×

คุยกับ เป็นเอก รัตนเรือง เรื่อง ‘ปอบ’ ใน Folklore ซีรีส์สยองขวัญเรื่องแรกของ HBO Asia

01.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • Folklore เป็นซีรีส์หกตอน มีความยาว 60 นาทีต่อตอน กำกับโดยผู้กำกับเอเชีย 6 คน ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวสยองขวัญที่สะท้อนถึงความเชื่องมงาย และตำนานอันลี้ลับจาก 6 ประเทศในเอเซียในรูปแบบที่ทันสมัย
  • เป็นเอก รัตนเรือง เป็นหนึ่งใน 6 ผู้กำกับ ในตอนของประเทศไทยกับเรื่อง ‘ปอบ’
  • Folklore สามารถรับชมผ่าน HBO GO ผ่าน AIS PLAY และ AIS PLAYBOX เริ่มออกอากาศตอนแรกในวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2561

 

 

ในงาน Press Conference ณ ประเทศสิงคโปร์ ของ Folklore ออริจินัลซีรีส์แนวสยองขวัญเรื่องแรกของ HBO Asia THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เดี่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟกับ ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับมากฝีมือจากประเทศไทยที่เป็นผู้กำกับในซีรีส์เรื่องนี้ในตอน ‘Pob ปอบ’

 

https://www.youtube.com/watch?v=Lc69XxZNL68

 

จากจุดเริ่มต้น คุณมาร่วมงานกับ HBO Asia ได้อย่างไร

จริงๆ เป็นคนไม่ดูทีวีเลย ไม่รู้จัก HBO แต่ เอริก คู (Eric Khoo) ผู้กำกับสิงคโปร์ผู้เป็นผู้กำกับหลักของ Folklore โทรมาชวน เราก็คิดอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็สนใจ

 

ในเมื่อเขาให้เลือก ตำนาน ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ มาทำ และบ้านเรามีเรื่องพวกนี้เยอะมาก ทำไมถึงเลือกทำเรื่อง ‘ปอบ’

เราเลือก ปอบ ด้วยการไม่มีความรู้เลย เราแค่รู้สึกว่าปอบมันดูเป็นคนได้ ถ้าเลือก กระสือ กระหัง เปรต มันยาก มันเป็นสเปเชียลเอฟเฟกต์ เราทำออกมามันจะดูเหี้ยแน่ๆ คนอื่นอาจจะทำดูดีนะ แต่ของเรามันจะกลายเป็นละคร ป.สี่ มีแต่หัวลอยมา เราทำพวกนี้ไม่ค่อยเป็น แต่ปอบเราทำให้มันเป็นคนได้ นอกจากเรื่องความยากง่ายคือปอบถูกเอามาทำเป็นหนังเยอะมาก เป็นผีคลาสสิก เราก็นึกถึงมัน

 

 

หนังผีเรื่องที่สองหรือเปล่า ถ้านับนางไม้

เป็นหนังผีเต็มๆ เรื่องแรกมากกว่า อย่าง นางไม้ มันเป็นผีที่ไม่มีผีไง มันเป็นต้นไม้ที่มันมาเอาผู้ชายไปเป็นผัว

 

ถ้าอย่างนั้นเล่าเรื่อง ‘ปอบ’ ให้ฟังหน่อย

เป็นเรื่องของปอบที่ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าโลกเปลี่ยนไป ความตายคือเวลามันหยุด มันไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ พัฒนาไปขนาดไหน เหมือนหลับไป พอตื่นมาอีกทีเจอกับโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว มันตกใจ มาเจอกับฝรั่ง พูดภาษาที่มันไม่เข้าใจ มันตามไม่ทัน

 

มันเป็นประเด็นทางสังคมว่าทำไมสองวัฒนธรรมต้องมาชนกัน อย่างที่บอก อยู่ๆ กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่เมืองไทย มันกลายเป็นเมืองของโลก มันเหมือนเบอร์ลิน เหมือนนิวยอร์ก มันกลายเป็นสนามเด็กเล่นของคนทั่วโลก กลายเป็นเมืองแบบนั้นไปแล้ว เดี๋ยวนี้เวลาไปต่างประเทศ ความตื่นเต้นมันหายไปหมด เพราะมันเหมือนกันไปหมดแล้วทั่วโลก

 

แล้วจะยังรีเลตกับปอบเวอร์ชันอื่นๆ ไหม อย่างไรบ้าง

มันเปลี่ยนทุกอย่างเลย เราไม่เคยมีหนังผีปอบที่ผีปอบเจอกับฝรั่งหรอก มันมาจากสิ่งรอบตัว บ้านผมอยู่กลางเมืองติดห้างเอ็มโพเรียม ทุกวันเดินไปไหนมาไหนได้ยินแต่ภาษาฝรั่ง ได้ยินภาษาไทยน้อยลงเรื่อยๆ เลยเอามาเขียนเป็นพล็อต กรุงเทพฯ มันกลายเป็นเมืองศูนย์กลางโลก เลยอยากจะสะท้อนยุคสมัยมันออกมา สัญญะของผีคือการกลับมาจากความตาย และมาเจอกับโลกที่เปลี่ยนไป

 

เท่าที่ฟังแสดงว่าต่อให้มันเป็นโปรเจกต์ผีๆ มันก็จะยังมีกลิ่นของหนังเป็นเอก แล้ว HBO เขามีคอมเมนต์อะไรมาตีกรอบบ้างไหม

ลิมิตเรามันไม่ใช่เรื่องอาร์ต เรื่องความครีเอทีฟ คือดูหนังเดี๋ยวก็รู้เองแหละ ว่าโคตรจะหนังเป็นเอกเลย ข้อจำกัดต่างๆ นี่มันเป็นพวกข้อจำกัดทางการผลิตมากกว่า

 

ก็มีคอมเมนต์บทบ้างตามปกติ แต่เขาให้อิสระมาก เคารพเรามาก ให้เกียรติมาก ไม่มีความงี่เง่าเลย ซึ่งดี เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดีมาก เขาก็ได้หนังที่คุ้มค่ามาก แต่ก็ไม่รู้เบื้องหลังเหมือนกัน เอริก คู ก็อาจจะช่วยเรามากๆ เขาอาจจะช่วยปกป้องบท ซึ่งก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าเราทำฉีกออกจากกฎมาก เราก็เพิ่งรู้ไม่นานนี้แหละว่าเขาห้ามทำหนังขาวดำ

 

แต่เขาก็โอเค

เขาก็โอเค (หัวเราะ) อย่างที่ว่าเขาให้อิสระเรามาก เคารพเรามาก ความขาวดำมันก็ช่วยเรื่องบรรยากาศเยอะเหมือนกัน มันมีเหตุผลในการทำขาวดำ ถ้าได้ดูทั้งตอนแล้วจะเข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้

 

ชีวิตผมมันน่าเบื่อมากเลย เป็นชนชั้นกลาง ไม่ได้ไปผจญภัยอะไร ทำงานไปเรื่อยๆ ผมเลยอยากได้ ปืน ความตาย ผี ความตื่นเต้นพวกนี้ให้มันเข้ามาอยู่ในงาน

ถ้าให้เล่าให้แฟนๆ ที่ยังไม่เคยชมงานเป็นเอก เอกลักษณ์ในหนังของคุณคืออะไร อย่างอาชญากรรม ความรุนแรง ปืน ดราม่า แล้วเพราะอะไรถึงมักจะทำหนังที่เชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านั้น

ผมไม่ได้เป็นคนดาร์กเลยนะ ผมโตมาแบบเด็กที่มีความสุขมาก ไม่ได้มีพลังด้านมืดอะไร เพียงแต่อาชญากรรม ความตาย มันเป็นส่วนผสมในการทำหนังของผม เพราะชีวิตผมมันน่าเบื่อมากเลย เป็นชนชั้นกลาง ไม่ได้ไปผจญภัยอะไร ทำงานไปเรื่อยๆ ผมเลยอยากได้ ปืน ความตาย ผี ความตื่นเต้นพวกนี้ให้มันเข้ามาอยู่ในงาน ผมชอบ  Dark Comedy มันเป็นความชอบของผม

 

ผมไม่ทำหนังแบบว่า ตั้งเกณฑ์มาเลยว่าจะสื่ออะไร ผมมักจะทำหนังแบบที่ไปเจออะไรมา อย่างเช่น เจอรูปสักใบแล้วอยากทำ อยากเล่าถึงมันต่อ คาแรกเตอร์ก็มาจากคนที่เรารู้จักรอบๆ ตัวหยิบเอามาทำ

 

อย่างเรื่องความรัก ผมจะไม่ทำอะไรแบบตายตัว ผมชอบความผิดหวัง ความสัมพันธ์ที่ไม่เวิร์กมันสวยงามมันโรแมนติก

 

กลับมาที่ Folklore ซีรีส์นี้คาดหวังอะไรในการปลุกกระแสเรื่องลี้ลับ หรือหนังสยองขวัญของเอเชียบ้าง

Folklore คือความเอ็นเตอร์เทน ตำนาน ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ มันคือเรื่องเล่า ผู้คนจะพูดกันปากต่อปาก เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ คนต่อคนเล่าเรื่องราวต่อกันไป และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาจจะน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ผูกกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป มันน่าสนใจ

 

คุณมีประสบการณ์อะไรกับผีบ้างหรือเปล่า

ผีนี่ไม่ยุ่งกับผมเลย ผมไม่มีประสบการณ์อะไรกับผีเลย

 

แล้วกลัวอะไรที่สุด ถ้าไม่นับพวกผี สิ่งลี้ลับ

สิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้กำกับคือ กลัวทำหนังเหี้ย ประสบการณ์ไม่ช่วยอะไร มันไม่เหมือนทำอาหาร ทำบักกุ๊ดเต๋ ทำก๋วยเตี๋ยว ทำทุกวันแล้วเก่งขึ้นอร่อยขึ้น แต่ผู้กำกับมันคือการขึ้นโปรเจกต์ใหม่แล้วคุณจะได้เรียนรู้ความเฟลครั้งใหม่ เรียนรู้ความเฟลใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ผมพยายามเตือนตัวเองนะ ทำอะไรดี ยังไงถึงจะดี ก็พยายามไป

 

 

หนังเหี้ยคือ เหี้ยสำหรับคุณหรือเหี้ยสำหรับผู้ชม

กลัวทำหนังเหี้ย คือกลัวทำออกมาแย่ ประสบการณ์แค่ช่วยให้ไม่ตกใจมาก พอเริ่มโปรเจกต์ใหม่ เขาจับกูได้แน่เลยที่ผ่านมากูฟลุก มันเป็นความกลัวตลอด หนังทุกเรื่องมันมีเปอร์เซ็นต์ออกมาแย่มากกว่าออกมาดี

 

หนังเรื่องหนึ่งจะดี บทต้องดี จังหวะ กำกับ นักแสดง ตัดต่อ ซาวด์ต้องดี มันต้องดีไปหมดเลย มันถึงจะดีหมด แต่ถ้าเหี้ยไปอย่างเดียวมันก็เหี้ยเลย

 

ที่ผ่านมาอดีตห่วยๆ เราก็มี ไม่แฮปปี้แล้วเราก็จะเป็นแผลในชีวิต แต่มันก็ดี เพราะเป็นการเรียนรู้ว่า ถ้าทำไม่ดีเราจะไม่ทำ

 

แสดงว่าเหี้ยของคุณคือมาตรฐานของตัวเอง ไม่ใช่คนดูมาตัดสิน จริงๆ เป็นเอกเป็นคนแคร์คนดูมากแค่ไหน

แคร์ดิ..เราแคร์คนดูนะ แต่แคร์คนดูที่ดูหนังเรา ไม่ได้แคร์คนดูแบบร้อยล้านพันล้านคนนะ

 

คือจริงๆ เราไม่เคยทำหนังแย่นะ เราตั้งใจทำ แต่เราจะรู้เองว่าเรื่องนี้ไม่ดี ฝัน บ้า คาราโอเกะ นี่ไม่ค่อยดี Invisible Waves ก็ไม่ค่อยดี แต่มันไม่เคยไม่ดีเพราะเราไม่ตั้งใจ มันไม่ดีเพราะเราทดลองมันมากไปหน่อย

 

แล้วการได้กลับมาทำ ปอบ มันผ่อนคลายขึ้นไหม

การกลับมาทำหนังเล็กๆ มันผ่อนคลายนะ ไม่อยากทำให้เครียดมาก ปีที่ผ่านมาการทำหนังสำหรับผมมันยากและเหนื่อยมากเลย ผมไม่ทำหนังที่เป็นส่วนตัวเท่าไรแล้ว ช่วงนี้ผมก็พยายามทำหนังเพื่อคนดูนะ หมายถึงคนดูในกลุ่มของเรา

 

กระแสของปอบที่ Toronto International Film Festival 2018 ที่ไปฉายมาเป็นอย่างไรบ้าง

กระแสที่ Toronto ดีมาก ไม่อยากเชื่อเลย รีแอ็กชันดีมาก เราก็ไม่ได้คิดเลยนะ เพราะเราทำอย่างที่อยากทำ แล้วมันจะไปถึงไหนก็เรื่องของมัน อย่าลืมว่าเรื่องนี้มันต่างจากเรื่องอื่นที่ทำ คือเราได้โจทย์มาว่าต้องเป็นผีนะ เป็นผีบ้านเรานะ คือเรายังทำตามสัญชาตญาณแหละ แต่ก็ทำให้อยู่ในโจทย์ เลยค่อนข้างเซอร์ไพรส์

 

 

การได้ร่วมงานกับต่างประเทศ แล้วมองย้อนกลับมา คิดอย่างไรกับที่บ้านเรามักคุยกันเองว่าวงการหนังบ้านเรามันย่ำแย่

คนทำหนังไทยชอบคอมเพลนกันเองว่ามันแย่ เจ๊งเอาๆ เรากลับคิดตรงข้าม เราว่าหนังที่มันดี รู้รสนิยมคน อย่าง GDH ก็ทำให้หนังแมสไม่น่าอาย ดูแล้วไม่อาย

 

ฝั่งอินดี้เราว่า หนังไม่ได้ตังค์ก็จริง แต่มันหาเงินทุนทำได้มากขึ้นง่ายขึ้น เฟื่องฟูออก ทำเสร็จก็มีโรงฉายอย่าง House หรือ SF บางทีเขาก็ให้รอบฉาย เรากลับคิดว่าหนังอินดี้ยุคนี้อยู่ในบรรยากาศท่ีดี

 

ผมเพิ่งดู กระเบนราหู (Manta Ray)’ (ผลงานภาพยนตร์ของพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 ที่ผ่านมา) หนังเรื่องนี้เยี่ยมเลย แล้วก็กำลังจะเข้าโรงฉายอีก เราเลยคิดต่าง ยุคนี้มันเปิดกว้างมาก บ้านเรามันอาจจะเดินหน้าสามเก้า ถอยหลังสองเก้า แต่มันก็ยังไปของมัน ช้าแต่มันพัฒนา

 

ถามเรื่องการพีอาร์บ้าง คุณดูไม่พุ่งตัวเข้าสู่การพีอาร์หนังในยุคปัจจุบันเลย คุณมีไอเดียอะไรในการใช้ช่องทางต่างๆ กับการโปรโมตหนัง อย่างพวกโซเชียลมีเดีย

ก่อนฉายหนัง Samui Song ผมออกสื่อมากกว่านายกอีกนะ แต่ผมไม่ชอบการโปรโมตผ่านโซเชียลเลย ผมไม่เล่นเฟซบุ๊ก ไม่เล่นไอจี ไม่มีความสนใจเลย ไม่ชอบพีอาร์ตัวเอง เวลาเราทำหนังออกมาเรื่องหนึ่ง มันมีทีมที่เขาจะทำพีอาร์อยู่แล้ว

 

แสดงว่าที่นั่งคุย (พีอาร์หนัง) อยู่เนี่ย จริงๆ ไม่ค่อยชอบ

ก็ใช่ (หัวเราะ) แต่ว่าช่างมันเถอะ อย่างเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับ) เห็นชัดว่า การใช้สื่อของเต๋อมันมีผลจริงๆ มีผลกับรายได้หนังเขาจริงๆ แต่คุณต้องมีความสนใจสิ่งนั้นด้วยไง อย่างเต๋อเขาสนใจ เราไม่ได้ต่อต้านนะ แต่เราแค่ไม่มีความสนใจในมันขนาดนั้น แล้วปัจจุบันเรายังมีชีวิตต่อได้แบบไม่มีมัน

 

เราอยากทำได้แบบนั้นนะ แต่มันใช้พลังเยอะมาก และเราเป็นคนสันโดษมาก อาชีพมันอาจจะดูไม่สันโดษนะ ต้องพูดเยอะ เจอคนเยอะ ต้องอยู่กับทีมงาน แต่จริงๆ เราชอบอ่านหนังสือ ชอบอยู่บ้าน

 

แล้วจริงๆ คือพอเป็นเราแล้วมันอันตราย เราเป็นคนปากไว โดนจับติดคุกทำไง เรื่องการเมืองนี่ไม่ได้เลยเราเร็วมาก เสียคนกันเยอะมาก (หัวเราะ)

 

 

อนาคตคิดว่ายังอยากจะทำหนังผีไหม

ยังฮะ เราไม่ค่อยคิดว่าต่อไปเราอยากจะทำหนังแบบไหน ส่วนใหญ่มันจะเป็นแบบ ไอเดียโผล่ขึ้นมา แล้วคิดว่าไอเดียนี้น่าสนใจ ถ้าคิดว่าไอเดียนี้น่าสนใจก็จะพัฒนา ลองเขียนบท ถ้ามันไปต่อไม่ได้ ก็จะรอไอเดียใหม่โผล่ขึ้นมาอีก คือไอเดียเวลาโผล่มามันจะออกมาแบบท้องเสีย พรวดออกมาเลย มันไม่ต้องบิลด์

 

กลับมาที่ปอบ ความยากของมันคืออะไร เชิงเทคนิค

จริงๆ ปอบมันก็ยากในแง่เทคนิคเหมือนกัน เพราะเราเลือกที่จะไม่ใช้ CG เลือกที่จะใช้วิธีโบราณ ใช้กระจกสะท้อน แม่งโคตรยากเลย เราไม่ได้ทำบ่อยๆ มันยากจริงๆ เราไม่เคยนึกเลยว่าทุกอย่างต้องพลิกกลับซ้ายขวาหมดเลย

 

คนมันอยู่หน้ากล้องแต่ผีมันอยู่ตรงกระจก มันต้องคุยแบบนี้ แต่มันไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้จริงๆ อย่างเวลานั่งพูดกัน มันใช้พื้นที่ อย่างหนังโบราณเขาสร้างฉากไง แต่ของเรามันฉากจริง ผีกับคนมันติดกันอยู่ในครัวเล็กๆ ห้องจริง สถานที่จริง ยากฉิบหาย

 

ถ้ายาก แล้วทำไมใช้วิธีโบราณในการถ่ายทำ

ก็ผมไม่มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไง

 

ถ้าอย่างนั้นคาดหวังกับปอบแค่ไหน ยิ่งได้ร่วมงานกับชาติอื่นๆ ด้วยแล้ว

ไม่เคยคาดหวังกับอะไรเลย ได้ทำก็บุญแล้ว

 

ดูบทความเรื่องย่อเกี่ยวกับ Folklore ได้ที่: thestandard.co/folklore-hbo-asia

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • Folklore เป็นซีรีส์ 6 ตอน มีความยาว 60 นาทีต่อตอน กำกับโดยผู้กำกับเอเชีย 6 คน ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวสยองขวัญที่สะท้อนถึงความเชื่องมงาย และตำนานอันลี้ลับจาก 6 ประเทศในเอเซียในรูปแบบที่ทันสมัย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising