สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยผลสำรวจ Millionaire Survey ซึ่งมุ่งสอบถามความเห็นของนักลงทุนที่มีสินทรัพย์การลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป พบ 55% ของเหล่าเศรษฐีนักลงทุนวางแผนที่จะขายหุ้นที่มีอยู่ในความครอบครองในปี 2022 หากว่าภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บภาษี ขณะที่ 90% ยอมรับว่าเตรียมดำเนินการบางอย่างเพื่อรับมือกับนโยบายภาษีที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะเดียวกัน หากเจาะลึกลงไปตามช่วงวัยจะพบว่า เศรษฐีนักลงทุนในแต่ละเจเนอเรชันมีแผนรับมือกับนโยบายภาษีที่แตกต่างกันออกไป โดย 54% ของนักลงทุน Gen X วางแผนที่จะปรับลดสัดส่วนการถือหุ้น ขณะที่มีเพียง 29% ของนักลงทุนยุค Baby Boomer และ 38% ของยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คิดจะปรับลดสัดส่วนการถือหุ้น
นอกจากนี้ นักลงทุนรุ่นใหม่ในยุค Millennials มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนสัดส่วนในพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นของตนมากกว่านักลงทุนวัยเก๋า โดยนักลงทุนรุ่นใหม่ 35% วางแผนที่จะเปลี่ยนแผนถือครองอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ 26% วางแผนที่จะขายอาคารที่ดิน และ 23% เตรียมบริจาคทำการกุศลเพื่อรับส่วนลดหย่อนภาษี โดยมีเพียง 1 ใน 3 หรือราว 23% ระบุว่า วางแผนจ่ายภาษีด้วยการเพิ่มรูปแบบการขายสินทรัพย์อย่างหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
ความเห็นของเหล่านักลงทุนผู้มั่งคั่งกลุ่มนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ Build Back Better ซึ่งส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายดังกล่าวคือการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดเก็บภาษีสำหรับผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ผลการสำรวจครั้งนี้ยังสอบถามถึงแหล่งที่มาของการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งของนักลงทุน ซึ่งพบว่า ในกรณีที่เป็นหุ้นของบริษัทในตลาด นักลงทุนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับหุ้นของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก รวมถึงให้น้ำหนักความสำคัญกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดย 83% ของนักลงทุนยุค Millennials มีคริปโตเคอร์เรนซีอยู่ในพอร์ตการลงทุนของตนเอง และมากกว่าครึ่งคือ 53% มีคริปโตอยู่ในพอร์ตอย่างน้อย 50%
ทั้งนี้ ผู้จัดทำแบบสำรวจแสดงความเห็นว่า การที่นักลงทุนรุ่นใหม่วางแผนที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนมากกว่าคนรุ่นเก่าไม่ใช่เพราะนักลงทุนรุ่นใหม่ยอมรับความเสี่ยงไม่ได้ เพียงแต่นักลงทุนรุ่นใหม่มีมุมมองในการแสวงหาความมั่งคั่งที่แตกต่างออกไป ส่วนนักลงทุนวัยเก๋าเองก็มีการปรับพอร์ตกระจายการลงทุนที่หลากหลายอยู่แล้วในฐานะที่ลงทุนมานาน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP