การเดินทางของต้นแบบการพัฒนาด้วยศาสตร์พระราชา
ระยะเวลากว่า 6 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2555 ที่เครือซีพี นำโดยประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ มุ่งมั่นผลักดันโครงการ ‘ไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัว ผิงกู่-เครือซีพี’ โครงการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านซีฟานเกอจวง ตำบลยู่โค เขตผิงกู่ ประเทศจีน ปัจจุบันประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร อาหารปลอดภัย และรักษาสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลจีนในการร่วมมือกันกับรัฐบาลจีนและภาคธุรกิจของไทย จนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนในประเทศจีนด้วย ‘ศาสตร์พระราชา’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และโมเดล 4 ประสาน ที่ผนึกความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่ายให้ได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐบาล เกษตรกร สถาบันการเงิน และเอกชน
ภักดี ไทยสยาม
ต้นแบบ Harvard Business School การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตร
ความสำเร็จนี้ไม่เพียงเป็นต้นแบบให้นานาประเทศมาขอศึกษาดูงาน แต่ยังเป็นรายงานกรณีศึกษาหลายฉบับของ Harvard Business School หรือคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ปี 2535 ในประเด็นบทบาทของภาคเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตร โดยเมื่อปี 2560 คณะบริหารธุรกิจได้เชิญธนินท์กับผู้บริหารเครือซีพีมาบรรยายให้นักศึกษาฟังเกี่ยวกับโครงการผิงกู่ ภายใต้หัวข้อ Rapid Development of China & CP Group’s Strategy
จาก ‘หนองหว้า’ ของไทยถึง ‘ผิงกู่’ ของจีน
โครงการผิงกู่สามารถย้อนกลับไปวันแรกที่เครือซีพีเริ่มลงทุนในประเทศจีนเมื่อปี 2521 ตามนโยบายเปิดประเทศของ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในขณะนั้น ได้ชักชวนธนินท์ให้ช่วยเสนอแนวคิดและสร้างสรรค์โครงการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้าง ชิงหนงซุน หรือหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัย
ขณะนั้นเครือซีพีเพิ่งเริ่มดำเนินงาน ‘หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า’ ที่หมู่บ้านหนองหว้า ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามโครงการปฏิรูปที่ดินของภาครัฐเพื่อการเกษตรกรรมเมื่อปี 2518 ซึ่งใช้ศาสตร์พระราชานำทาง นั่นคือปฏิรูปเพื่อ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้คนอยู่ดีกินดีมีความสุขตามสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ-สังคม
โครงการนี้จึงไม่ใช่การนำที่ดินมาแจกเกษตรกร แต่เป็นการปฏิรูปปรับปรุงที่ดินเพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตและมีรายได้เลี้ยงตัวอย่างต่อเนื่อง
ห้วงเวลานั้น พื้นที่โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้ากว่าพันไร่ล้วนเป็นดินทรายเสื่อมโทรม ชาวบ้านประทังชีวิตด้วยการปลูกมันสำปะหลังซึ่งรอเพียงฝนจากฟ้าช่วยให้เติบโต ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่จะสร้างรายได้ให้มากกว่า
ธนินท์เสนอวิธีดำเนินงานโครงการในรูปแบบ 4 ประสานเพื่อพัฒนาการเกษตรครบวงจร โดยซีพีดำเนินการให้ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีการผลิตไปจนถึงการบริหารจัดการด้านการตลาดและกำไร
เริ่มจากประสานงานกับส่วนราชการอำเภอพนมสารคามเพื่อรวบรวมที่ดินแห้งแล้ง 1,253 ไร่มาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน แล้วคัดเลือกเกษตรกร 50 รายซึ่งยินดีขายที่ดินให้โครงการหรือไม่มีที่ดินของตนเองเข้าร่วมโครงการ จากนั้นนำรายชื่อเกษตรกร 50 ราย ซึ่งลำพังแต่ละคนไม่สามารถกู้เงินธนาคารได้ เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไปกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพจำนวน 18 ล้านบาท โดยมีเครือซีพีเป็นผู้ค้ำประกัน
เงินกู้ดังกล่าวนำมาใช้จ่ายเป็นค่าที่ดิน ค่าสร้างบ้านพักสำหรับครอบครัวเกษตรกร ค่าสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมู ค่าระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในโครงการ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงหมู
เกษตรกรทั้ง 50 คนได้รับที่ดินจัดสรรคนละ 24 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โรงเรือนเลี้ยงหมูและบ้านพัก 4 ไร่ เป็นสวนเกษตร 20 ไร่
เครือซีพีนำหมูแม่พันธุ์ 30 ตัวและหมูพ่อพันธุ์ 2 ตัวมาให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อผลิตลูกหมูคุณภาพที่จะนำมาขายคืนให้แก่โครงการเมื่ออายุได้ 8 สัปดาห์ ในราคาประกันตัวละไม่ต่ำกว่า 70 บาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีผลผลิตเป็นลูกหมูคุณภาพอย่างน้อยปีละ 480 ตัว
ในระยะแรก เกษตรกรมีรายได้จากการขายหมูประมาณเดือนละ 2,000-3,000 บาท แม้ไม่ใช่รายได้ที่สูงมาก แต่หากเทียบกับความเป็นอยู่ก่อนหน้านี้ก็ต้องนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก
จากโครงการพัฒนาฯ สู่สายพานธุรกิจการเกษตรที่ยั่งยืน
ภายในเวลา 10 ปี กลุ่มเกษตรกรทั้ง 50 คนสามารถปลดหนี้สำเร็จ แต่ละคนได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 24 ไร่ ซึ่งรวมถึงบ้านพักและโรงเรือนเลี้ยงหมูโดยสมบูรณ์ และหมูจากโครงการเป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์หมูเกรดพรีเมียมของเครือซีพีที่ส่งขายในห้างใหญ่และทั่วโลก
จากนั้นเครือซีพีจึงถอนตัวจากการบริหาร ส่วนเกษตรกรก็รวมตัวกันเป็นนิติบุคคลจัดตั้งบริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด ร่วมกันถือหุ้นคนละ 200 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 100 บาท ตั้งเป้าหมายว่าบริษัทต้องอยู่ได้ และสมาชิกเกษตรกรต้องอยู่ดีกินดี
ธนินท์ เจียรวนนท์
ภักดี ไทยสยาม ประธานกรรมการบริษัทหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า กล่าวว่า “โครงการนี้สำเร็จได้เพราะความร่วมมือของเกษตรกรทุกคนที่ช่วยกันพลิกฟื้นผืนดิน นำมูลหมูมาใช้ปรับปรุงบำรุงดินจนดินที่ปลูกอะไรไม่ขึ้นกลายเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ หว่านเมล็ดพันธุ์อะไรลงไปก็งอกงาม เดี๋ยวนี้ในพื้นที่ส่วนกลางเรามีกระทั่งป่านิเวศและสวนสมุนไพร ซึ่งกำลังจะพัฒนาต่อไปในแง่ธุรกิจของบริษัท”
กว่า 40 ปีที่เกษตรกรบ้านหนองหว้ามีสภาพความเป็นอยู่ยากไร้ มองไม่เห็นอนาคต ไม่มีทั้งสินทรัพย์และความรู้ ปัจจุบันทุกครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในด้านความเป็นอยู่และการศึกษา
นี่คือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรไทยจากความอดอยากยากแค้นสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนที่ธนินท์และเครือซีพีทำมายาวนานหลายทศวรรษตามแนวทางศาสตร์พระราชา แล้วนำไปต่อยอดจนมีชื่อเสียงระดับโลกกับโครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์