จากรายงานดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) 2021/2022 โดย UNDP ที่สำรวจ จัดเก็บข้อมูล และจัดอันดับประเทศและดินแดนในประชาคมโลกกว่า 191 แห่งทั่วโลก ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุขัยเฉลี่ย ระยะเวลาที่ใช้ในระบบการศึกษา หรือแม้แต่รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว (GNI per capita) ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงที่สุดในครั้งนี้ สูงถึง 0.962 แซงหน้าแชมป์เก่า 10 สมัยซ้อนอย่างนอร์เวย์ที่รั้งอันดับที่ 2 ในปีนี้ มีดัชนีอยู่ที่ 0.961 ส่วนดันดับที่ 3 เป็นของไอซ์แลนด์ มีดัชนีอยู่ที่ 0.959
โดยประเทศส่วนใหญ่ใน 10 อันดับแรกล้วนเป็นประเทศในยุโรป โดยเฉพาะในแถบสแกนดิเนเวีย ขณะที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนรั้งอันดับที่ 4 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในย่านอาเซียนอย่างสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 12 จากโซนหัวตาราง มีดัชนีอยู่ที่ 0.939 ขณะที่บรูไนอยู่อันดับที่ 51 มีดัชนีอยู่ที่ 0.829 และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 62 มีดัชนีอยู่ที่ 0.803
ขณะที่ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในเกณฑ์สูงมาก (≥ 0.800) เป็นครั้งแรก รั้งอันดับที่ 66 มีดัชนีอยู่ที่ 0.800 พอดิบพอดี โดยไทยมีดัชนี HDI เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ก่อนที่จะลดต่ำลงเล็กน้อยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนเมียนมาเป็นประเทศที่มีดัชนี HDI ต่ำสุดในย่านอาเซียน (อันดับที่ 149) มีดัชนีอยู่ที่ 0.585
ซูดานใต้เป็นประเทศอันดับสุดท้าย (อันดับที่ 191) ที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำสุดในช่วงปี 2021/2022 และมีดัชนีลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง: