×

การบูรณะอาคารประวัติศาสตร์: รักษาอาคารเก่าด้วยความเข้าใจการก่อสร้าง

โดย Heritage Matters
08.03.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การบูรณะสิ่งปลูกสร้างเก่าอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องง่าย แต่เราต้องใช้ศาสตร์ของการก่อสร้างมาช่วยปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ แรงจูงใจ และเม็ดเงินสำหรับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมให้มีความทันสมัย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกา, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเสมือนทรัพยากรสาธารณะยึดถือปฏิบัติกัน
  • น่าเสียดายที่ประเทศเรายังขาดระบบการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อาคารสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเราส่วนใหญ่ยังไม่มีการคุ้มครองใดๆ อันเป็นผลมาจากระบบล้าหลังที่มุ่งแต่จะปกป้องเฉพาะอาคารเก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปี และอาคารสาธารณะเท่านั้น นั่นหมายความว่าอาคารอีกนับหมื่นหลังทั่วประเทศกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะเสื่อมโทรมลงหรือถูกรื้อถอนไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราได้รับข่าวดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมในประเทศไทยมาบ้าง แต่ก็มีข่าวร้ายด้วยเช่นกัน อันดับแรก ในส่วนของข่าวดีนั้นคือการที่สังคมของเราเริ่มตื่นตัวกับคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม เห็นได้จากการอนุรักษ์อาคารเก่าและแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง แม้จะมีทุนสนับสนุนอันน้อยนิดจากภาคประชาชนและการคุ้มครองทางกฎหมายที่อ่อนแอก็ตาม ผู้คนมากมาย รวมถึงบริษัทและสถาบันหลายแห่งทั่วประเทศเริ่มตระหนักแล้วว่าการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชุมชน และคุณภาพชีวิตของพวกเรา

 

จากความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ร้านค้า, โรงแรม, สถานีขนส่ง, วัด และ ‘ย่านเมืองเก่า’ ที่มีอายุยาวนานของเราจึงได้รับการดูแลรักษามากขึ้น บางครั้งการบูรณะสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังคงการใช้สอยและรักษาเสน่ห์แบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ในกรณีอื่นๆ จุดประสงค์ของอาคารนั้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโกดังสินค้าที่กลายเป็นหอศิลป์หรือร้านอาหาร ไปจนถึงสถานีรถไฟเก่าที่ถูกดัดแปลงให้เป็นห้องสมุด หลายโครงการลักษณะนี้มีการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม เจ้าของโครงการที่ดีย่อมมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลกว่าเพียงการแสวงหากำไร แต่จะใส่ใจกับการบูรณะที่คงไว้ซึ่งสุนทรียภาพและความถูกต้องตามประวัติศาสตร์ด้วย

 

ส่วนข่าวร้ายคือบางครั้งโครงการเหล่านี้มักมีข้อผิดพลาดในแง่ของวิธีการบำรุงรักษา อาคารเก่าแก่หลังหนึ่งที่อยู่รอดมาได้ 50 ปี, 100 ปี หรือ 200 ปี อาจเสื่อมโทรมได้อย่างรวดเร็วหากการบูรณะไม่ได้เป็นไปอย่างถูกต้อง ปัญหาไม่ได้มาจากการขาดทุนทรัพย์ แต่มาจากการเพิกเฉยต่อศาสตร์ของการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเชิงฟิสิกส์, เคมี, สถาปัตยกรรมศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, พฤติกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ต่างก่อร่างสร้างระบบให้กับอาคารหนึ่งหลัง

 

ร่องรอยชำรุดเสียหายของจิตรกรรมฝาผนัง วัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหลักการเหล่านี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบโครงสร้าง, วัสดุก่อสร้าง หรือการใช้สอยของอาคารสักหลัง มิเช่นนั้นจะมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่สำหรับตึกเก่านั้น การป้องกันความชื้นอันเป็นต้นเหตุของเชื้อรา, การเปื่อย และการผุกร่อนที่สร้างความเสียหายต่อตัวอาคารนับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ

 

การบูรณะสิ่งปลูกสร้างเก่าอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องง่าย แต่เราต้องใช้ศาสตร์ของการก่อสร้างมาช่วยปรับปรุงกฎหมาย, ข้อบังคับ, แรงจูงใจ และเม็ดเงินสำหรับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมให้มีความทันสมัย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกา, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเสมือนทรัพยากรสาธารณะยึดถือปฏิบัติกัน

 

น่าเสียดายที่ประเทศเรายังขาดระบบการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อาคารสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเราส่วนใหญ่ยังไม่มีการคุ้มครองใดๆ อันเป็นผลมาจากระบบล้าหลังที่มุ่งแต่จะปกป้องเฉพาะอาคารเก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปี และอาคารสาธารณะเท่านั้น นั่นหมายความว่าอาคารอีกนับหมื่นหลังทั่วประเทศกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะเสื่อมโทรมลงหรือถูกรื้อถอนไป

 

มรดกทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย และเป็นความภาคภูมิใจโดยชอบธรรมของชาวไทยจำนวนมาก สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือนโยบายการอนุรักษ์ที่แข็งแกร่ง ผมหวังว่าแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน, ผู้นำทางการเมือง และการดำเนินการโดยรัฐ จะขับเคลื่อนสังคมเราให้ลงมือจัดการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติอันดับต้นๆ

 

บ้านหลวงสาทรราชายุตก์ ถนนสาทร ปัจจุบันปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม W Bangkok Hotel

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

ในขณะเดียวกัน ยามที่เราต้องทำงานกับสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ก็ขอให้เราใส่ใจกับศาสตร์การสร้างอาคารด้วย ตัวอย่างต่อไปนี้คือความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นหากเราละเลยศาสตร์ดังกล่าว

 

ในบางกรณีของการเปลี่ยนร้านค้าให้เป็นเกสต์เฮาส์ เจ้าของอาคารมักจะแซะปูนซีเมนต์ออกจากผนังอาคารเก่าเพื่อเผยให้เห็นชั้นอิฐที่สวยงามข้างใต้ กำแพงนั้นอาจดูดีก็จริง แต่งานก่ออิฐที่ไม่มีปูนซีเมนต์ฉาบทับนั้นกักเก็บความชื้นไว้เร็วมาก และจะก่อให้เกิดเชื้อราที่ทำลายตัวอาคารได้

 

การติดตั้งเครื่องปรับอากาศก็อาจสร้างปัญหาได้หากไม่ได้ติดแถบกันอากาศที่ประตูและหน้าต่าง อากาศร้อนชื้นจากภายนอกจะเล็ดลอดเข้ามาและรวมกันอยู่ภายใน เป็นเหตุให้โครงสร้างอาคารเสื่อมสภาพ ความชื้นจะทำให้ชิ้นส่วนของอาคารที่ทำจากไม้ผุพังและกัดกร่อนส่วนงานเหล็กและวัสดุที่ทำจากเหล็ก

 

โปรดจำไว้ว่าอาคารเก่าแก่ที่ไม่ได้ผ่านการบูรณะใดๆ เลยมักจะคงทนกว่าอาคารที่ได้รับการปรับปรุงอย่างไม่เป็นมืออาชีพ

 

ในฐานะสถาปนิกที่ปรึกษา ผมเคยมีโอกาสไปตรวจสอบวังอายุ 150 ปีที่ตอนนี้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ความงดงามของวังนั้นเป็นที่รู้จักอย่างดี แต่ความชื้นกำลังค่อยๆ ทำลายตัวอาคารอย่างช้าๆ เชื้อราไม่เพียงแต่กระจายไปทั่วกำแพง แต่ยังลามไปถึงภาพเขียนและประติมากรรมต่างๆ แม้ทั้งตัวอาคารและวัตถุภายในจะนับเป็นสมบัติของประเทศชาติก็ตาม

 

ผมกับเพื่อนร่วมงานได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิและความชื้นเพื่อวิเคราะห์ปัญหานี้ ผลที่ออกมาน่าตกใจทีเดียว เพราะระดับความชื้นที่วัดได้สูงเกิน 85% นั้นมาจากประตูทางเข้าที่ถูกเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล กรอบหน้าต่างที่ทำจากไม้ก็ไม่ได้ติดแถบกันอากาศเข้า ทำให้อากาศชื้นจากภายนอกแทรกซึมเข้ามาในตัวอาคาร

 

อากาศที่มีความร้อนชื้นสูงทำให้ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์รู้สึกไม่สบายตัว ผู้จัดการอาคารจึงเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสเพื่อแช่เย็นภายในอาคาร ซึ่งนับเป็นอุณหภูมิที่เย็นเกินกว่าเหตุ ทำให้มีน้ำเกาะบนพื้นผิวไปทั่วอาคารจนนำไปสู่การผุกร่อน

 

หลายทศวรรษที่ผ่านมาผมเคยแวะเวียนไปยังอาคารประวัติศาสตร์หลายหลังที่ต้องเผชิญสภาพโครงสร้างอาคารเสื่อมโทรมเพราะ ‘ความชื้นจากพื้นดิน’ อันเป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไป

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปฏิมากรรมนี้มีอายุ 150 ปี แต่เพิ่งจะเริ่มทรุดโทรมเมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้ ดูจากผลการตรวจวัด สาเหตุย่อมมาจากความชื้นส่วนเกินจากพื้นดินที่แทรกซึมเข้าสู่องค์พระพุทธรูปนั่นเอง

 

ก่อนจะเข้าสู่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความชื้นที่วัดแห่งนี้ถูกระบายออกโดยธรรมชาติผ่านพื้นที่สีเขียวรายรอบวัด แต่ฝ่ายบริหารของวัดตัดสินใจปูพื้นด้วยคอนกรีตเพื่อทำเป็นลานจอดรถยนต์และรถบัสสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว หนทางเดียวที่ความชื้นจะระบายออกไปได้จึงเหลือเพียงผ่านทางพระพุทธรูปองค์นั้น

 

การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน ปฏิมากรรมนั้นได้รับการบูรณะโดยใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากปูนแบบดั้งเดิมตรงที่ปูนประเภทใหม่นี้จะกักเก็บความชื้นเอาไว้ การใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์อย่างไม่เหมาะสมเช่นนี้เป็นปัญหาที่พบได้ในการบูรณะมรดกทางประวัติศาสตร์ทั่วประเทศไทยเลยทีเดียว

 

พระพุทธรูปภายในวัดแจงร้อน เขตราษฎร์บูรณะ มีสภาพเสียหายผุกร่อนจากความชื้น

ภาพ: จารุณี คงสวัสดิ์

 

การเลือกใช้สีก็มีผล พระพุทธรูปและเจดีย์หลายองค์ของไทยมักมีสีทอง เมื่อได้รับการบูรณะ ช่างมักใช้สีทองแบบพิเศษที่มีคุณสมบัติขัดขวางการระบายความชื้น ผลที่ได้คือน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในสิ่งปลูกสร้างเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพ ทั้งๆ ที่โครงสร้างเก่าแก่เหล่านี้ต้องการ ‘พื้นที่หายใจ’

 

ปัญหาอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะหรือโครงสร้างอาคารได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างจากกรณีที่เจ้าของตึกแถวต้องการต่อเติมดาดฟ้าเพื่อสร้างพื้นที่รับประทานอาหาร แต่กลับไม่ได้ให้วิศวกรโครงสร้างตรวจสอบว่าผนังอาคารสามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาได้หรือไม่

 

เราจำเป็นต้องปกป้องมรดกทางสถาปัตยกรรมให้รอดพ้นจากความเสียหายโดยไม่ได้เจตนาจากการบูรณะ เพื่อการนั้นเราต้องปรับปรุงข้อกฎหมายให้สามารถรับรองได้ว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะดูแลรักษาอาคารเก่าได้เป็นอย่างดี

 

โชคยังดีที่หากระบบการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ประเทศเรามีข้าราชการ, นักวิชาการ, นักวางผังเมือง, สถาปนิก, วิศวกร และช่างเทคนิคที่มีความชำนาญนับหมื่นชีวิต พร้อมจะดำเนินการตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในงานนี้ได้อย่างมาก เจ้าของอาคารและสังคมของเราจะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า

 

ตึกรามบ้านช่อง, ชุมชน และแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่นั้นช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเราให้แข็งแรงหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาร่วมกันรักษามรดกของเราให้แข็งแรงกันเถิด

 


 

คำอธิบายภาพเปิด: พระพุทธรูปภายในพระวิหารคด วัดสุทัศน์ฯ ขณะเตรียมบูรณปฏิสังขรณ์ (ภาพ: พีรพัฒน์ อ่วยสุข)

 

ผู้เขียน: ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร เป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising