Hense ศิลปินจากเมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา สู่ผลงานแปลงโฉมโบสถ์ร้างที่วอชิงตัน ดี.ซี. ผนังตึกที่ไทเป โรงสีขนาดใหญ่ที่ออสเตรเลีย ไปจนถึงสนามสีสดในโรงเรียนที่อิตาลี นี่คือการส่งคืนสีสันและความสดใสให้ผู้คนด้วยงานศิลปะ
Hense หรือ Alex Brewer คือนักศิลปะร่วมสมัยชาวอเมริกา เป็นที่รู้จักจากการใช้สีสันสดใสบนผลงานชิ้นใหญ่ยักษ์ เขาเริ่มต้นความสนใจด้านศิลปะด้วยการเพนต์บนกำแพงตั้งแต่ยังเด็ก และค้นพบความรักที่มีต่องานกราฟฟิตี้ในยุค 90 ทุกวันนี้เขาสร้างงานศิลปะมากมายผ่านการผสมผสานเทคนิค ทั้งการวาด กราฟฟิตี้ สีสัน รูปทรง องค์ประกอบ ที่ล้วนบอกเล่าเรื่องราวและยังช่วยเปลี่ยนโฉมสภาพแวดล้อมของตึกอาคาร รวมถึงสิ่งปลูกสร้างกลางแจ้งต่างๆ ทั่วโลก
“ผมเริ่มวาดรูประบายสีตั้งแต่ยังเด็ก พ่อแม่ผมเป็นมัณฑนากรและสถาปนิก การที่พวกเขาเรียนด้านศิลปะกันมา ทำให้ผมเองก็เริ่มสนใจศิลปะตั้งแต่เด็ก พออ่านออกเขียนได้ ผมก็เริ่มได้แรงบันดาลใจจากหนังสือและรายการโทรทัศน์ของช่อง PBS แล้วก็ชอบภาพวาดลายเส้นที่ผมเห็นในหนังสือเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ บ้าน ผมเพิ่งมาคิดเรื่องอาชีพเกี่ยวกับศิลปะในช่วงไฮสคูลนี่เอง ในปี 1992 ผมค้นพบกราฟฟิตี้และมันกลายเป็นพื้นฐานของผมในการทำงานศิลปะกลางแจ้งและบนพื้นผิวที่หลากหลาย
“ผมเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัย Virginia Commonwealth แล้วดรอปเรียนเพื่อออกมาตามฝันในการทำงานสตรีทอาร์ต จนได้งานในบริษัทสื่อศิลปะที่มีสตูดิโอเต็มไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ให้ผมได้ทดลอง ผมทำงานที่นี่อยู่หลายปีจนพัฒนางานให้พวกเขา ขณะเดียวกันผมก็ทำงานของตัวเองช่วงกลางคืน ผมเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับขนาดพื้นที่และการทำงานเอาต์ดอร์ ผมเริ่มทำโปรเจกต์ของตัวเอง รวมถึงการจัดนิทรรศการ ซึ่งทำไปทำมามันก็ถึงจุดที่ทำให้ผมยุ่งมากจนเริ่มโฟกัสว่าผมควรจะมีสตูดิโอศิลปะของตัวเอง”
หลังเริ่มต้นชีวิตศิลปินเต็มตัว ในปี 2012 งานชิ้นสำคัญที่ทำให้เราเริ่มรู้จัก Hense คือการคืนความสดใสให้กับโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้างของเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ที่น่าทึ่งคืองานศิลปะของเขานอกจากคืนความสดใสให้เมืองแล้ว มันยังทำให้อาคารที่ถูกทิ้งร้างกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
Delaware (2012)
ในปี 2013 Hense สร้างงานขนาดใหญ่ที่สุดของเขา โดยอยู่ที่ ISIL Institute ลิมา ประเทศเปรู ผนังตึกสูง 137 ฟุต กว้าง 170 ฟุต ที่เขาทำงานร่วมกับทีมงาน 10 ชีวิตใช้เวลา 1 เดือนในการทำให้สำเร็จ
โปรเจกต์นี้ท้าทายมากในแง่ของงานขนาดใหญ่ ซึ่ง Hense ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ทุกรูปทรงและสัญลักษณ์ที่เราวางบนกำแพงจะมีขนาดใหญ่และมองเห็นได้จากระยะไกล แต่ขณะเดียวกันผมต้องการรายละเอียดเล็กๆ สำหรับใครที่จะมองเห็นในระยะใกล้ด้วย ในเคสนี้เราทำงานที่เปรู ซึ่งทีมงานของผมเป็นคนลิมาที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ส่วนผมเองก็พูดสเปนได้น้อยมากๆ มันเลยท้าทายมากๆ ว่าเราจะสื่อสารกันอย่างไร การทำงานนี้เป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ และหวังว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้เกิดขึ้น”
Lima, Peru (2013)
งานของเขามักจะเล่นกับรูปทรงและพื้นผิว ซึ่งทำให้ผลงานค่อนข้างร่วมสมัย เรียบง่าย แต่กลับเป็นที่จดจำด้วยการใช้สีและแพตเทิร์นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
ชิ้นงานน่าสนใจอีกแห่งคือที่นอกเมืองรัฐ Western Australia ประเทศออสเตรเลีย ที่เขาคืนความสดใสให้กับโรงสีขนาดใหญ่ ซึ่ง Hense ได้พูดถึงงานชิ้นนี้ไว้ว่า “ผมสนใจความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบ รูปทรง สีสัน วัสดุ และสิ่งเหล่านี้เชื่อมต่อกันอย่างไร ผมจะคิดเยอะมากเกี่ยวกับบริบทและสถานที่ที่งานจะปรากฏ งานทั้งหมดของผมจะไม่ได้เป็นงานแอ็บสแตรกต์เสียทีเดียว ผมไม่เคยวางแผนว่างานไหนจะออกมาแบบไหน ผมจะสร้างโครงคร่าวๆ ไว้ แล้วผมเป็นคนชอบทดลองสิ่งต่างๆ ระหว่างที่กำลังสร้างงานนั้นๆ”
Western Australia Silos (2015)
ในปี 2015 Hense เดินทางมาแถบเอเชีย ที่เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน ในการปรับเปลี่ยนให้อาคารเก่ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เขาแต่งเติมสีสันให้กับ Very Fun Park Public Art Exhibition ซึ่งเป็นของ Fubon Art Foundation ซึ่งสีสันและลวดลายที่เขาเลือกใช้ก็ยังเข้ากันได้ดีกับภูมิทัศน์โดยรอบ
“ผมสนใจบริบทและงานสถาปัตยกรรม เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่างานของผมจะถูกมองเห็นแบบไหน งานของผมสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง รูปร่าง และสี ซึ่งรวมถึงเส้นและเครื่องหมาย ผมสนใจว่าสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร และมีปฏิสัมพันธ์กับตึกอาคารที่แวดล้อมอยู่อย่างไรด้วยเช่นกัน”
Very Fun Park (2015)
ที่เมืองซิซิลี ประเทศอิตาลี Hense ได้เปลี่ยนลานกว้างในหมู่อาคารของโรงเรียนไฮสคูลให้โดดเด่นจากสีเรียบขรึมของตึกสีเอิร์ธโทน เขาตั้งชื่อผลงานว่า Ragusa Sun ซึ่งชื่อ Ragusa ก็มาจากชื่อเมืองเก่าแก่บนยอดเขาในซิซิลีนี่เอง Hense อธิบายว่าต้องการสร้างงานที่มอบแรงบันดาลใจและความสงสัยให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ “เราเลือกใช้สีที่ตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมโดยรอบ เราใส่ใจเรื่องที่ว่างและสเกลมากๆ ฟอร์ม เส้น และสีก็ยังคงสำคัญในองค์ประกอบ แต่ที่ผมชอบที่สุดคือการที่ผู้ชมจะตีความงานชิ้นนี้แตกต่างกันไป”
Ragusa Sun (2018)
นอกเหนือจากงานเหล่านี้ Hense ยังมีผลงานชิ้นน่าสนใจอีกมาก รวมทั้งงานวาด ศิลปะจัดวาง รวมถึงงานประติมากรรมอีกด้วย ซึ่งเราคงต้องติดตามกันว่าเขาจะสร้างสรรค์ผลงานต่อไปที่เมืองไหน ชิ้นใหญ่เท่าไร และจะทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้ขนาดไหน
“ผมชอบอะคริลิก หมึก สีพลาสติก และสีสเปรย์ ผมชอบวาดด้วยสีที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เพราะมันจะแห้งง่ายกว่า ซึ่งทำให้ผมสร้างมิติและเลเยอร์ของชิ้นงานได้เร็วขึ้น แล้วการทำความสะอาดก็ง่ายกว่ามากครับ” Hense เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำงานของเขา พร้อมตอบคำถามว่าปกติแล้วเขาค้นหาแรงบันดาลใจในการทำงานจากที่ไหน
“มันค่อนข้างท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานในสตูดิโอและการท่องเที่ยว ผมจะเดินทางไปหางานใหม่ๆ ของศิลปินคนอื่นๆ ซึ่งนี่ล่ะคือการทำให้ผมยังคงมีไฟในการทำงาน ผมไปพิพิธภัณฑ์บ่อยมาก ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตในการเข้าเว็บไซต์ที่เน้นงานสร้างสรรค์ จริงๆ แล้วมันมีช่องทางมากมายในการหาแรงบันดาลใจ อย่างดนตรีที่ใช่ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าผมได้กาแฟดีๆ กับเพลงดีๆ ผมว่าผมทำงานได้ยาวเป็นชั่วโมงๆ จนกว่างานจะเสร็จเลยครับ”
Hense เกิดจากชื่อที่เป็นลายเซ็นในงานกราฟฟิตี้ตั้งแต่ปี 1993 เขาเล่าว่ามันเป็นชุดตัวอักษรที่องค์ประกอบดีและลื่นไหล ทั้งยังมีความหมายในตัวเอง
“ผมเรียนรู้ว่าคุณต้องทำงานให้หนักจริงๆ เพื่อที่จะได้รับบางสิ่งบางอย่างกลับคืนมา ผมต้องต่อสู้เพื่อหาเงินทุน ทำโปรเจกต์ จัดนิทรรศการ รวมถึงโอกาสต่างๆ ผมบอกได้เลยว่าเมื่อคุณทำงานเพื่อตัวคุณเอง คุณก็ต้องทุ่มทุกอย่างลงไปในนั้น คุณไม่มีสิทธิ์นั่งเฉยๆ รอให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ผมทำงานทุกโปรเจกต์ด้วยความรู้สึกแบบนี้ รู้สึกมุ่งมั่นและทะเยอทะยาน”
ภาพ: hensethename.com
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: