โบกมือลาตลาดรัสเซียอย่างเป็นทางการ ‘Heineken’ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ได้ขายธุรกิจทั้งหมด รวมถึงโรงเบียร์ 7 แห่ง ให้กับ Arnest Group บริษัทท้องถิ่นของรัสเซียเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากเจรจากันมานานร่วมปี ในราคาประมาณ 1 ดอลลาร์
ส่วนฐานการผลิต Amstel ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะสิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งปัจจุบันข้อตกลงได้ผ่านการอนุมัติขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดมูลค่า 5.4 แสนล้านก็ไม่อยู่! Carlsberg และ Heineken แท็กมือกันประกาศ ‘ขายธุรกิจ’ เพื่อถอดตัวออกจากรัสเซีย
- ปธน. ยูเครนเรียกร้องให้ ‘Nestlé’ ถอดตัวออกจากการทำธุรกิจในรัสเซีย อ้างถึงการเป็นแหล่งเงินทุนให้ทหารของรัสเซีย
- ตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Nike แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกต่างถอยห่าง ‘รัสเซีย’ สะท้อนภาพความโดดเดี่ยวที่กำลังชัดเจนขึ้น
โดย Heineken จะไม่ได้สนับสนุนข้อมูลทางการตลาด ข้อมูลเชิงลึกด้านการวิจัย และจะไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์หรือค่าธรรมเนียมจากรัสเซีย เพราะบริษัทจะเรียกเก็บเงินครั้งเดียวประมาณ 300 ล้านยูโร (1.1 หมื่นล้านบาท)
ทั้งนี้ธุรกิจ Heineken ในรัสเซียมีโรงงานผลิตเบียร์ 7 แห่ง และมีพนักงาน 1,800 คน ซึ่งจะยังมีสัญญาการจ้างงานไปถึง 3 ปีข้างหน้า
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การถอนตัวธุรกิจออกจากรัสเซียในครั้งนี้ Heineken มีแนวโน้มขาดทุนประมาณ 324.8 ล้านดอลลาร์ และเรียกว่าเป็นดีลที่มีการเจรจากันนานมากกว่า 1 ปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ Heineken ได้ระงับการขายและการผลิตในรัสเซีย รวมทั้งระงับการลงทุนและการส่งออกทั้งหมด
แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวล้วนมาจากความกังวลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่จบสิ้นลง
ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ รัสเซียได้พยายามทำให้บริษัทต่างๆ ออกจากประเทศได้ยากขึ้น โดยมีกฤษฎีกาออกมาเมื่อเดือนเมษายน ที่อนุญาตให้รัฐเข้าควบคุมทรัพย์สินของบริษัทหรือบุคคลที่ถูกมองว่าไม่เป็นมิตรได้เป็นการชั่วคราว ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัสเซียได้เข้ายึดกิจการของบริษัทอาหารฝรั่งเศสแบรนด์ Danone และบริษัทเบียร์สัญชาติเดนมาร์ก Carlsberg ไปเป็นที่เรียบร้อย
Dolf van den Brink ซีอีโอ Heineken กล่าวว่า การถอนตัวออกจากรัสเซียแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ต้องเผชิญ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติหลายแห่งต่างพากันถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย หลังจากที่ชาติตะวันตกบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มงวด ซึ่งทางรัสเซียก็ได้ตอบโต้ด้วยการยึดทรัพย์สินบางส่วนของบริษัทยุโรปเลยทันที
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่มีแบรนด์จากต่างประเทศที่จะได้รับใบอนุญาตในรัสเซีย นอกจากแบรนด์ Gösser และ Edelweiss ทั้งเบียร์ออสเตรีย และ Krusovice เบียร์เชื้อสายเช็ก ซึ่งปัจจุบันการจะทำธุรกิจในรัสเซียจะได้ใบอนุญาตอยู่ที่ 3 ปี และต้องใช้ชื่อแบรนด์เป็นตัวอักษรซีริลลิกเท่านั้น
อ้างอิง: