อื่น
ภายใต้ภาวะของการถูกกดขี่ ทำให้ชาวเบอร์ทาบูชาหินศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า ‘โซบา’ ซึ่งถูกใช้ในพิธีขอฝน รักษาโรค ป้องกัน และความอุดมสมบูรณ์ สาเหตุที่เรียกว่า ‘โซบา’ เพราะเป็นชื่ออาณาจักรดั้งเดิมของพวกเขาก่อนหน้า ค.ศ. 1504 ก่อนที่จะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรฟันจ์ (Funj Kingdom) ดังนั้นหินโซบาจึงมีความหมายแฝงไปพร้อมกันด้วยว่าเป็นวัตถุแห่งความทรงจำที่ทำให้ระลึกย้อนไปถึงดินแดนแห่งบรรพบุรุษ ดังนั้นการบูชาหินโซบาในพื้นที่ของอาณาจักรฟันจ์นั้นก็คือวิธีการอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการต่อต้านผ่านพิธีกรรม อีกทั้งยังเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเคยมีอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ หรือการสร้างดินแดนศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในดินแดนที่มีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่าพวกเขา
ภายใต้สายตาของกลุ่มชนที่เหนือกว่า ชาวเบอร์ทานั้นถูกดูถูกในฐานะกลุ่มชนเร่ร่อนป่าเถื่อนที่ไม่มีอารยะ ดังนั้นเพื่อแสดงถึงการต่อสู้ต่อต้านกับการดูถูกดังกล่าว ชาวเบอร์ทามีวิธีการมากมาย ตัวอย่างหนึ่งคือการที่พวกผู้ชายปั้นภาชนะดินเผาชนิดหนึ่งขึ้นมา มีลักษณะคล้ายกับกาน้ำมีด้ามจับ โดยใช้สำหรับการต้มกาแฟ เพื่อบ่งบอกว่าพวกตนนั้นมีอารยธรรมไม่ต่างจากพวกชนชั้นนำที่ดื่มกาแฟ หรือกระทั่งในปัจจุบัน ชาวเบอร์ทาบางส่วนก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าและแปลงศาสนาเป็นอิสลาม ด้านหนึ่งนั้นก็มีความศรัทธาต่อศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งด้วยก็คือเป็นวิธีการต่อต้านไปในตัว เพื่อไม่ให้ถูกดูถูกว่าเป็นพวกไม่มีศาสนาและป่าเถื่อน (Pagan)
– 4 –
ข้างต้นค่อนข้างเป็นนามธรรมไปเสียหน่อย ที่เป็นรูปธรรมก็คือกรณีของการศึกษาทาสในเขตทวีปอเมริกาในหนังสือเรื่อง The Archaeology of Anti-Slavery Resistance (โบราณคดีแห่งการต่อต้านของทาส) โดย เทอร์เรซ เอ็ม. วีก (Terrance M. Weik) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีของการค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีว่าด้วยเรื่องของการต่อต้านของผู้ด้อยอำนาจคือทาส
วีกได้ให้ความเห็นว่า ช่วงสมัยอาณานิคมมีทาสจำนวนมากที่ทนต่อความกดขี่ไม่ได้ จึงได้หนีไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ตนเองมีอิสระ และการปฏิวัติมักเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับปัจจัยสี่ เต็มไปด้วยการขูดรีด การไม่เคารพความเป็นมนุษย์ จนไม่สามารถเป็นอิสระทางความคิดและตัวตนได้
ชาวแอฟริกันที่หนีจากความเป็นทาสนั้นมักจะมีรูปแบบอย่างหนึ่งคือการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อการหลบซ่อน บางแห่งมีการทำป้อมเอาไว้ด้วย เรียกกันว่า ป้อมนิโกร (Negro Fort) ซึ่งหลักฐานที่พบจากการขุดค้นป้อมพวกนี้คือมักจะมีของไม่มาก แต่มีของที่จำเป็นต่อการต่อต้าน เช่น ขวาน ปืน มีดขนาดใหญ่ และเสื้อผ้าที่หนาเป็นพิเศษ เพื่อใช้ปกป้องความหนาวและเป็นเหมือนกับเสื้อผ้าอเนกประสงค์ (คือร้อนก็ถอดได้ และไม่ต้องเอาผ้าห่มติดตัวไป)
ในช่วงเวลานั้นพวกทาสมักจะหนีจากแผ่นดินใหญ่ไปยังที่ต่างๆ โดยเฉพาะหมู่เกาะ ที่น่าสนใจคือจาเมกา เพราะเป็นเขตที่มีภูเขาสูง และยังเป็นเกาะอีกด้วย ทำให้ยากต่อการติดตาม นักโบราณคดีชื่อ โคฟี อาโกราห์ (Kofi Agorah) ได้ตั้งโครงการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาชุมชนทาส และได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่เมืองแนนนี่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญอย่างมากของชาวจาเมกา ทำให้ค้นพบหลักฐานมากมายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-20 ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หลุมฝังศพ ที่ตั้งแคมป์เพื่อทำสงคราม ป้อมปราการของกลุ่มทาส โดยค้นพบด้วยว่าการตั้งชุมชนที่นี่นั้นสัมพันธ์กับระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติในการตัดสินใจที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ไหน และนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคม ทำให้ชุมชนทาสที่ลี้ภัยมาของจาเมกานั้นเกิดความเข้มแข็งอย่างมาก ในทุกวันนี้ร่องรอยของการต่อสู้นับร้อยปีก็ยังคงเห็นได้จากนโยบายของชาติ ภาพวาด อนุสาวรีย์ เทศกาลเฉลิมฉลองอิสรภาพจากอังกฤษ ภาพบนเงินตรา และอนุสาวรีย์ของวีรสตรีชื่อ ‘แนนนี่’
ภาพของวีรสตรีที่ชื่อว่า ‘แนนนี่’ บนธนบัตรของจาเมกา
ทั้งหมดข้างต้นอาจฟังดูเป็นนามธรรมไปเสียหน่อยและห่างไกลตัว แต่จริงๆ แล้วถ้าพิจารณากันจะพบว่า ในรอบกว่า 10 ปีมานี้มีการผลิตวัตถุทางวัฒนธรรมต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้าน เพียงแต่เราจะให้ค่าและอธิบายมันอย่างไร ถ้าเอาเวลาเป็นเกณฑ์ อีกไม่กี่สิบปีวัตถุเหล่านั้นก็จะอยู่ในสถานะของหลักฐานทางโบราณคดีแบบหนึ่ง เช่น มือตบ ตีนตบ อนุสาวรีย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น ความหมายแฝงจากวัตถุพวกนี้นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าเปรียบเทียบกันง่ายๆ ทั้งมือตบ ตีนตบ ก็คือภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์รูปมือ อนุสาวรีย์ก็คือเทวรูปแบบหนึ่ง (ถึงจะมีความหมายต่างกัน)
นอกจากนี้ยังมีวัตถุแห่งการต่อต้านที่เราก็คุ้นเคยกันดี แต่ด้วยแนวคิดโบราณคดีบางอย่างและความเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงทำให้สถานะของสถานที่และวัตถุบางอย่างไม่ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นโบราณคดีที่ผูกพันอยู่กับความรู้สึกของความเก่าแก่ เช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ดังนั้นโบราณคดีคือส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองร่วมสมัย การเมืองที่สัมพันธ์กับประชาชนและผู้ด้อยอำนาจ ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาสามัญชนทั่วไปเพียงเท่านั้น
เมื่อมองย้อนหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว การต่อต้านขัดขืนนั้นมีมาหลายพันปีแล้วและยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกและต้องตกใจ เพราะตราบใดที่ผู้มีอำนาจนั้นยังคงปกครองด้วยความอยุติธรรม กดขี่ เอาเปรียบ และไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นสุขได้ การต่อต้านจึงย่อมเกิดขึ้นและมีความชอบธรรมเสมอ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Gonzalez-Ruibal, Alfredo. An Archaeology of Resistance: Materiality and Time in an African Boderland. London: Rowman & Littlefield, 2014.
- Kelly, Robin D. G. “Review: Domination and the Arts of Resistance,” American Quarterly, Vol. 44, No. 2 (Jun. 1992), pp.292-298.
- Weik, Terrance M. The Archaeology of Anti-Slavery Resistance.