×

ยอด ‘ผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิต’ ลดลงจริงหรือไม่ ทำไม สธ. ถึงปรับวิธีการรายงาน

03.05.2022
  • LOADING...
ผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิต

125, 127, 129, 126, 91, 84 และวันนี้ 77 ราย เป็นยอดผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิตของไทยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา หลายท่านอาจเริ่มสังเกตว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิตลดลงจาก 3 หลักเป็น 2 หลักอย่างรวดเร็ว นั่นไม่ใช่เพราะว่าสถานการณ์การระบาดดีขึ้น แต่เป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุขปรับวิธีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตใหม่ โดยรายงานเฉพาะ ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด’ (Died from COVID-19) เท่านั้น วิธีนี้มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ทำไมถึงต้องปรับวิธีการรายงาน

 

ประเภทของผู้เสียชีวิต

 

การเสียชีวิตเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ถึงแม้ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย แต่บางส่วนมีอาการรุนแรง และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิต 6.2 ล้านราย หรือคิดเป็น 1.2% ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 4.3 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 28,800 ราย หรือคิดเป็น 0.7% โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขนับยอดผู้เสียชีวิตในผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิดทั้งหมด โดยไม่ได้แยกว่าโควิดเป็น ‘สาเหตุการเสียชีวิต’ หรือไม่

 

จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขปรับวิธีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตใหม่ โดยรายงานเฉพาะ ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด’ (ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคอื่นแล้วตรวจพบเชื้อโควิด) ยอดผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิตของไทยจึงลดจากวันละประมาณ 120 ราย เหลือ 90 รายอย่างรวดเร็วจนผิดสังเกต 

 

กรณีนี้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ชี้แจงในการแถลงข่าวประจำวันเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ว่ามีความจำเป็นต้องแยกรายงานเพราะในการรักษามีความแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการติดตามและการวางแผนมาตรการรักษาในอนาคต

 

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 สไลด์แถลงสถานการณ์โควิดในเพจเฟซบุ๊ก ‘ศูนย์ข้อมูล COVID-19’ ของ ศบค. ได้ปรับวิธีการรายงานยอดผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • เสียชีวิตจากโรคโควิด (Died from COVID-19)
  • เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบเชื้อโควิด (Died with COVID-19)

 

วันที่ 28 เมษายน ผู้เสียชีวิต 127 ราย แยกตามประเภทข้างต้นเป็น 66 ราย (52%) และ 61 ราย

วันที่ 29 เมษายน ผู้เสียชีวิต 129 ราย แยกตามประเภทข้างต้นเป็น 60 ราย (47%) และ 69 ราย

วันที่ 30 เมษายน ผู้เสียชีวิต 126 ราย แยกตามประเภทข้างต้นเป็น 61 ราย (48%) และ 65 ราย

 

สังเกตว่าแยกเป็น ‘คนละครึ่ง’ ประเภทละประมาณ 50% ทั้งนี้กรมควบคุมโรคยังไม่เผยแพร่คู่มือแนวทางการเฝ้าระวังที่มีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ นพ.จักรรัฐ อธิบายว่า ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด’ หมายถึงผู้ที่ติดเชื้อโควิดจนมีภาวะปอดอักเสบและเสียชีวิต จึงต้องรายงานผู้เสียชีวิตประเภทนี้เป็นหลัก ส่วน ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบเชื้อโควิด’ หมายถึงผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคอื่น เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง แล้วตรวจพบเชื้อโควิด (โดยไม่มีอาการของโรคโควิด)

 

ทำไมถึงต้องปรับยอด

 

นพ.จักรรัฐชี้แจงในการแถลงข่าวว่าข้อมูลนี้จะใช้ในการวางแผนมาตรการรักษาในอนาคต เพราะ ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบเชื้อโควิด’ จะป้องกันด้วยการรักษา ‘โรคร่วม’ หากเน้นที่การรักษาโควิด โรคร่วมก็อาจทำให้อาการหนักเร็วขึ้น ส่วนผู้ที่มีโรคร่วมและติดเชื้อโควิดจนมีภาวะปอดอักเสบแล้วมีอาการของโรคร่วมมากขึ้น จะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ให้โรคร่วมมีอาการมากขึ้น และรักษาโควิดควบคู่กันไปด้วย 

 

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือแผนโควิดสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ซึ่งมีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ

  • อัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1%
  • การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ
  • ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้อง

 

ยอดผู้เสียชีวิตเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในแผนนี้ โดยจะต้องมีอัตราป่วยตาย (Case-Fatality Rate) น้อยกว่า 0.1% ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ อ้างอิงจากสไลด์ประกอบการแถลงข่าวของ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ว่าจะมีการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต แบ่งผู้เสียชีวิตเป็น 2 ประเภทข้างต้น แต่จะนำมาคำนวณอัตราป่วยตายเฉพาะประเภทแรก คือ ‘อัตราป่วยตาย’ (%) เท่ากับ ‘ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด’ หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิดที่รับการรักษา ทั้งหมดคูณด้วย 100 

 

ในทางระบาดวิทยา อัตราป่วยตายเป็นค่าที่ใช้ในการบอก ‘ความรุนแรง’ ของโรคนั้นๆ เช่น โรคเมอร์ส (MERS) มีอัตราป่วยตายประมาณ 30% ถือว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีความรุนแรงมาก, ไข้หวัดใหญ่มีอัตราป่วยตาย 0.1% (แสดงว่ากระทรวงสาธารณสุขใช้ไข้หวัดใหญ่เป็นเกณฑ์โรคประจำถิ่น) ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่านี้คือ จำนวนผู้เสียชีวิต (ตัวตั้ง) และจำนวนผู้ป่วย (ตัวหาร) ซึ่งในทางปฏิบัติจำนวนผู้ป่วยมักได้รับรายงานต่ำกว่าความจริง จึงอาจเป็นที่มาของการปรับจำนวนผู้เสียชีวิตให้จำเพาะขึ้น

 

ทั้งนี้ตามแนวทางการรายงานและตรวจสอบข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ตรวจพบเชื้อโควิดของกรมควบคุมโรคเดิม (ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2565) จะแบ่งสาเหตุการเสียชีวิตออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคโควิด เช่น ปอดอักเสบ ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน 2. ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด แต่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น/โรคอื่น และ 3. ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิดที่ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ โดยให้โรงพยาบาลปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนรายงานให้กรมควบคุมโรค

 

ประเทศอื่นรายงานอย่างไร

 

ยอดผู้เสียชีวิตมีแหล่งข้อมูลหลัก 2 แหล่ง คือ ฐานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของหน่วยงานด้านสาธารณสุข เหมือนที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยรายงาน และฐานข้อมูลมรณบัตร (Death Certificate) ซึ่งจะระบุสาเหตุการตาย (Causes of Death) และในประเทศไทย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ 

 

สำหรับฐานข้อมูลการเฝ้าระวังโรค มักกำหนดนิยามผู้เสียชีวิตตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งใช้คำว่า ‘ผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิต’ (COVID-19 Death) หมายถึงผู้เสียชีวิตที่มีอาการเข้าได้กับผู้ป่วยเข้าข่าย (Probable Case) หรือผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed Case) เว้นแต่จะมีสาเหตุการเสียชีวิตอื่นที่ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด เช่น อุบัติเหตุ และไม่ควรมีระยะเวลาพักฟื้นที่หายขาดระหว่างการป่วยและการเสียชีวิต ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดไม่เหมือนกันระหว่าง 28-60 วัน

 

องค์การอนามัยโลกเน้นว่านิยามนี้ใช้สำหรับการเฝ้าระวังโรค (ซึ่งมักต้องชั่งระหว่างความถูกต้องและความทันเวลา) และอธิบายว่าในบริบทที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง บางรายอาจตรวจพบเชื้อโควิดโดยบังเอิญ การประเมินอาการของผู้เสียชีวิตจึงสำคัญว่าเข้าได้กับโรคโควิดหรือไม่ 

 

ส่วนฐานข้อมูลมรณบัตร ยกตัวอย่างของสหราชอาณาจักร สำนักงานสถิติแห่งชาติอธิบายว่าผู้ป่วยโรคโควิดเสียชีวิตแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 

  • ‘ผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคโควิด’ (Deaths due to COVID-19) หมายถึงผู้เสียชีวิตที่มีการระบุว่าโรคโควิดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต (Underlining Cause of Death) 
  • ‘ผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด’ (Deaths Involving COVID-19) หมายถึงผู้เสียชีวิตที่มีการระบุโรคโควิดไว้ในส่วนใดก็ได้ของมรณบัตร เช่น โรคร่วม 
  • สำหรับกรณีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ ความรุนแรง สารพิษ หรือสาเหตุภายนอกอื่นๆ ผู้รับรองการเสียชีวิตมักจะไม่ระบุโรคโควิดไว้ในมรณบัตร

 

ในเว็บไซต์ทางการของสหราชอาณาจักรรายงานจากทั้ง 2 แหล่ง สังเกตว่าฐานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคมีความทันเวลามากกว่า โดยรายงานข้อมูลที่สมบูรณ์ล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2565 และรายงานเบื้องต้นล่าสุด ณ วันที่ 28 เมษายน (แสดงว่าไม่จำเป็นต้องรายงานล่าสุดของวันนั้นๆ) ส่วนฐานข้อมูลมรณบัตร รายงานข้อมูลที่สมบูรณ์ล่าสุด ณ วันที่ 4 เมษายน และสังเกตว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากฐานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคมากกว่าประมาณ 50% น่าจะเป็นเพราะใช้นิยามที่กว้างกว่า 

 

สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจ

 

การรายงานยอดผู้เสียชีวิตมีประเด็นที่ต้องเน้น 2 เรื่องคือ วัตถุประสงค์ และนิยามที่ใช้ในการรายงาน หากกระทรวงสาธารณสุขปรับวิธีการรายงานยอดผู้เสียชีวิตใหม่ โดยรายงานเฉพาะผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด ก็ควรสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ไม่สามารถใช้เปรียบเทียบกันได้ โดยเฉพาะในการประเมินสถานการณ์การระบาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง รวมถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชน

 

เฉพาะที่กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่จำนวน ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด’ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 เป็นต้นมาคือ 66, 60, 61, 91, 84, และวันนี้ 77 ราย เฉลี่ย 60.3 ราย ยังมีแนวโน้มทรงตัว (แต่ยอดที่น่าจะบอกแนวโน้มได้ดีกว่าคือ ‘ผู้ป่วยปอดอักเสบ’ และ ‘ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ’ ที่มีแนวโน้มลดลงจาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา) หากจะให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนกว่านี้ กรมควบคุมโรคน่าจะรายงานข้อมูล ‘ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด’ ย้อนหลังกลับไป 2-4 สัปดาห์ สำหรับเป็นจุดอ้างอิงในการประเมิน

 

‘กรมควบคุมโรค’ หรือ ‘กรมควบคุมเลข’ เป็นวลีติดตลกที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง การปรับวิธีการรายงานของกรมควบคุมโรคก็มีเหตุผลรองรับ เพียงแต่ควรชี้แจงให้ประชาชนทราบก่อนและสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการสับสนและสร้างความเชื่อมั่นต่อกระทรวงสาธารณสุขเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X