×

ภาวะตับอักเสบไม่ทราบสาเหตุระบาดในเด็ก เรารู้อะไรแล้วบ้าง

28.04.2022
  • LOADING...
ภาวะตับอักเสบไม่ทราบสาเหตุระบาดในเด็ก

ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นรายงานผู้ป่วยสงสัยภาวะนี้ 1 ราย นับเป็นรายแรกของเอเชีย หลังจากเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 องค์การอนามัยโลกประกาศเฝ้าระวังการระบาดของภาวะ ‘ตับอักเสบเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ’ (Acute Hepatitis of Unknown Origin) ในเด็กอายุน้อย ซึ่งมีรายงานจาก 12 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในสหราชอาณาจักร ทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา 

 

โดยเด็กจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน ตัวและตาเหลือง ประมาณ 1 ใน 10 รายจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ และเสียชีวิตแล้ว 1 ราย เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับภาวะนี้

 

ภาวะตับอักเสบคืออะไร

 

ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน (Acute Hepatitis) คือการที่มีการทำลายของเซลล์ตับอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ก่อนจะมีภาวะตับอักเสบเฉียบพลันรุนแรง ตัวและตาเหลือง เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น หากเกิดจากการติดเชื้ออาจมีไข้ร่วมด้วย สำหรับสาเหตุของภาวะตับอักเสบที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ 

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือพยาธิ
  • ยาบางชนิด เช่น ยาพาราเซตามอลเกินขนาด ยากันชัก
  • สารพิษ เช่น คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (น้ำยาทำความเย็นหรือทำความสะอาด)
  • ภูมิคุ้มกันต้านตนเองหรือโรคทางพันธุกรรม

 

สถานการณ์ในภาพรวม

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 21 เมษายน 2565 พบรายงาน ‘ตับอักเสบเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ’ อย่างน้อย 169 ราย จากทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร 114 ราย, สเปน 13 ราย, อิสราเอล 12 ราย, สหรัฐอเมริกา 9 ราย, เดนมาร์ก 6 ราย, ไอร์แลนด์ น้อยกว่า 5 ราย, เนเธอร์แลนด์ 4 ราย, อิตาลี 4 ราย, นอร์เวย์ 2 ราย, ฝรั่งเศส 2 ราย, โรมาเนีย 1 ราย และเบลเยียม 1 ราย

 

ส่วนที่ญี่ปุ่นมีรายงานตามข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศว่าพบผู้ป่วยสงสัยภาวะนี้ (Probable Case) จำนวน 1 ราย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นรายแรกของทวีปเอเชีย

 

ผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุระหว่าง 1 เดือน – 16 ปี แต่ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว เด็ก 17 ราย (ประมาณ 10%) จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ และเสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่มีอาการทางเดินอาหารและไม่มีไข้ ตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ (ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี, ดี และอี) และไม่พบว่าผู้ป่วยมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ

 

สำหรับสหราชอาณาจักรที่พบผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้กำลังมีการระบาดของเชื้ออะดิโนไวรัส (Adenovirus) อย่างมีนัยสำคัญจากการตรวจอุจจาระของเด็ก ซึ่งก่อนหน้านี้พบการระบาดของไวรัสนี้ในระดับต่ำมากช่วงที่มีการระบาดของโควิด เช่นเดียวกับในเนเธอร์แลนด์ สำหรับสมมติฐานเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเป็นไปได้น้อยเพราะเด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน

 

ถึงแม้การติดเชื้ออะดิโนไวรัสจะเป็นสมมติฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะเด็กไม่มีภูมิคุ้มกันในช่วงที่ผ่านมา แต่ไวรัสชนิดนี้มักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะสายพันธุ์ 41 ที่สงสัย ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว อาเจียน และไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ และทำให้เกิดภาวะตับอักเสบในเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในขณะที่เด็กทั่วไปจะไม่รุนแรงถึงขั้นตับอักเสบ 

 

อาการที่ต้องเฝ้าระวัง

 

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) กำลังสอบสวนโรคเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างเชื้ออะดิโนไวรัสกับผู้ป่วยที่พบในประเทศ โดยกำหนดอาการของภาวะตับอักเสบ ดังนี้

  • ตาหรือตัวเหลือง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • อุจจาระสีซีด
  • คันตามผิวหนัง
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
  • ไข้สูง
  • รู้สึกไม่สบาย
  • รู้สึกเหนื่อยผิดปกติตลอดเวลา
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง

 

การป้องกันเบื้องต้น

 

ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นในสหราชอาณาจักร พบการติดเชื้ออะดิโนไวรัสทั้งหมด 40 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 53 ราย (75.5%) และการติดเชื้อโควิด 10 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 60 ราย (16.7%) ดังนั้นคำอธิบายภาวะนี้คือการทำลายตับของไวรัสหรือจากภูมิคุ้มกัน และอาจมีปัจจัยร่วม เช่น ความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงเพิ่มขึ้น หรืออาจมีการติดเชื้อร่วมหรือสารพิษ

 

UKHSA แนะนำผู้ปกครองให้ป้องกันด้วยสุขอนามัยทั่วไป ได้แก่ การล้างมือ โดยดูแลให้เด็กล้างมือ และการไอจามปิดปาก เพื่อลดการระบาดของโรคติดเชื้อรวมถึงเชื้ออะดิโนไวรัส ซึ่งติดต่อผ่านละอองทางเดินหายใจ และแนะนำให้เด็กที่มีอาการเดินทางอาหาร เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ควรพักอยู่ที่บ้านและไม่ไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กอนุบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว 48 ชั่วโมง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X