×

HarmonyOS คืออะไร มีเรื่องอะไรบ้างที่คนใช้สมาร์ทโฟน Huawei ควรรู้

20.08.2019
  • LOADING...
Huawei HarmonyOS

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • หัวเว่ย ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ว่าเป็น OS ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้งานกับผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในระบบนิเวศของ IoT โดยตรง
  • จุดแข็งของ HarmonyOS คือช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานเชื่อมโยงถึงกันในระบบนิเวศ IoT ได้แบบไร้รอยต่อ ลดข้อจำกัดเดิมๆ โดยเฉพาะกรณีที่แอปพลิเคชันต่างๆ ไม่สามารถใช้งานร่วมกันบนอุปกรณ์ที่ต่างกันได้
  • แม้จะไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์การใช้งานกับสมาร์ทโฟนเป็นหลัก แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน หัวเว่ยก็พร้อมสวิตช์ผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาใช้งาน HarmonyOS ทันที

ช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว หัวเว่ย (Huawei) ได้ประกาศเปิดตัวระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ในงานประชุมสำหรับนักพัฒนา HDC2019 โดย OS ดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘HarmonyOS’ พร้อมเปิดเผยข้อมูลว่าเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์และฮาร์ดแวร์ในระบบนิเวศ IoT (Internet of Things) เพื่อให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถเชื่อมต่อกันได้แบบไร้รอยต่อ 

 

แน่นอนว่า HarmonyOS จะไม่ใช่ระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อ ‘จุดประสงค์หลัก’ ในการใช้งานกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของหัวเว่ยแต่อย่างใด (แต่ก็ไม่ปิดกั้นการใช้งานในอนาคต กรณีที่กูเกิลไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงแอนดรอยด์ จากผลพวงความบาดหมางที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ)

 

เรื่องนี้ทำให้หลายคนสงสัยไม่น้อย ในเมื่อก่อนหน้านี้หัวเว่ยก็ประโคมข่าวอยู่หลายระลอก พร้อมแสดงจุดยืนความมั่นใจชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนของพวกเขาจะยังใช้งานแอนดรอยด์ต่อไปได้อยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นทำไมหัวเว่ยถึงยังต้องเปิดตัวระบบปฏิบัติการตัวใหม่ แล้ว HarmonyOS จะส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในอนาคตบ้าง

 

Huawei HarmonyOS

 

ทำความเข้าใจ HarmonyOS หนึ่งระบบปฏิบัติการใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ในระบบนิเวศ IoT

อธิบายก่อนว่าปัญหาของการใช้งานอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในปัจจุบันคือข้อจำกัดเรื่องความไม่ ‘Seamless’ หรือการขาดความเชื่อมโยงในเชิงการใช้งานฮาร์ดแวร์บนระบบนิเวศเดียวกัน กลายเป็นว่ายิ่งมี Smart Wearable หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะมากชิ้นแค่ไหน แต่บางครั้งพอ OS ของมันเป็นคนละระบบกัน การใช้ประโยชน์ร่วมกันจากแต่ละอุปกรณ์ก็ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่ดี

 

จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือในยุคที่โลกกำลังเคลื่อนไปในเทรนด์ 5G และ IoT การเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันในระบบจึงถือเป็นไฟลต์บังคับของผู้พัฒนาสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จุดนี้เองที่ทำให้หัวเว่ยจำเป็นจะต้องเริ่มลุกขึ้นมาพัฒนา Harmony Kernel ตั้งแต่ปี 2017 เพื่อปูทางความพร้อมสู่เทคโนโลยีในอนาคต

 

เจมส์ ลู่ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ EMUI ประจำบริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ให้ข้อมูลว่า HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเตรียมใช้งานกับ IoT โดยตรง เนื่องจากหัวเว่ยมองว่าในอนาคตผู้บริโภคอย่างเราจะต้องใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีมากกว่าหนึ่งชิ้นขึ้นไปในหลายสถานที่และหลากบริบทของชีวิตประจำวันตามสมการ 1+8+N หรือสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง, อุปกรณ์อื่นๆ อีก 8 อย่าง เช่น แล็ปท็อป, สมาร์ทวอตช์, รถยนต์, แท็บเล็ต, แว่นตา VR, หูฟัง Wireless, สมาร์ททีวี และลำโพงอัจฉริยะ และสุดท้าย N หมายถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ในระบบนิเวศของหัวเว่ย

 

Huawei HarmonyOS

 

การเกิดขึ้นของ HarmonyOS ระบบปฏิบัติการแบบกระจาย (Distributed Operating System) ที่พัฒนาโดยใช้ Micro Kernel เป็นพื้นฐานจัดการระบบ จึงทำให้มันกลายเป็น OS ซึ่งช่วยให้ทุกๆ อุปกรณ์สามารถใช้งานเชื่อมโยงถึงกันได้แบบไร้รอยต่อ สื่อสารเป็นภาษาเดียวกันทั้งระบบ 

 

โดยสรุปก็คือ ต่อไปในอนาคตแอปพลิเคชันเดียวกันก็สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ทุกชิ้นได้ด้วย โดยมีอินเทอร์เฟซและ UI ที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของอุปกรณ์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ ฝั่งตัวนักพัฒนาเองก็สามารถเขียนชุดคำสั่งเพียงคำสั่งเดียว แต่ช่วยให้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันนั้นๆ ใช้งานร่วมกันกับทุกอุปกรณ์ที่รันบนระบบ HarmonyOS ได้อีกต่างหาก 

 

Huawei HarmonyOS

ไทม์ไลน์การเตรียมเปิดตัว HarmonyOS กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของหัวเว่ยเริ่มต้นในปี 2019 นี้ โดยเตรียมจะเริ่มใช้งานกับสมาร์ททีวี Huawei Vision (ทั่วโลกทำตลาดภายใต้แบรนด์ Honor)

 

แล้วการที่หัวเว่ยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการวางโครงข่ายและจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ 5G ในอนาคต HarmonyOS จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือและส่วนต่อขยายที่จะช่วยให้ธุรกิจของหัวเว่ยรุดหน้าไปไกลกว่าเดิม

 

สุดท้ายนี้หัวเว่ยมองว่าการเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้แบบลื่นไหลไร้รอยต่อ รวมถึงการเป็นระบบแบบเปิดที่ให้นักพัฒนาสามารถเข้ามาร่วมสร้างซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันให้ใช้งานร่วมกันได้ จะกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ HarmonyOS มีเหนือซอฟต์แวร์อื่นๆ ในที่สุด

 

Huawei HarmonyOS

 

คนใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของหัวเว่ยต้องรู้อะไรบ้าง

เจมส์ก็ยังคงยืนยันคำเดิมเหมือนที่บุคลากรระดับสูงของหัวเว่ยหลายคนเคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า สำหรับ ‘สมาร์ทโฟน’ และ ‘แท็บเล็ต’ ของหัวเว่ย พวกเขาจะยังคงใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ต่อไปตามเดิม เช่นเดียวกัน กูเกิลจะยังเป็นพาร์ตเนอร์ที่เหนียวแน่นของหัวเว่ยไม่เปลี่ยนแปลง

 

แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดกรณีฉุกเฉิน กูเกิลตัดสัมพันธ์ห้ามหัวเว่ยไม่ให้เข้าถึงแอนดรอยด์ หัวเว่ยเองก็พร้อมจะสวิตช์กลับมาใช้งาน HarmonyOS ทันทีที่จำเป็น

 

ปิดท้ายด้วยสถานการณ์ความเคลื่อนไหวล่าสุดของปมขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และหัวเว่ย โดย วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกมาให้ข้อมูลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 ส.ค.) ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ยืดระยะเวลาการแบนค่ายผู้พัฒนาสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีโครงข่ายจากจีนออกไปอีกเป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อให้หัวเว่ยเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

 

ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ผ่อนปรนการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย 90 วันไปแล้ว โดยเส้นตายดังกล่าวได้หมดลงไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เท่ากับว่าการยืดระยะเวลาการลงดาบใหม่นี้จะหมดลงในช่วงวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เชื่อว่าหัวเว่ยก็น่าจะเตรียมการรับมือเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

Huawei HarmonyOS

ดาร์กโหมดใน EMUI10 ที่หัวเว่ยซุ่มพัฒนา โดยเคลมว่าเป็นดาร์กโหมดที่ถูกปรับแต่งโทนสีต่างๆ ให้เป็นมิตรกับสายตาผู้ใช้งานมากที่สุด เตรียมปล่อยให้อัปเดตในรุ่น P30 Series (BETA) วันที่ 8 กันยายนนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising