×

หวั่นต้นทุน-ภาษีทำตลาดสะดุด ‘ไฮเนเก้น’ ค้านรัฐรีดภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพิ่ม เผยต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด อาจเล็งปรับราคาเพิ่มอีกรอบ

01.11.2022
  • LOADING...
ไฮเนเก้น

‘ไฮเนเก้น’ เตรียมค้านรัฐเก็บภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพิ่ม อาจกระทบผู้บริโภค ขณะที่ตลาดเบียร์ยังเหนื่อย เติบโตเล็กน้อย 3-5% ต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด อาจเล็งปรับขึ้นราคาเพิ่มอีกรอบ 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือที่ถูกเรียกติดปากกันว่า เบียร์ 0% อาจถูกเก็บภาษีรูปแบบใหม่ หลังกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอให้มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ 

 

แม้ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตให้เหตุผลอยู่บ่อยครั้งว่า แม้ผู้ประกอบการจะบอกว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ยังสื่อไปถึงการจูงใจเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ดี 

 

ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิก ผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตราไฮเนเก้น 0.0 เปิดเผยว่า ตลาดเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์มูลค่าตลาดยังถือว่าน้อย สำหรับไฮเนเก้น 0.0 ที่เพิ่งทำตลาดได้ 3 ปียังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร แต่ปีนี้เริ่มเห็นผู้ประกอบการรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะช่วยผลักดันให้ตลาดเติบโตเพิ่มขึ้น 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะที่ตลาดเบียร์มีมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตประมาณ 3-5% โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านต้นทุนหลักๆ มาจาก พลังงาน มอลต์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ขวด อะลูมิเนียม กล่อง ที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินต้นทุน แม้ต้นปีที่ผ่านมามีการปรับขึ้นราคาไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ต้นทุนน่าจะมีการปรับขึ้นเพราะยังมีค่าขนส่งอีก จึงต้องเพิ่มน้ำหนักในการบริหารจัดการ แต่ถ้ายังไม่บาลานซ์กัน ถึงที่สุดแล้วอาจมีโอกาสปรับขึ้นอีก

 

ทั้งนี้ ยังมีอุปสรรครอบด้าน โดยเฉพาะเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ล่าสุดบริษัทเตรียมเข้าหารือกับกรมสรรพสามิตภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือปรับไปอยู่หมวดหมู่ใหม่ที่อยู่ระหว่างเครื่องดื่มปกติกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์

 

ปัจจุบันเครื่องดื่มดังกล่าวเสียภาษีสรรพสามิตในหมวดหมู่เดียวกับเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์อยู่ที่ 14% ถ้าเทียบกับแอลกอฮอล์จะเสียภาษีสรรพสามิตที่ 22% 

 

มองว่าหากจะเก็บภาษีเพิ่มต้องพิจารณาว่าหลักการอยู่ตรงไหน และหากมีการปรับขึ้นภาษีจะมีผลต่อราคาขายปลีก และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงยาก จากปัจจุบันราคาขายปลีกรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 41 บาทต่อกระป๋อง

 

อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นว่าหลังกรมสรรพสามิตได้ศึกษาอัตราภาษีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% คงไม่ตัดสินใจขึ้นภาษี เพราะเป็นสินค้าทางเลือกที่ทั่วโลกหันมาบริโภคเพื่อทดแทนหรือลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

ถ้าเทียบจากต่างประเทศเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% จะไม่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิตหรือเก็บอัตราเดียวกับเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์ จึงอยากให้ภาครัฐยกระดับมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

 

สำหรับข้อมูลของการจัดเก็บรายได้กรมสรรพสามิต ในปีงบประมาณ 2565 แบ่งเป็นกลุ่มแอลกอฮอล์ จัดเก็บได้ 144,295 ล้านบาท แยกเป็นภาษีเบียร์ 85,035 ล้านบาท คิดเป็น 58.93% และภาษีสุรา 59,260 ล้านบาท คิดเป็น 41.07% ซึ่งรายได้จากภาษีเบียร์เป็นอันดับ 3 รองจากภาษีน้ำมันและภาษีรถยนต์ 

 

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตตั้งเป้าเก็บรายได้อยู่ที่ 567,000 บาท เพิ่มขึ้น 11.2% จากปีงบประมาณ 2565 ที่จัดเก็บได้ 503,465 ล้านบาท จึงทำให้ภาครัฐมีนโยบายขยายฐานการเก็บภาษีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising