×

วัฒนธรรมและสภาพภูมิอากาศเป็นของคู่กัน

โดย Heritage Matters
03.06.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • เรามักมองข้ามภูมิปัญญาในวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรดกวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติของเรามีอยู่มากมายที่อาจช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้เราอยู่กับผลของมันได้ด้วย 
  • ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราคุ้นเคยกับพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และภัยแล้งกับอุทกภัยจากฤดูมรสุมที่ไม่แน่นอน วิธีที่คนสมัยใหม่รับมือจากภัยธรรมชาติคือ ทุ่มเทลงทุนในโครงสร้างแสนแพงที่แข็งแกร่งขนาดทนลมหรือแผ่นดินไหวชนิดรุนแรงที่สุดได้ นี่คือทางแก้ที่อิงเทคโนโลยี ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในระยะยาวเท่าไรนัก เพราะธรรมชาติไม่มีวันหยุดกระหน่ำ บรรพบุรุษของเราเข้าใจเรื่องพวกนี้และค้นพบวิธีที่จะอยู่กับมัน ชุมชนในพื้นที่น้ำหลากตามฤดูกาลในกัมพูชา เวียดนาม และไทย สร้างบ้านของพวกเขาบนเสา และมีเรือสำหรับบรรทุกสินค้าไปขายตลาดน้ำ
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์มรดกที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เป็นสิ่งจำเป็น โครงการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่ดีย่อมมีความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แท้จริง มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และใช้วัสดุที่เหมาะสม

จะก้าวไปข้างหน้าต้องไม่ลืมมองข้างหลัง ทางสู่อนาคตอันยั่งยืนซ่อนอยู่ในมรดกของเรา

 

มนุษยชาติทำลายสภาพแวดล้อมของตัวเองอย่างไร้สำนึก การใช้พลาสติกและเทคนิคการจับปลาของเราเป็นอันตรายต่อมหาสมุทร ซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ทะเล การบริโภคเนื้อวัวจนเกินพอดีของเราเพิ่มแก๊สมีเทนในชั้นบรรยากาศ ทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของเราทำให้อากาศเป็นพิษ สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วกลายเป็นเรื่องปกติ วิธีดำเนินชีวิตของมนุษยชาติมักเป็นไปอย่างไม่มีทางยั่งยืน

 

เพื่อรับมือกับผลของพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบของเรา เราจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีที่ ‘สะอาดกว่า’ และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่จะด้วยวิธีไหนล่ะ?

 

พวกเราชอบมองข้ามภูมิปัญญาในวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรดกวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติของเรามีอยู่มากมายที่อาจช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้เราอยู่กับผลของมันได้ด้วย เรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาตินั้น บรรพบุรุษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราทำจนเป็นนิสัย การอนุรักษ์เป็นสิ่งที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นภูมิปัญญาที่ผู้คนและชุมชนพึ่งพาเป็นหลักประกันความอยู่รอด

 

ตลาด Lok Baintan จังหวัดกาลีมันตันใต้ ประเทศอินโดนีเซีย 

ภาพ: Muhammad Haridi from Pixabay

 

การอนุรักษ์ หมายถึง การรักษามรดกจากอดีต เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไปในอนาคต มรดกคือสิ่งที่เราได้รับตกทอดมาจากอดีต ได้รู้เห็นและได้ใช้สอยในปัจจุบัน ทั้งยังส่งต่อไปยังลูกหลาน มรดกเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา แต่อยู่ในความดูแลของเราเพียงระยะหนึ่ง เราต้องรับผิดชอบดูแลมรดกให้ดี บรรพชนของเราเข้าใจความจริงขั้นพื้นฐานข้อนี้ แต่เราลืมมันไปแล้ว

 

วิธีที่เราใช้ชีวิต และโดยเฉพาะวิธีที่เราบริโภคผลผลิตและทรัพยากรโลก มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศในทางที่เรามักไม่สังเกตเห็น ตัวอย่างเช่น เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ที่จะรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อพัฒนาเมือง แต่เราไม่ฉุกใจคิดเลยว่า นิสัยนี้สร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากการตัดต้นไม้หรือเผาป่า การทุบอาคารเก่าเป็นการเสียทรัพยากรไปเปล่าๆ และปลดปล่อยมลภาวะที่ทำให้โลกร้อน

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราคุ้นเคยกับพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และภัยแล้งกับอุทกภัยจากฤดูมรสุมที่ไม่แน่นอน วิธีที่คนสมัยใหม่รับมือจากภัยธรรมชาติคือ ทุ่มเทลงทุนในโครงสร้างแสนแพงที่แข็งแกร่งขนาดทนลมหรือแผ่นดินไหวชนิดรุนแรงที่สุดได้ นี่คือทางแก้ที่อิงเทคโนโลยี

 

ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในระยะยาวเท่าไรนัก เพราะธรรมชาติไม่มีวันหยุดกระหน่ำ บรรพบุรุษของเราเข้าใจเรื่องพวกนี้และค้นพบวิธีที่จะอยู่กับมัน ชุมชนในพื้นที่น้ำหลากตามฤดูกาลในกัมพูชา เวียดนาม และไทย สร้างบ้านของพวกเขาบนเสา และมีเรือสำหรับบรรทุกสินค้าไปขายตลาดน้ำ

 

ในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ชาวญี่ปุ่นทนต่อฤดูหนาวอันสุดแสนจะหนาวเย็นในบ้านไม้ที่ผนังทำด้วยกระดาษบางๆ พวกเขากินอาหารจากหม้อไฟและดื่มสาเกอุ่นๆ สวมชุดกิโมโนตัวหนา และนั่งรอบโต๊ะไม้เตี้ยที่คลุมด้วยผ้าห่มและมีอุปกรณ์ทำความร้อนจากด้านล่าง เรียกว่า ‘โคตัตสึ’ ในอดีตแหล่งความร้อนของโคตัตสึเป็นถ่าน แต่ทุกวันนี้จะใช้เครื่องทำความร้อนไฟฟ้ามากกว่า ในฤดูร้อนอันอบอ้าวของญี่ปุ่น ผู้คนเย็นสบายอยู่ได้ด้วยการสวมเสื้อคลุมยูกาตะที่ทำจากผ้าฝ้ายบางเบา พวกเขากินของเย็นอย่างน้ำแข็งไสคากิโกริ พวกเขาแขวนกระดิ่งลมฟูรินที่ทำจากโลหะหรือแก้วที่หน้าต่าง เพราะเสียงของมันสดใสดี

 

เพื่อช่วยโลกใบเดียวที่เรามี เราต้องเรียนรู้จากภูมิปัญญาวัฒนธรรมอย่างนี้ การศึกษาไม่ได้มีหน้าที่เพียงสอนทักษะและเทคนิคเท่านั้น เรายังต้องมั่นใจด้วยว่าคนรุ่นต่อไปจะเข้าใจว่าโลกเปราะบางอย่างไร เยาวชนควรเรียนรู้ว่าเราทุกคนมีหน้าที่ในฐานะสมาชิกชุมชนและในฐานะพลเมืองโลก ที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบ

 

ความเสียหายจากเหตุอุทกภัยล่าสุดที่แคว้นเอมิเลีย-โรมัญญา ประเทศอิตาลี 

ภาพ: European Commission (Dati Bendo), Attribution, via Wikimedia Commons

 

ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “การอนุรักษ์หมายถึงการพัฒนาเท่าๆ กับการปกป้อง ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงสิทธิและหน้าที่ของคนรุ่นนี้ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนแผ่นดินของเรา แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับสิทธิที่จะปล่อยให้มันเสียไปเปล่าๆ หรือที่จะปล้นจากคนรุ่นต่อจากพวกเราด้วยการใช้อย่างทิ้งขว้าง’

 

ปัจจุบันแนวคิดนี้สำคัญยิ่งขึ้นกว่าในสมัยของโรสเวลต์เสียอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์มรดกที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเป็นสิ่งจำเป็น โครงการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่ดีย่อมมีความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แท้จริง มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และใช้วัสดุที่เหมาะสม

 

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดได้ยอมรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ในฐานะแผนงานสำหรับอนาคตที่ดีกว่า เป้าหมายที่ 11 คือการสร้างเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน หนึ่งในเส้นทางสู่เป้าหมายนั้นคือ เสริมสร้างความพยายามในการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก

 

ทุกวันนี้เราถนัดที่จะคิดแบบเส้นตรงมีเหตุมีผล แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้แนวทางหมุนเวียนเหมือนบรรพบุรุษของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์และบริการต้องออกแบบขึ้นใหม่ให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงและมีการใช้ซ้ำทรัพยากร แนวคิดหมุนเวียนจะพิจารณาถึงความรับผิดชอบ การอดกลั้น การลดให้น้อย การคืนกลับ การซ่อม การใช้ซ้ำ การแปรใช้ใหม่ การฟื้นสภาพ การให้ความเคารพ และการเผยแพร่

 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมสัมมนาที่กรุงเทพฯ เพื่อคิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้ วิทยากรจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์มรดก การสัมมนาครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติ และการปฏิบัติต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมรดกทางการเมือง / สังคมแบบดั้งเดิม และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

 

ส่วนสำคัญที่สุดคือ ผู้แทนคนหนุ่มสาว 16 คนจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในประเด็นเหล่านี้ และพวกเขาจะเสนอแผนซึ่งนำไปปฏิบัติได้สำหรับอนาคตของภูมิภาค งาน ‘ภูมิปัญญาวัฒนธรรมสำหรับการปฏิบัติต่อสภาพภูมิอากาศ: การมีส่วนร่วมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ จัดโดย พันธมิตรมรดกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2566 ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มาช่วยกันผลักดันให้การประชุมของเราประสบผลในการดูแลบ้านหลังใหญ่ที่เราอยู่ร่วมกัน พวกเรามาใช้ภูมิปัญญาจากมรดกวัฒนธรรมทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกันเถอะ

 

ดร.โยฮันเนส วิโดโด เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของพันธมิตรมรดกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA)

 

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
แปลเป็นภาษาไทย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

 

คำอธิบายภาพเปิด: ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าพายุฝนในกรุงเทพฯ 

ภาพ: Andre Mouton from Pixabay

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising