×

ทำไมต้องคัดค้านแท่นขุดเจาะน้ำมันโบราณสถานเขาคลัง บทเรียนจากอเมริกาถึงเมืองศรีเทพ

04.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ในสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ได้ประกาศลดขนาดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่กันชนระหว่างอุทยานแห่งชาติกับเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรมลงเกือบ 13 ล้านเอเคอร์ เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้าขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ใกล้กับแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ในเขตรัฐยูทาห์
  • บริษัทเอกชนรายหนึ่งจะสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีระยะห่างระหว่างแท่นขุดเจาะน้ำมันกับโบราณสถานเขาคลังนอกเพียง 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งอาจลดทอนคุณค่าของโบราณสถานทั้งสองแห่ง และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่กำลังจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ถ้าไม่เกิดกระแสสังคม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ คงมีชะตากรรมไม่ต่างจากอุทยานประวัติศาสตร์บางแห่งในต่างประเทศที่มีการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันตั้งอยู่ใกล้หรือประชิด จนเสียภูมิทัศน์และทัศนียภาพของพื้นที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนคุณค่าของโบราณสถาน

 

ในสหรัฐอเมริกามีอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติอยู่ 2 แห่งที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวนี้อย่างมาก ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะได้เรียนรู้ เพื่อเป็นบทเรียนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากทุนนิยมและการพัฒนาเมืองอย่างไร้ทิศทางโดยเห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้น

 

อุทยานไดโนเสาร์กับปมการทุจริต

เมื่อไม่กี่ปีก่อน รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ใกล้กับแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ในเขตรัฐยูทาห์ หรือมีชื่อว่า Dinosaur National Monument (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า อุทยานไดโนเสาร์)

 

โดยวิธีการเพื่อให้สามารถขุดเจาะน้ำมันได้นี้ ทรัมป์ได้ประกาศลดขนาดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่กันชนระหว่างอุทยานแห่งชาติกับเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรมลงเกือบ 13 ล้านเอเคอร์ (พื้นที่ขนาดนี้ใหญ่กว่าหลายๆ จังหวัดในไทยรวมกันเสียอีก)

 

ผลจากนโยบายนี้เอง ส่งผลให้ประชาชนและหน่วยงานหลายแห่งเกิดความกังวลในเรื่องของคุณภาพน้ำ อากาศ แสง เสียง และสิ่งแวดล้อม ที่อาจสร้างความเสียหายให้อุทยานไดโนเสาร์ โดยเฉพาะเรื่องทัศนียภาพที่อาจมองเห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันได้จากบริเวณพื้นที่อุทยาน เพราะหนึ่งในพื้นที่เยี่ยมชมอยู่ห่างจากแท่นขุดเจาะไม่ถึงครึ่งไมล์ (เกือบ 1 กิโลเมตร) เท่านั้นเอง

 

สาเหตุที่ชาวบ้านจะกังวลต่อปัญหาดังกล่าวนั้นไม่แปลกเลย ด้วยในความจริงแล้ว ในพื้นที่ใกล้กันกับอุทยานไดโนเสาร์นี้ได้มีสัมปทานขุดเจาะน้ำมันไปบ้างแล้ว ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปเป็นที่เรียบร้อยจากการปล่อยแก๊สของหลุมขุดเจาะ

 

ด้วยเหตุนี้เอง The Southern Utah Wilderness Alliance จึงได้ดำเนินการคัดค้านแผนการประมูลพื้นที่สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน และได้ลงชื่อคัดค้านต่อรัฐบาลกลาง ส่งผลให้ปัจจุบันโครงการขุดเจาะน้ำมันนี้อยู่ระหว่างการทำประชามติ และทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้แล้ว โครงการขุดเจาะน้ำมันในรัฐบาลทรัมป์นี้ยังถูกฟ้องร้องและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ คือกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานจัดการที่ดินด้วยว่าได้เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนหรือไม่

 

ทางเข้าอุทยานไดโนเสาร์ที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

(Photo: www.nps.gov)

 

ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่อุทยานไดโนเสาร์

(Photo: utah.com)

 

ทัศนียภาพของอุทยานไดโนเสาร์ ซึ่งถ้าหากมีแท่นขุดเจาะน้ำมันคงทำให้เสียภูมิทัศน์ไปอย่างน่าเสียดาย

(Photo: Wikimedia Commons)

 

ปัญหาแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ชาโค แคนยอน

ชาโค แคนยอน รัฐนิวเม็กซิโก ถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ทว่าพื้นที่เดียวกันนี้ยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญอีกด้วย

 

ในเขตชาโค แคนยอน (Chaco Canyon) นี้ มีวัฒนธรรมโบราณก่อนที่พวกชาวยุโรปจะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีชื่อว่า ‘วัฒนธรรมชาโค’ (Chaco Culture) มีอายุอยู่ในช่วง ค.ศ. 850-1250 เชื่อกันว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดงโบราณ

 

โบราณสถานในวัฒนธรรมชาโค ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงาม

(Photo: whc.unesco.org)

 

ในเขตแคนยอนนี้พบแหล่งโบราณคดีกว่า 200 แห่ง ประกอบด้วยแหล่งศาสนสถาน แหล่งฝังศพ บันไดโบราณที่ลัดเลาะไปตามหน้าผา ถนน และทางเดินโบราณ

 

ผู้เขียนเคยไปเรียนและสำรวจในเขตชาโค แคนยอน ซึ่งจุดเด่นของแหล่งโบราณคดีในเขตแคนยอนนี้คือ ความเข้ากันของสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ หรือเรียกว่า ‘ภูมิทัศน์วัฒนธรรม’ (Cultural landscape)

 

โดยทั่วไป พื้นที่บริเวณแคนยอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแม่น้ำที่ไหลผ่านในแคนยอน ส่วนของพื้นที่ราบขนาดใหญ่ และส่วนของภูเขาที่ยกตัวสูงขึ้นไป

 

โบราณสถานขนาดใหญ่มักสร้างในพื้นที่ราบโดยวางตัวอยู่ใกล้กับแนวหน้าผา หรือบางครั้งก็สร้างศาสนสถานใต้หน้าผา ส่วนในแคนยอนจะมีการสลักภาพเอาไว้ เป็นภาพรูปคนบ้าง คาราวาน หรือสัตว์บ้าง เพื่อบันทึกเรื่องราวการเดินทางหรือร้องขอให้การเดินทางปลอดภัย

 

แต่ภูมิประเทศทั้งสามแบบมีสิ่งที่เหมือนกันคือ การผสานกันระหว่างความเชื่อที่ภูเขากลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีโบราณสถานหรือภาพสลักหินเป็นส่วนหนึ่งของระบบความเชื่อนี้

 

ปัจจุบันชาวอินเดียนแดงไม่ว่าเผ่าชาโค (Chaco) เพ็บโบล (Peublo) นาวาโจ (Navajo) และโฮปี (Hopi) ถือว่าวัฒนธรรมชาโคนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และความภาคภูมิใจของพวกเขา

 

ชาวอเมริกันอินเดียนที่รัฐนิวเม็กซิโก

 

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อกรมที่ดินของสหรัฐอเมริกา (The Bureau of Land Management) มีนโยบายผลักดันแผนการเช่าสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ใกล้กับ ‘วัฒนธรรมชาโค’ ซึ่งมีสถานะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้น ทำให้ชาวอินเดียนแดงหรือชนพื้นเมืองรวมตัวกันเพื่อต่อต้านและประท้วง

 

ทั้งนี้เพราะหลังจากกรมที่ดินได้ผลักดันให้สร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันใกล้กับเขตชาโค แคนยอนนี้ ส่งผลให้เมื่อปี ค.ศ. 2013 บริษัทเอกชนลงทุนสร้างแท่นขุดเจาะไปมากถึง 400 หลุม การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เองได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ อากาศ เสียง และสุขภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนปัญหาของการไม่ใส่ใจกับการทำ EIA

 

ชาวอเมริกันอินเดียนหลายเผ่าจึงรวมตัวกันเพื่อให้กรมที่ดินยุติแผนการให้เอกชนเช่าสัมปทาน ซึ่งต้องใช้เวลาต่อสู้และเรียกร้องกว่า 2 ปี และได้ข้อสรุปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง

 

ชาวอเมริกันอินเดียนที่ออกมาประท้วงด้วยการถือป้าย SAVE CHACO

(Photo: www.santafenewmexican.com)

 

ข้อสรุปของการประท้วงในครั้งนั้นทำให้อย่างแรก มีการกำหนดแนวกันชนระหว่างหลุมขุดเจาะน้ำมันกับพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมชาโคเป็นระยะ 10 ไมล์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) หมายความว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันจะต้องอยู่ห่างจากโบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมนี้อย่างน้อย 16 กิโลเมตร

 

อย่างที่สอง มีการออก พ.ร.บ. The Chaco Cultural Area Protection Act ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองพื้นที่ในแถบวัฒนธรรมชาโคทั้งหมด

 

อีกทั้งยังมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องที่ยอมปล่อยให้บริษัทเอกชนรุกล้ำเข้าไปสร้างแท่นขุดเจาะใกล้กับโบราณสถานมากจนเกินไปอีกด้วย

 

หลุมเจาะที่มีอยู่ใกล้กับชาโค แคนยอน (จุดสีเหลือง) และเขตป้องกัน 10 ไมล์ (วงสีน้ำเงิน)

Photo: Wild Earth Guardians

 

ความย่อยยับจะเกิดกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

หลายคนคงได้ตามข่าวมาบ้างว่า บริษัทเอกชนรายหนึ่งจะสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โดยมีระยะห่างระหว่างแท่นขุดเจาะน้ำมันกับโบราณสถานเขาคลังนอกเพียง 100 เมตรเท่านั้น

 

ทำไมจึง 100 เมตร ผมเข้าใจว่าบริษัทรู้ข้อกฎหมายดีว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันนั้นถือเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ที่จะต้องมีระยะห่างจากโบราณสถาน 100 เมตรไปทางทิศตะวันตก ดังนั้นจึงเลือกระยะที่พอดิบพอดี เพื่อใช้เป็นข้ออ้างทางกฎหมาย

 

ระยะ 100 เมตรนี้ถือว่าใกล้มาก มากเสียจนโบราณสถานเขาคลังนอกนี้จะได้รับผลกระทบทั้งจากความสั่นสะเทือน และจากภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ต้องเสียไปอย่างเลวร้ายที่สุด

 

โบราณสถานเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 สะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธมหายานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงเวลานั้น โบราณสถานเขาคลังนอกนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเขาถมอรัตน์ เพราะหากขึ้นไปยืนบนโบราณสถานเขาคลังนอก มองไปทางทิศตะวันตกจะเห็นเขาถมอรัตน์ได้อย่างชัดเจน

 

เขาถมอรัตน์ เมื่อมองจากโบราณสถานเขาคลังนอก

 

เขาถมอรัตน์นี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นเขาพระสุเมรุ บนยอดเขามีถ้ำ ซึ่งภายในมีการแกะสลักภาพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เอาไว้ โดยมีรูปแบบศิลปะแบบทวารวดี เช่นเดียวกับเขาถมอรัตน์

 

ดังนั้น โบราณสถานเขาคลังนอกกับเขาถมอรัตน์จึงสัมพันธ์กันในเชิงของภูมิทัศน์วัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากมีการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาจริง แท่นขุดเจาะนี้ก็จะบดบังภูมิทัศน์ ซึ่งหมายความว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของโบราณสถานทั้งสองแห่ง และยังส่งผลโดยรวมต่อความสวยงามของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่กำลังจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย

 

อย่าปล่อยให้ผลประโยชน์ระยะสั้น มาทำลายผลประโยชน์ระยะยาวที่จะตกทอดถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเลยครับ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X